ปีกแมลง (Insect Wings)

ปีกแมลง (Insect Wings)

01-03-2023
ปีกของแมลงที่ต่างกัน

ปีกแมลง (Insect Wings) คือ อวัยวะภายนอกร่างกายของแมลงที่ช่วยในการบิน แมลงส่วนใหญ่มีปีก 2 คู่ บางกลุ่มปีกลดรูปลงเหลือแค่ 1 คู่ และบางกลุ่มไม่มีปีกเลยตลอดช่วงชีวิต ปีกของแมลงพัฒนาสมบูรณ์เต็มที่ในระยะตัวเต็มวัย มีจุดกำเนิดอยู่ที่อกปล้องที่ 2 และอกปล้องที่ 3 โดยเกิดขึ้นมาจากผนังลำตัวที่ยื่นออกมาจากแผ่นสันหลังส่วนอก (notum) ซึ่งแตกต่างจากสัตว์ที่มีปีกในกลุ่มอื่น ๆ ที่พัฒนาปีกมาจากการเปลี่ยนรูปของขาคู่หน้าให้กลายเป็นปีกที่ใช้บิน ปีกของแมลงมีลักษณะเป็นแผ่นเยื่อบาง ๆ ไม่มีกล้ามเนื้อภายในและสามารถคงรูปร่างอยู่ได้เพราะเส้นปีก (wing veins) ซึ่งเป็นส่วนของท่ออากาศ (tracheae) ที่มีลักษณะเป็นท่อกลวง แต่หนาและแข็งแรง และมีการแตกกิ่งก้านสาขาไปตามแผ่นปีกจนเป็นโครงช่วยพยุงแผ่นปีกให้แข็งแรง ลักษณะการแตกกิ่งของเส้นปีกจะแตกต่างกันไปตามชนิดของแมลง ซึ่งความแตกต่างของเส้นปีกนี้สามารถนำมาใช้สำหรับวิเคราะห์จัดหมวดหมู่และจำแนกแมลงทางอนุกรมวิธานด้วย นอกจากนี้ปีกของแมลงยังมีความหนาบางแตกต่างกันจึงทำให้เกิดเนื้อปีกที่มีลักษณะแตกต่างกันออกไปหลายแบบ ได้แก่ 

ปีกแบบบางใส (membrane) เนื้อปีกเป็นเยื่อบางใส มีลักษณะเป็นเนื้อเดียวกันตลอดทั้งปีก สามารถมองทะลุผ่านไปอีกด้านได้ พบได้ในปีกของแมลงหลายชนิด ได้แก่ ปีกแมลงปอ ปีกแมลงช้าง ปีกจักจั่น ปีกแมลงวัน ปีกในแมลงกลุ่มผึ้ง ต่อ แตน และพบในปีกคู่หลังของแมลงหลายชนิด เช่น ด้วง มวน เป็นต้น ในปีกของแมลงบางชนิด เช่น ผีเสื้อ จะมีเกล็ด (scale) ขนาดเล็กจำนวนมากปกคลุมเนื้อปีกแบบบางใส ทำให้เกิดสีสันและลวดลายแตกต่างกันในแต่ละชนิด

ปีกบางใส

ปีกแบบหนัง (tegmina) ปีกที่มีความแข็งและเหนียวมากกว่าปีกแบบแรกเล็กน้อย ลักษณะหนาและมีเส้นปีกเห็นได้ชัดเจน พบในปีกคู่หน้าของแมลงบางกลุ่ม ได้แก่ แมลงสาบ ตั๊กแตนตำข้าว ตั๊กแตนหนวดสั้น ตั๊กแตนหนวดยาว จิ้งหรีด เป็นต้น ส่วนปีกคู่หลังของแมลงเหล่านี้จะมีเนื้อปีกแบบบางใส และพับเก็บซ่อนอยู่ใต้ปีกคู่หน้าในขณะที่ไม่ได้ใช้ปีกบิน

ปีกหนัง

ปีกแบบกึ่งแข็งกึ่งอ่อน (hemelytra) ปีกที่มีเนื้อปีกสองลักษณะเกิดร่วมกัน คือ บริเวณโคนปีกมีเนื้อปีกค่อนข้างแข็ง เรียกว่า corium ส่วนปลายปีกเป็นแบบบางใส ลักษณะเป็นแผ่นบาง อ่อน มองเห็นเส้นปีกชัดเจน ปีกลักษณะนี้พบในปีกคู่หน้าของแมลงกลุ่มมวน ส่วนปีกคู่หลังจะเป็นแบบบางใส

มวน

ปีกแบบแข็ง (Elytra) ปีกที่มีลักษณะหนาแข็ง เปราะ ผิวด้านนอกมีทั้งแบบเรียบเป็นมัน บ้างขรุขระ บ้างเป็นปุ่มนูน บ้างมีหนามแหลม ไม่มีเส้นปีกปรากฎให้เห็น เมื่อพับปีกขอบปีกจะจรดกันที่กึ่งกลางสันหลังของด้านบนลำตัวพอดี ด้วยลักษณะปีกมีความหนาและแข็งแรงจึงทำหน้าเป็นเหมือนเปลือกแข็งหุ้มลำตัวช่วยป้องกันการโจมตีจากศัตรูได้ พบได้ในแมลงกลุ่มด้วง ส่วนปีกคู่หลังของด้วงจะมีลักษณะเป็นแผ่นแบบบางใสและพับเก็บซ่อนอยู่ใต้ปีกคู่หน้าขณะที่ไม่ได้ใช้ปีกบิน ด้วงสามารถบินได้โดยจะใช้ปีกคู่หลังในการบินเพียงคู่เดียว

กว่าง

แหล่งข้อมูลอ้างอิง

http://www.brisbaneinsects.com/brisbane_insects/InsectWings.htm

http://www.cals.ncsu.edu/course/ent425/tutorial/wings.html

http://www.drawwing.org/

สาวิตรี มาไลยพันธุ์. 2538. บทปฏิบัติการกีฎวิทยาเบื้องต้น. ภาควิชากีฎวิทยา คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์. 55-59 น.


ผู้เขียน/ภาพ Nat.หน่อย ทัศนัย จีนทอง

สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา 

ข่าวสารที่่คล้ายกัน