Fake News รู้ทันข่าวลวง ปัญหาบนโลกออนไลน์

Fake News รู้ทันข่าวลวง ปัญหาบนโลกออนไลน์

18-12-2021
Fake News รู้ทันข่าวลวง ปัญหาบนโลกออนไลน์

ต้องยอมรับว่าปัจจุบันอินเทอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทสำคัญในชีวิตประจำวันทุกชนชั้น ทุกอาชีพ และทุกช่วงอายุ การจะดึงดูดให้ผู้บริโภค หรือกลุ่มเป้าหมายสนใจในเนื้อหาที่ต้องการนำเสนอ ต้องมีการใช้คำ หรือรูปภาพที่จะทำให้ผู้บริโภคสนใจ สะดุดตา และกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นแบบทันทีทันใด ซึ่งทำให้บางครั้งเป็นการนำเสนอเนื้อหาที่เกินความจริง จนบิดเบือน ทำให้ผู้บริโภคเข้าใจผิด นำไปสู่การส่งสารที่ผิด ไม่ว่าด้วยการส่งต่อข้อความ หรือการบอกเล่า จนกลายเป็นลบเลือนความจริงในเนื้อหาจนไม่เหลือเค้าโครงความจริง ซึ่งเป็นตัวกระตุ้นที่ก่อให้เกิดปัญหาในการสื่อสารอย่างที่เป็นข่าวทุกวันนี้

ข่าวลวง หรือ Fake news เดิมมีการให้นิยามไว้หลากหลายความหมาย แต่จากคณะกรรมาธิการยุโรป และในบริบทการเมืองของสหรัฐอเมริกา สามารถสรุปได้ว่า “ข่าวลวง” หมายถึงข่าวที่มีเนื้อหาอันไม่เป็นข้อเท็จจริง หลอกหลวง หรือข่าวสร้างสถานการณ์ รวมถึงการเขียนข่าวที่ได้รับการสนับสนุนอย่างปิดบังหรือแอบแฝง ซึ่งนำเสนอในสื่อสังคมและแพลตฟอร์มออนไลน์อื่น ๆ จากรายงานของ LSE Media Policy Project ที่ทำขึ้นโดย Tambini ในปี 2017 สามารถจำแนกประเภทของ Fake News ได้ 6 กลุ่ม ตามลักษณะการนำเสนอเนื้อหาหรือคอนเทนต์ ดังนี้
   1. Fabricated Content: ข่าวปลอมที่เป็นข้อมูลเท็จทั้งหมด หวังให้ประชาชนเข้าใจผิด
   2. Manipulated Content: ข่าวบิดเบือน แม้จะมีข้อมูลหรือภาพจริง และมักพาดหัวข่าวดึงดูดความสนใจ
   3. Imposter Content: ข่าวแอบอ้าง มีแหล่งข่าวและภาพบุคคลจริงมาอ้างอิงเพื่อความน่าเชื่อถือ มักทำให้เกิดความเข้าใจผิดได้ง่าย
   4. Misleading Content: ข่าวที่นำเสนอข้อมูลชี้นำเพื่อโจมตีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง พบบ่อยในข่าวการเมือง
   5. False context of connection: ข่าวที่ใช้ภาพหรือพาดหัวไม่ตรงกับเนื้อหาที่ถูกต้อง เช่น ใช้รูปเหตุการณ์ในอดีต มาสร้างความแตกตื่น
   6. Satire and Parody: คอนเทนต์เสียดสี ล้อเลียน ถือเป็นข่าวปลอมที่เป็นภัยน้อยที่สุด
จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ผู้บริโภคเสพข่าวออนไลน์มากขึ้น ทำให้มีการพัฒนาการเขียนข่าวลวงที่คนทั่วไปไม่สามารถรู้เท่าทัน แยกแยะ หรือกลั่นกรองได้ดีพอ ทำให้ต้องมีวิธีรับมือ หรือสังเกตข่าวที่เผยแพร่ว่าข่าวไหนลวง ข่าวไหนจริง โดยวิธีสังเกตดังนี้ 
   1. พิจารณาความน่าเชื่อถือของเว็บไซต์ที่เผยแพร่ หากพบเว็บไซต์ข่าวออนไลน์ที่มีเพียงไม่กี่หน้า ไม่ระบุที่อยู่หรือข้อมูลสำหรับติดต่อผู้เขียน ก็อาจจะเป็นไปได้ว่าเป็นเว็บไซต์ที่ถูกสร้างเพื่อเผยแพร่ข่าวปลอม
   2. ตรวจสอบว่ามีเว็บไซต์หรือแหล่งข่าวอื่นที่เผยแพร่ข่าวเดียวกันหรือไม่ หากมีเพียงแหล่งข่าวเดียว ก็อาจเป็นไปได้ว่าเป็นข่าวที่ไม่น่าเชื่อถือ
   3. สังเกตรูปภาพ โดยการนำรูปภาพนั้นไปค้นหาจากเว็บไซต์สำหรับค้นหารูปภาพ เช่น TinEye, Google Reverse Image Search เพื่อรู้ที่มาของรูปภาพ ความน่าเชื่อถือ หรือความเกี่ยวข้องกับข่าวที่อ่าน
   4. ตรวจสอบโดยการนำชื่อข่าว หรือเนื้อความในข่าวมาค้นหา ซึ่งจากผลลัพธ์การค้นหาผู้ใช้อาจพบเว็บไซต์แจ้งเตือนว่าข่าวดังกล่าวเป็นข่าวปลอม หรือดูวันที่เผยแพร่ข่าว อาจพบว่าข่าวดังกล่าวเป็น ข่าวจริง แต่ถูกเผยแพร่ในอดีต
   5. อาจพิจารณาขอความช่วยเหลือจากบุคคลอื่นเพื่อประกอบการพิจารณา โดยการสอบถามบนเว็บ บอร์ดหรือติดต่อสำนักข่าวที่น่าเชื่อถือให้ช่วยตรวจสอบ

ปัจจุบันหลายประเทศเริ่มตื่นตัวในการออกมาควบคุม โดยหลายประเทศมีนโยบายในการกำกับดูแลผู้ให้บริการสื่อสังคมให้มีความรับผิดชอบในการควบคุมการแพร่กระจายข่าวลวง ไม่ว่าจะเป็นการนำเนื้อหาที่เป็นข่าวลวงออกจากสื่อสังคม หากไม่ดำเนินการตามเงื่อนไขของกฎหมายจะถูกปรับหรือจำคุก ซึ่งสำหรับประเทศไทยได้มีกฎหมายควบคุม ผู้ใดที่ผลิตข่าวเท็จ บิดเบือน และเผยแพร่บนโซเชียลยังเข้าข่ายมีความผิดตาม พ.ร.บ. การกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ฯ มาตรา 14 ว่าด้วยการนำข้อความเท็จเข้าระบบคอมพิวเตอร์ อันก่อให้เกิดความเสียหาย สร้างความตื่นตระหนก กระทบต่อสังคม มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนผู้ส่งต่อข้อมูลเท็จนั้นโดยรู้อยู่แล้วว่าเป็นข้อมูลเท็จ ก็ถือว่ามีความผิดเท่ากับผู้กระทำผิดข้างต้นและมีอัตราโทษเช่นเดียวกัน ทั้งนี้หากข้อมูลนั้นทำให้บุคคล องค์กร หน่วยงาน เสื่อมเสียชื่อเสียง หรือถูกดูหมิ่นเกลียดชัง ก็ยังอาจจะได้รับโทษในความผิดฐานหมิ่นประมาท ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 326 มีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 2 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ


ที่มารูปภาพ
[1] http://www.okmd.tv/blogs/all-things-digital/fake-news

ข้อมูลอ้างอิง
[1] ข่าวลวง ปัญหาและความท้าทาย[อินเทอร์เน็ต]2561. (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: www.tci-thaijo.org
[2] ลักษณะของข่าวปลอมในประเทศไทยและระดับความรู้เท่าทันข่าวปลอมบนเฟซบุ๊กของผู้รับสารในเขตกรุงเทพมหานคร[อินเทอร์เน็ต]2561. (เข้าถึงเมื่อ 29 มกราคม 2563) เข้าได้จาก: www.tci-thaijo.org

เขียนโดย นางสาววรรณวจี สุจริตธรรม นักวิชาการ5 กองวิชาการ
พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน