ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft)
ความหมายเดิมของค่าไฟฟ้าผันแปร หรือที่เรียกย่อว่า Ft มาจากคำว่า Float time อันมีความหมายในทางการไฟฟ้าว่า การลอยค่าต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ และ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ แต่ในเดือนตุลาคม 2548 เป็นต้นมา ได้มีการเปลี่ยนแปลงปัจจัยที่ใช้ในการคำนวณสูตรค่า Ft ให้คงเหลือเพียง ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. (การไฟฟ้าฝ่ายผลิต) และค่าซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตเอกชนและประเทศเพื่อนบ้านเท่านั้นที่ กฟผ. ไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) จึงเปลี่ยนคำย่อของค่า Ft ให้สอดคล้องกับสูตรปัจจุบันคือ ค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) หมายถึง Fuel Adjustment Charge (at the given time) ปัจจุบันค่า Ft จะทำการปรับ 4 เดือนต่อครั้ง โดยคณะอนุกรรมการกำกับสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน กกพ. ทั้งนี้ค่าไฟฟ้าผันแปรจะแสดงในช่อง Ft ส่วนเพิ่ม/ส่วนลด ในใบเสร็จค่าไฟฟ้าหรือใบแจ้งหนี้ค่าไฟฟ้า
ที่มาข้อมูล http://www.eppo.go.th/power/ft.html
http://www.egat.co.th/index.php?option=com_content&view=article&id=364&catid=38&Itemid=323
ผู้เขียน : เปรมชัย บุญเรือง
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวพีรนุช กัณหดิลก
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวพีรนุช กัณหดิลก (รก.ผอ.พวท.)