ดินกระทบ น้ำสะเทือน เหล่าสัตว์ก็เลือนหาย

ดินกระทบ น้ำสะเทือน เหล่าสัตว์ก็เลือนหาย

18-12-2021
ดินกระทบ น้ำสะเทือน เหล่าสัตว์ก็เลือนหาย

ความสัมพันธ์ต่อกันระหว่างสิ่งมีชีวิตกับสิ่งแวดล้อม ทั้งสิ่งมีชีวิตและไม่มีชีวิต หรือเราเรียกมันว่า ระบบนิเวศ พึ่งพาอาศัยกันในหลายรูปแบบ โดยเฉพาะเหล่าสิ่งมีชีวิตทั้งหลายที่ได้ พึ่งพา ดิน น้ำ และอากาศในการดำรงชีวิต หากมีการเปลี่ยนแปลงไปตามธรรมชาติก็คงไม่ต้องกังวลมากนักเพราะทุกอย่างจะปรับตัวอย่างค่อยเป็นค่อยไปทั้งระบบนิเวศนั้น แต่สถานการณ์ปัจจุบันกลับเปลี่ยนแปลงไปจากน้ำมือมนุษย์ที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลง เพียงเพราะอ้างว่าเพื่อการดำรงชีวิตที่ดี แต่กลับได้ทำร้ายธรรมชาติอย่างไม่ควรทำ เมื่อดิน น้ำ และอากาศเกิดผลกระทบไม่ว่าทางดีหรือร้าย ล้วนส่งต่อการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิตไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม ไม่ว่าไกลหรือใกล้

“น้ำ” เป็นตัวกระทำที่ทำให้เกิดกระบวนการการเปลี่ยนแปลงทางธรณีสัณฐานของพื้นผิวโลก โดยมากเราจะเห็นได้จากการเกิด แม่น้ำ ลำน้ำต่างๆ ตาน้ำเล็กๆ ที่เป็นแหล่งต้นน้ำ ไหลผ่านแผ่นหินใหญ่ที่มีการผุพังโดยกระบวนการทางกายภาพ จนน้ำสามรถเข้าไปทำปฏิกิริยาทำให้หินเกิดการสึกกร่อน แตกกระจายเป็นขนาดเล็กหรือเศษผง เกิดเป็นร่องน้ำจากแคบๆ จนกระทั่งกว้างใหญ่เป็นแม่น้ำหล่อเลี้ยงทุกชีวิตบนโลกนี้ น้ำที่ไหลผ่านหินเหล่าโขดหินที่แหลมคมเป็นเวลานานจะทำให้หินที่เคยแหลมคมเริ่มกลมเกลี้ยงมากขึ้น จากน้ำที่ใสสะอาดจะเห็นเป็นสีขุ่นมากขึ้นเหตุจากเศษหินที่แตกและน้ำที่ไหลกัดเซาะริมตลิ่งหรือทางที่ผ่าน ความขุ่นเพิ่มขึ้นจากตะกอนดินที่เพิ่มมากขึ้น น้ำพัดพาตะกอนดินไปเติมผืนแผ่นดินตามหาดทราย หรือที่ราบน้ำท่วมถึงตามทางไหล สู่ปากแม่น้ำ สร้างความอุดมสมบูรณ์ด้วยตนเองและสิ่งที่พามา “ตะกอนดิน” เดิมเกิดการผุพังของหิน แร่ รวมถึงซากพืชซากสัตว์ จึงมีธาตุอาหารที่สำคัญเหมาะแก่การเติบโตของพืชซึ่งมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากเป็นแหล่งพึ่งพาของเหล่าสิ่งมีชีวิต ทั้ง พืช คน สัตว์ ช่วยให้เกิดปฏิสัมพันธ์ระหว่างกันจนเกิดเป็นระบบนิเวศในน้ำ เมื่อตะกอนดิมจมลงใต้แม่น้ำ จนกลายเป็นพื้นดินและพื้นที่ชุ่มน้ำซึ่งเป็นที่เจริญเติบโตของพืชพรรณไม้น้ำ อันเป็นแหล่งหาอาหารชั้นเยี่ยม และเป็นที่อยู่อาศัย รวมถึงเป็นที่อนุบาลสัตว์อ่อน ตลอดจนเป็นที่วางไข่เพื่อขยายเผ่าพันธุ์สำหรับพื้นที่ทางการเกษตรริมฝั่งแม่น้ำ หรือที่ราบน้ำท่วมถึง เมื่อเกิดฤดูน้ำหลาก ตะกอนใหม่ที่มาก็จะเติมผืนดินเดิมที่ถูกชะล้างให้สามารถใช้ประโยชน์ได้อีกครั้ง
จนสุดท้ายทับถมบริเวณปากแม่น้ำ กลายเป็นดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำที่เหมาะทำการเกษตรกรรมสร้างรายได้มาสู่ประเทศอย่างมาก

thesoil2

แต่ในทางกลับกันถ้า ตะกอนดินเหล่านี้ลดลง น้ำที่เคยกัดเซาะรุนแรงบริเวณต้นน้ำ เปลี่ยนมาเกาะซัดกลางน้ำ หรือปลายน้ำ ผลที่ตามมาแก่สัตว์น้ำ และผู้ใช้ประโยชน์จะเป็นเช่นไร ยกตัวอย่างกรณีที่เกิดขึ้นจริงในลุ่มน้ำโขงเกิด “ปรากฏการณ์น้ำหิว” (hungry water effect) เป็นปรากฏการณ์น้ำโขงเปลี่ยนสี จากสีปูน กลายเป็นสีคราม โดยปกติแล้วน้ำโขงจะมีตะกอนดินจำนวนมากพัดพามาตามลำน้ำทำให้น้ำขุ่นและมีสีคล้ายปูน คนจึงเรียกโขงสีปูน แต่เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้ตะกอนน้ำนั้นหายไปจึงทำให้เห็นน้ำโขงมีความใส และสะท้อนแสงกับท้องฟ้าเป็นสีคราม สาเหตุหลักมาจากการสร้างเขื่อนขวางลำน้ำโขงเพื่อผลิตไฟฟ้า ในประเทศจีน และเขื่อนไซยะบุรีในประเทศลาว มีการกักน้ำไว้เหนือเขื่อนไม่ให้ไหลลงมาตามฤดู จะปล่อยน้ำออกมาเมื่อต้องการผลิตไฟฟ้า น้ำเหนือเขื่อนจึงนิ่งทำให้ตะกอนดินที่มีอยู่ตกตะกอนลงใต้อ่างเก็บน้ำของเขื่อน และเหนือเขื่อนขึ้นไปอีกหลายกิโลเมตร ส่งผลต่อให้ตะกอนทับถมอยู่หน้าเขื่อน รวมถึงเกาะแก่งที่เป็นที่อยู่อาศัยที่วางไข่ เพาะพันธ์ของปลาถูกกลบฝังไร้ที่อยู่ นอกจากผลกระทบเหนือเขื่อนแล้วผลที่เกิดกับท้ายเขื่อนกลับรุนแรงยิ่งกว่าคือ เมื่อตะกอนตกอยู่เหนือเขื่อนแล้ว เมื่อปล่อยน้ำออกจากเขื่อนเป็นน้ำจะใสไร้ตะกอน ยิ่งไกลจากเขื่อนน้ำจะยิ่งใส สะท้อนแสงให้เห็นเป็นสีครามดังที่เห็นใน จ.นครพนม หรือ จ.อุบลราชธานี นอกจากนี้น้ำท้ายเขื่อนจะไหลช้า มีปริมาณน้อยไร้ตะกอน พื้นที่ชุ่มน้ำ หรือบริเวณที่มีพืชน้ำต่างๆ ไม่มีตะกอนดินที่เป็นธาตุอาหารและน้ำไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ก็ล้มตายเหี่ยวแห้งไป เหล่าสัตว์ที่เคยอาศัยหากินก็ตายตามเพราะขาดน้ำขาดอาหาร ซ้ำร้ายน้ำที่ไร้ตะกอนน้ำจะกัดเซาะริมตลิ่งอย่างรุนแรง ยังส่งผลเสียต่อการพังทลายของริมตลิ่ง จึงเรียกว่า น้ำหิว และยังส่งผลต่อ
การลดลดของดินดอนสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขงในประเทศเวียดนามอีกด้วย จากรายงานการศึกษาการเปลี่ยนแปลงของตะกอนแม่น้ำโขงจากการคาดการณ์ผลกระทบของเขื่อนในแม่น้ำโขง โดยคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRC) ยังระบุว่า หากมีการก่อสร้างเขื่อนผลิตกระแสไฟฟ้าเต็มรูปแบบตามที่ได้วางแผนไว้ในลุ่มน้ำโขงจะก่อให้เกิดการลดลงของการพัดพาตะกอนในแม่น้ำอย่างมีนัยยะสำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง ในเขตประเทศเวียดนาม โดยผลการศึกษาดังกล่าวคาดการณ์ว่า หากสถานการณ์ไม่เปลี่ยนแปลง ตัวเลขการหายไปของตะกอนจะสูงถึง 97% ภายในปีพ.ศ.2583 การสูญเสียตะกอนปริมาณมหาศาลจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อความอุดมสมบูรณ์ของแม่น้ำ ธรณีสัณฐานริมตลิ่งตลอดทั้งลำน้ำ และความอยู่รอดของสามเหลี่ยมปากแม่น้ำโขง นี่เป็นกรณีตัวอย่างเพียงลุ่มน้ำเดียวที่มีประชากรหลายประเทศใช้ร่วมกัน

หากการเกิดขึ้นของสิ่งหนึ่ง เป็นต้นเหตุของการทำลายอีกหลายสิ่ง มันจะคุ้มค่ากับการมีอยู่หรือไม่ แต่หากร่วมหาทางออกตามแนวทางความเป็นไปของธรรมชาติและ
ได้รับการยอมรับจากทุกฝ่าย คงจะดีกว่าการกระทำแบบเดิมไม่น้อย


ผู้เขียน : นายทศวรรษ คุณาวัฒน์

ที่มาภาพ
https://mgronline.com/local/detail/9620000114889: สืบค้นข้อมูลวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562
https://sites.google.com/site/sciencesite60/hae-lng-n: สืบค้นข้อมูลวันที่ 30 พฤศจิกายน 2562

ที่มาข้อมูล
ไชยณรงค์ เศรษฐเชื้อ . หายนะแม่น้ำโขงเปลี่ยนสี จากสายน้ำที่สมบูรณ์สู่สายน้ำที่หิวโหย [ออนไลน์]. 2562
แหล่งที่มา : https://www.facebook.com/chainarong.stc.3/posts/577505953051797 [4 ธันวาคม 2562]
รพีพัฒน์ อิงคสิทธิ์. ความท้าทายต่อลุ่มน้ำโขงในมุมมองของคณะกรรมการแม่น้ำโขง [ออนไลน์]. 2562.
แหล่งที่มา: https://www.seub.or.th/bloging/สถานการณ์/สิ่งแวดล้อม-ต่างประเทศ/ความท้าทายต่อลุ่มน้ำโข/[30 พฤศจิกายน 2562]

ข่าวสารที่่คล้ายกัน