วิกฤตอาหารโลกกับโลกร้อน

วิกฤตอาหารโลกกับโลกร้อน

18-12-2021

ใน 30-40 ปีข้างหน้า อาหารที่อยู่บนโต๊ะเราอาจจะไม่มีอยู่อีกต่อไป ยกตัวอย่าง ปลา ถั่วเหลือง มันฝรั่ง ผลไม้ต่างๆ หรือแม้แต่ ธัญพืช เช่น ข้าวสาลี และข้าวสวย ไปจนถึงของหวานหรือเครื่องดื่ม น้ำผึ้ง ช็อกโกแลต และกาแฟ เพราะการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกไม่เพียงทำให้อุณหภูมิโลกสูงขึ้นหรือมีการสภาพอากาศแปรปรวนเท่านั้น ยังส่งผลต่อกิจกรรมการผลิตอาหารของโลกด้วย

สถาบันทรัพยากรแห่งโลกรายงานว่าภายในปี 2593 มนุษย์ต้องผลิตอาหารเพิ่มถึงร้อยละ 50 ของปัจจุบัน แต่อนุสัญญาอารักขาพืชระหว่างประเทศ ประกาศว่า ภายในปี พ.ศ. 2593 ผลผลิตพืชผลจะลดลงอัตราร้อยละ 10 ถึง 25 เนื่องจากอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกที่เพิ่มสูงขึ้นและอากาศสามารถกักเก็บความชื้นได้มากขึ้นเช่นกัน จนทำให้มีฝนตกเพิ่มขึ้น อาจส่งผลทำให้พืชผลจมน้ำและเสียหายได้ นอกจากนี้ยังมีการปนเปื้อนของสารพิษที่ถูกพัดมาจากหลายๆแห่งในน้ำนี้ ทำให้อาหารของเราเกิดการปนเปื้อนสารพิษได้เช่นกัน ในทางกลับกัน บางพื้นที่บนโลกกลับประสบภัยแล้งเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากอัตราการระเหยของน้ำเพิ่มสูงขึ้นเมื่อโลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น จนทำให้แหล่งน้ำหลายแห่งเหือดแห้ง แหล่งน้ำบาดาลหลายแห่งก็กำลังหมดไปเช่นกัน และอาจทำให้น้ำทะเลไหลเข้าแทนที่น้ำจืด ทำให้น้ำมีความเค็มสูงอาจส่งผลต่อพืชเกษตรหลายชนิดที่อาศัยน้ำปริมาณมากในการเพาะปลูก

นอกจากนี้ อุณหภูมิยังมีผลกับเวลาทำงานของเกษตรกร โดยเฉพาะบริเวณป่าดิบชื้นใกล้เส้นศูนย์สูตร เพราะบริเวณนี้อากาศจะร้อนมากทำให้ไม่สามารถทำงานได้ ทำให้กำลังการผลิตลดลง ในขณะที่จำนวนประชากรในภูมิประเทศแถบนี้กับมีปริมาณที่เพิ่มสูงขึ้น ทำให้ประเทศที่อยู่บริเวณเส้นศูนย์สูตรนี้อาจประสบปัญญหาขาดแคลนอาหาร ในขณะที่ประเทศที่อยู่เหนือขึ้นไปอาจสามารถปลูกพืชเขตร้อนได้มากขึ้น ยกตัวอย่าง สถาบันภูมิอากาศประเทศออสเตรเลีย มีการพยากรว่าภายในปี 2593 พื้นที่เหมาะสมกับการปลูกต้นกาแฟจะหายไปถึงครึ่ง ทำให้อาจมีการเคลื่อนย้ายพื้นที่เพาะปลูกไปทางตอนเหนือ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อพืชท้องถิ่นที่อาจจะสูญพันธุ์ได้เนื่องจากการปรับเปลี่ยนพื้นที่เพื่อทำการเพาะปลูกพืชเศรษฐกิจที่มีต้นกำเนิดจากที่อื่น

เมื่ออุณหภูมิเพิ่มสูงถึงระดับหนึ่งระบบการทำงานของพืช เช่น การถ่ายละอองเรณู การเติบโตของลำต้น และการพัฒนาระบบราก จะลดลงทำให้ผลผลิตลดลงเช่นกัน ปีพ.ศ. 2557 วารสาร Nature ได้ตีพิมพ์ผลงานวิจัยที่ชี้ให้เห็นว่า การเพิ่มขึ้นของปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ส่งผลกับปริมาณสารอาหารหรือคุณค่าทางโภชนาการในพืชลดลง เช่น โปรตีน แร่ธาตุ และวิตามิน อาจทำให้ประชากรโลกที่บริโภคพืชเหล่านี้อาจประสบปัญหาการขาดแคลนสารอาหาร นอกจากนี้อากาศที่ร้อนขึ้นยังทำให้ศัตรูพืชสามารถแพร่กระจายในพื้นที่ไม่เคยพบมาก่อน ส่งผลกระทบต่อพืชท้องถิ่นที่ไม่มีวิวัฒนาการป้องกันศัตรูที่เข้ามาใหม่ การเปลี่ยนแปลงสภาวะอากาศโลกเนื่องจากอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นอาจส่งผลกระทบต่อระยะเวลาของการอพยพย้ายถิ่นฐานของฝูงนกกินแมลง ซึ่งอาจจะส่งผลกระทบกับการเปลี่ยนแปลงของจำนวนแมลงศัตรูพืชเหล่านี้เช่นกัน

อย่างไรก็ตาม สัตว์ทั้งหลายต่างก็ประสบปัญหากับสภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลงเช่นกัน การเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิโลกอาจทำให้ปริมาณปลาสายพันธุ์หลักที่จับได้ลดลงถึงร้อยละ 40 เนื่องจากปลาเหล่านี้ได้อพยพขึ้นไปทางเหนือ ทำให้เกิดการแย่งชิงแหล่งอาหารกับสายพันธุ์ท้องถิ่น ทำให้อัตราการอยู่รอดจึงลดลงไปด้วย นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นคาร์บอนไดออกไซด์ยังทำให้ทะเลมีความเป็นกรดมากขึ้น สัตว์น้ำมีเปลือกจะมีเปลือกที่บางลง ไม่สามารถป้องกันผู้ล่าได้ ความร้อนยังส่งผลกับความเครียดของโคนม ทำให้การผลิตน้ำนมมีประสิทธิภาพลดลง ในขณะเดียวกันสัตว์ที่เพาะเลี้ยงในระบบปศุสัตว์จะอ่อนแอและติดโรคได้ง่ายขึ้น เพราะพยาธิและเชื้อโรคต่างๆอาศัยอยู่ในสภาพอากาศที่อุ่นและชื้น เพื่อรักษาสัตว์เหล่านี้จึงจำเป็นต้องเพิ่มยาฆ่าเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้ผู้บริโภคต้องเสี่ยงต่อสารพิษตกค้างเพิ่มสูงขึ้น

ปัจจุบัน มีงานวิจัยหลายฉบับเกี่ยวกับการลดลงของประชากรผึ้งและแมลงที่ทำหน้าที่ถ่ายละอองเรณูของพืชเนื่องจากหลายปัจจัย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การสูญเสียที่อยู่อาศัยและการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศซึ่งส่งผลโดยตรงกับน้ำผึ้งที่มนุษย์บริโภค และยังส่งผลต่อพืชผลที่อาศัยแมลงเหล่านี้ในการผสมเกสร จึงอาจทำให้พืชเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการสูญพันธุ์

เราเชื่อกันว่า การผลิตอาหารให้มนุษย์เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะว่า ก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมทางการเกษตรมีถึงร้อยละ 10 ถึง 12 ร่วมกับการตัดไม้ทำลายป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่ทำการเกษตรมีเพิ่มสูงขึ้นถึงร้อยละ 80 นอกจากนี้ ประเทศกำลังพัฒนามีแนวโน้มต้องการบริโภคอาหารเพิ่มสูงขึ้นทำให้มีการขนส่งอาหารไปยังที่ต่างๆเพิ่มมากขึ้น ทำให้ต้องใช้พาหนะในการขนส่งอาหารเพิ่มมากขึ้น ทำให้มีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเพิ่มสูงขึ้น อย่างเช่นกรณีที่การบริโภคเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นมของคนชนชั้นกลางที่เพิ่มขึ้น ทำให้ปัจจุบันร้อยละ 83 ของพื้นที่เกษตรใช้ในการผลิตเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์นม ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกถึงร้อยละ 60 ของกิจกรรมการเกษตรทั้งหมด ทิม เซิสช์ชิงเกอร์ จากสถาบันทรัพยากรแห่งโลกได้กล่าวว่า หากใช้ระบบการผลิตเกษตรกรรมปัจจุบันเพื่อผลิตอาหารให้เพียงพอภายในปี 2593 ป่าของโลกจะถูกถางหมดและก๊าซเรือนกระจกจากกิจกรรมมนุษย์ทั้งหมดจะเพิ่มขึ้นถึงสองเท่า

ในขณะที่ ร้อยละ 30 ถึง 40 ของปริมาณการผลิตอาหารกับกลายเป็นเพียงขยะ เพราะบางส่วนถูกคัดออก หรือปล่อยไว้บนไร่นา และร้านขายปลีก ร้านอาหารและครัวเรือนเลือกทิ้ง ซึ่งหากเปรียบเทียบปริมาณอาหารที่ถูกทิ้งทั้งหมดทั่วโลก พบว่า สามารถปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นอันดับที่ 3 รองลงมาจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในประเทศจีนซึ่งเป็นอันดับ1 และอเมริกาเป็นอันดับ 2

เพื่อไม่ให้การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลกมีความรุนแรงไปมากกว่านี้ด้วยการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เกิดจากกิจกรรมของมนุษย์นั้น ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำให้ผู้บริโภคปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในการกิน โดยเฉพาะการบริโภคเนื้อสัตว์และอาหารนำเข้า ในขณะที่เกษตรกรควรมีการบริหารจัดการที่ดีเพื่อลดการสิ้นเปลืองทรัพยากรที่จะนำมาสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก เช่น การเพิ่มผลผลิตโดยไม่ต้องขยายพื้นที่ทางการเกษตร การบริหารจัดการน้ำและดิน เทคโนโลยีประหยัดพลังงานเครื่องจักรทางการเกษตร การปลูกพืชเกษตรควบคู่กับต้นไม้อื่น การรับข่าวสารการพยากรณ์สภาพอากาศเพื่อการวางแผนเพาะปลูก การบริหารจัดการของเสียและปุ๋ย และการพัฒนาสูตรอาหารที่ลดการปล่อยก๊าซมีเทนของปศุสัตว์ เป็นต้น

ผู้เขียน : นุชจริม เย็นทรวง  นักวิชาการกองพัฒนากิจกรรม

 

อ้างอิง
Damian Carrington (2018). Beef-eating 'must fall drastically' as world population grows จาก https://www.theguardian.com/environment/2018/dec/05/beef-eating-must-fall-drastically-as-world-population-grows-report เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
Sara G. Miller (2017). Climate Change Is Transforming the World's Food Supply. จาก https://www.livescience.com/57921-climate-change-is-transforming-global-food-supply.html เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
Ruth Khasaya Oniang'o (2018). Why what we eat is crucial to the climate change question จาก https://www.theguardian.com/environment/2018/mar/05/why-what-we-eat-is-crucial-to-the-climate-change-question เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
Food and Agriculture Organization. Climate change and your food: Ten facts จาก http://www.fao.org/news/story/en/item/356770/icode/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
Renee Cho (2018). How Climate Change Will Alter Our Food จาก https://blogs.ei.columbia.edu/2018/07/25/climate-change-food-agriculture/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
April Benshosan (2018). 15 Foods That May Disappear in Our Lifetimes จากhttps://www.eatthis.com/foods-disappear-in-lifetime/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562
Rainforest Alliance (2016). 5 Ways Farmers Can Combat Climate Change. จาก https://www.globalcitizen.org/en/content/5-ways-farmers-can-work-around-climate-change/ เข้าถึงข้อมูลวันที่ 18 พฤศจิกายน 2562

Global warming2

การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศเปลี่ยนให้ภูมิประเทศบางแห่งประสบปัญหาแล้งหรือน้ำท่วม

Global warming3

วนเกษตรคือการปลูกพืชหลายชนิดเพื่อการเกษตรเพื่อความยั่งยืน

ข่าวสารที่่คล้ายกัน