“...เมื่อสภาพดินแข็งควรระเบิดหน้าดินให้ทะลุ กระทุ้งให้ดินข้างล่างเป็นรู นำกระถินมาปลูก แล้วไถพลิกดินชั้นล่างขึ้นมา ต้นกระถินซึ่งถูกกลบลงไปจะกลายเป็นปุ๋ยอย่างดี ดีกว่าการใช้ปุ๋ยคอก ในระยะเวลาเพียง 2 ปี ดินจะอยู่ในสภาพที่เพาะปลูกพืชได้...”
พระราชดำรัส ณ ศูนย์ศึกษาการพัฒนาภูพานอันเนื่องมาจากพระราชดำริ จ.สกลนคร
26 พฤศจิกายน 2533
จากการประชุมวิทยาศาสตร์ทางดินของโลก ครั้งที่ 17 ณ กรุงเทพมหานคร ในปี พ.ศ.2545 มีนักวิทยาศาสตร์ทางดินจากทั่วโลกมาร่วมประชุม และมีการจัดนิทรรศการพระราชกรณียกิจของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ที่เกี่ยวข้องกับทรัพยากรดิน ทำให้ผู้เข้าร่วมประชุมประจักษ์ถึงพระวิสัยทัศน์ในการบริหารทรัพยากรดินอย่างยั่งยืน ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่สนพระราชหฤทัยในวิทยาศาสตร์ทางดิน และผลงานของพระองค์เป็นที่ยอมรับทั้งในและต่างประเทศ และในการประชุมครั้งนี้ คณะกรรมการสหภาพวิทยาศาสตร์ทางดินนานาชาติ มีมติให้วันที่ 5 ธันวาคม ซึ่งเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เป็น วันดินโลก เพื่อสดุดีพระเกียรติคุณของพระองค์ และใช้วันนี้เป็นวันรณรงค์ให้ชาวโลกตระหนักถึงความสำคัญของทรัพยากรดินที่มีต่อความอยู่รอดของมวลมนุษยชาติและสภาพแวดล้อม รวมถึงความจำเป็นต้องมีการจัดการทรัพยากรที่ดินอย่างยั่งยืน
ดิน เป็นวัตถุธรรมชาติที่ปกคลุมผิวโลกอยู่บางๆ เกิดขึ้นจากผลของการแปรสภาพหรือ ผุพังของหินและแร่ และอินทรียวัตถุผสมคลุกเคล้ากัน ด้วยความที่ดินเป็นอินทรียวัตถุ จึงทำให้ดินเปลี่ยนแปลงได้ตามสภาพพื้นที่ และการใช้ที่ดิน แนวทางการจัดการดินของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช มีหลายแนวทาง ซึ่งสามารถดำเนินการได้จริง และให้ผลอย่างเป็นรูปธรรมกับดิน
ห่มดิน : ส่งความรักให้กับดิน
ดินเปลือยเปล่าที่ไม่มีพืชปลูกคลุมอยู่ ก็เหมือนกับดินที่ไม่ได้รับการดูแลและได้รับความรัก หากปล่อยไว้นานวัน ความอุดมสมบูรณ์และจุลินทรีย์ที่มีประโยชน์ในดินจะตาย ส่งผลให้ดินไม่มีคุณภาพ ปลูกพืชไม่ได้ผล พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวพระราชดำริในการดูแลและรักษาดินนั่นคือ การห่มดิน เพื่อให้ดินมีความชุ่มชื้นและจุลินทรีย์ทำงานได้ดีทำให้ดินมีแร่ธาตุเพิ่มขึ้น มีความอุดมสมบูรณ์ การห่มดินจึงเปรียบได้กับการห่มความรักและเอาใจใส่ดิน
วิธีการห่มดิน
ใช้ฟาง เศษใบไม้ เศษหญ้า หรือ พรมใยปาล์ม (wee drop) ที่ทำมาจากปาล์มที่ผ่านการรีดน้ำมันแล้วมาตะกุยให้เป็นเส้นๆ นำมาคลุมดินบริเวณโคนต้นไม้อย่างต่อเนื่องตลอดแปลง
แกล้งดิน : ทำให้ดินเป็นกรดก่อนแล้วจึงใช้
ในปี พ.ศ. 2524 พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เสด็จเยี่ยมราษฎรในเขต จ.นราธิวาส ทรงพบว่าพื้นที่พรุแปรสภาพเป็นดินเปรี้ยวจัด จึงทรงพระราชทานแนวพระราชดำริ แก้ปัญหาดินเปรี้ยวโดยการขังน้ำไว้ในพื้นที่จนเกิดปฏิกิริยาเคมีทำให้ดินเปรี้ยวจัดจนถึงที่สุดก่อน แล้วจึงระบายน้ำออก และปรับสภาพฟื้นฟูดินด้วยปูนขาวจนดินมีสภาพดีที่จะใช้ในการเพาะปลูกได้
ล้างความเค็มในดิน ลดดินเค็ม
ดินเค็ม เป็นดินที่มีเกลืออยู่ในดินเป็นจำนวนมาก จากแนวพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช จึงเป็นที่มาของโครงการแก้ไขปัญหาดินเค็มบริเวณห้วยบ่อแดง อ.บ้านม่วง จ.สกลนคร ซึ่งมีการขุดลอกแหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อขนย้ายคราบเกลือที่สะสมอยู่บนดิน และทำการล้างดินในลำห้วยเพื่อให้เกลือเจือจาง และสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำนั้นได้ และจากแนวพระราชดำรินี้ นำไปสู่วิธีการต่อยอดและประยุกต์ใช้กับระบบชลประทานอีกด้วย
หญ้าแฝก : กำแพงมีชีวิต
พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์ดิน ซึ่งถือเป็นทรัพยากรพื้นฐานของชีวิตคนทุกคน ทรงมีพระราชดำริในการปลูกหญ้าแฝกด้วยทรงเห็นถึงคุณประโยชน์ของหญ้าแฝก ในเรื่องการลดการชะล้างพังทลายของดิน ช่วยเก็บกักตะกอนดินบนพื้นที่ลาดชัน และยังช่วยฟื้นฟูทรัพยากรดินเนื่องจากหญ้าแฝกมีคุณสมบัติที่สามารถเติบโตได้ดีในสภาพดินที่มีสารพิษ
หญ้าแฝก เป็นพืชใบเลี้ยงเดี่ยวตระกูลเดียวกับข้าวโพด พบกระจายอยู่ทั่วไปตามธรรมชาติ ลักษณะเด่นของหญ้าแฝกคือ มีระบบรากยาวแน่นช่วยในการอุ้มน้ำ แตกหน่อรวมเป็นกอแต่ไม่แผ่ขยายด้านข้าง และสามารถปรับทนกับสภาพดินต่างๆได้ดี
สร้างของดีบนของเลว
ดินดาน ดินแข็ง และดินลูกรัง เป็นดินเนื้อละเอียด มีน้ำหนักมาก น้ำและอากาศผ่านเข้าออกได้ยาก ในฤดูแล้งดินจะแห้งแข็งแตกระแหง รากไม้แทรกเข้าไปได้ยาก จึงปลูกพืชไม่ไม่ดี พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช พระราชทานแนวพระราชดำริ สร้างของดีบนของเลว ช่วยฟื้นฟูให้ที่ดินที่เสื่อมโทรม สามารถปลูกพืชได้ แปรสภาพเป็นพื้นที่เขียวชะอุ่มและมีสภาพแวดล้อมดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด
แนวทางการสร้างของดีบนของเลว
- สร้างอ่างเก็บน้ำตามลำน้ำหลัก เพื่อเก็บกักน้ำรักษาความชุ่มชื้น
- ปรับปรุงดินโดยใช้ปุ๋ยหมัก ปุ๋ยพืชสด และปลูกพืชตระกูลถั่วแล้วไถกลบ
- ปลูกหญ้าแฝกขวางแนวลาดเทขนานกันหลายๆ แนว เพื่อป้องกันไม่ให้หน้าดินถูกชะล้างพังทลาย