มวลน้ำ คืออะไร?

มวลน้ำ คืออะไร?

18-12-2021
มวลน้ำ คืออะไร?

ภาพโดย นายทศวรรษ คุณาวัฒน์

จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในประเทศไทยหลายครั้ง เรามักจะได้ยินคำศัพท์ของทางราชการที่ประกาศเกี่ยวกับการจัดการน้ำบางคำที่เราไม่เข้าใจ หรือมองภาพไม่ออก เช่น น้ำเหนือเขื่อน พื้นที่ใต้เขื่อน การไหลของน้ำลูกบาศก์เมตรต่อวินาที หรือ มวลน้ำ เป็นต้น ในครั้งนี้เราจะมาคุยเรื่องที่เกี่ยวกับ มวลน้ำ

คำว่า มวลน้ำ มักจะถูกใช้ในการประเมินสถานการณ์น้ำในช่วงฤดูน้ำหลากหลายต่อหลายครั้ง แล้วมวลน้ำ หมายถึงอะไร? เราอาจอนุมานได้ว่า มวลน้ำ คือ การไหลของน้ำในแม่น้ำจากเหนือลงสู่ใต้ และจากที่สูงไหลลงสู่ที่ต่ำกว่า มีลักษณะเหมือนกับการเคลื่อนที่ของคลื่น แต่ละลูกคลื่น เรียกว่า มวลน้ำ แบ่งเป็น มวลน้ำที่ควบคุมได้ คือ น้ำที่ไหลตามแม่น้ำ ลำคลอง ระบบชลประทานที่มีอาคารควบคุม และ มวลน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ หรือ น้ำหลาก คือ ปริมาณน้ำที่ไหลที่มีมากเกินความจุของแม่น้ำ ลำคลอง และระบบชลประทานที่มีอยู่ และยังมีปริมาณน้ำฝนที่ตกในพื้นที่ที่ยากต่อการขับเคลื่อนลงสู่ทะเล หรืออีกนัยหนึ่งหมายถึง ปริมาณน้ำจำนวนมหาศาลที่ไหลมานั่นเอง โดยมากจะบอกปริมาณเป็นหน่วยลูกบาศก์เมตรต่อวินาที (ลบ.ม./วินาที) ซึ่งเป็นการบอกปริมาตรต่อความเร็วในการไหลใน 1 วินาที นั่นเอง

หากจะจินตนาการตามข่าวที่ออกมา สมมติว่ามีมวลน้ำมากกว่า 1,000 ลบ.ม./วินาที มันมีปริมาณมากแค่ไหน? เราสามารถประมาณการได้ดังนี้ น้ำที่มีปริมาตร 1 ลบ.ม. จะเท่ากับ 1,000 ลิตร หรือถังน้ำ 200 ลิตร 5 ถัง (ถังสีน้ำเงินที่เอาไว้ทิ้งขยะหรือเล่นสงกรานต์ที่เราเคยเห็นทั่วไป) ถ้าเทียบกับ 1,000 ลบ.ม./วินาที ก็จะมีถังเหล่านี้ลอยมาหา ประมาณ 5,000 ถังลอยผ่านอย่างรวดเร็วฝน 1 วินาที หรือประมาณ บ่อกว้างสักเกินครึ่งไร่ลึก 1 เมตร ลอยผ่านไปใน 1 วินาที ถ้ามีทางไปหรือที่รองรับน้ำ เช่น ลำน้ำ เขื่อน แก้มลิง ทุ่งนากว้างหลายร้อยไร่ มวลน้ำนั้นก็อาจจะไหลผ่าน โดยไม่มีผลกระทบ แต่ถ้าพื้นที่รองรับน้ำเหล่านี้ไม่สามารถรับน้ำได้อีกหรือไม่มีทางให้น้ำไหลไปได้แล้วก็หมายความว่า ท่วมแน่นอน และส่วนมากที่เราเห็นตามข่าวทางช่องทางต่างๆ จะเป็นมวลน้ำที่ไม่สามารถควบคุมได้ นั่นก็คือ สถานการณ์การน้ำท่วม ที่เห็นกัน

water2

ในปัจจุบัน มีหน่วยงานที่บริหารจัดการน้ำและประเมินสถานการณ์ตามอยู่หลายหน่วยงานที่มีเครื่องไม้เครื่องมือที่ทันสมัย สามารถคิดคำนวณตัวเลขที่ชวนน่าปวดหัวเหล่านี้อยู่จึงสามารถช่วยให้รับทราบข้อมูลได้อย่างเท่าทันเหตุการณ์หรือพยากรณ์สิ่งที่คาดว่าจะเกิดๆได้ ฉะนั้นแล้ว หากเราติดตามการประกาศสถานการณ์หรือพยากรณ์ตามที่ต่างๆ ก็จะทำให้เข้าใจคำศัพท์เหล่านี้และสามารถจินตนาการความมากหมายมหาศาลของน้ำที่ไหลมาเหล่านี้ได้อย่างเห็นภาพ และเตรียมตัวรับมือกับเหตุการณ์ได้ไม่มากก็น้อย

 

ที่มาข้อมูล:
http://www.electron.rmutphysics.com/news/index.php?option=com_content&task=view&id=2513&Itemid=3/ สืบค้น วันที่ 13 กันยายน 2562
https://home.kku.ac.th/pracha/Calculation%20of%20the%20Amount%20of%20Water.htm/ สืบค้น วันที่ 13 กันยายน 2562

ผู้เขียน นายทศวรรษ คุณาวัฒน์

Related