ภาพจาก : https://revistasegurancaeletronica.com.br
ปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ผลผลิตตกต่ำ ต้นทุนการผลิตสูง ยังคงเป็นปัญหาหลักของเกษตรกรไทย เนื่องจากยังมีการจัดการแบบในอดีต คือ ใช้วิธีการเดินตรวจผลผลิตภายในแปลง จัดการแมลงโดยใช้สารเคมีเกินขนาด ใส่ปุ๋ยตามวันเวลาที่กำหนดโดยไม่คำนึงถึงปริมาณธาตุอาหารที่พืชจะได้รับ หากมีเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ผลิตภัณฑ์ที่ได้มาตรฐาน ลดต้นทุนการผลิต ลดเวลาในการทำงาน ลดจำนวนแรงงานลง ได้กำไรมากขึ้น สิ่งเหล่านี้จะช่วยพลิกชีวิตของเกษตรอีกหลายคน
เทคโนโลยีนี้เรียกว่า เกษตรอัจฉริยะ (Smart farming) เป็นการนำเอาเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาผสมผสานกับงานด้านการเกษตรเพื่อช่วยแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ซึ่งตั้งอยู่บนแนวคิดของการทำเกษตรที่เรียกว่าการเกษตรแม่นยำสูง (Precision Agriculture) เช่น การนำเอาข้อมูลภูมิอากาศ น้ำ ภาพถ่ายทางอากาศ หรือข้อมูลอื่น ๆ เข้ามาช่วยในการวิเคราะห์โดยอาศัยเซนเซอร์ การใช้โดรนตรวจสอบสภาพพื้นที่ช่วยในการเก็บข้อมูลแล้วนำเอาข้อมูลเหล่านั้นมาประมวลผลเพื่อการบริหารจัดการดูแลพื้นที่เพาะปลูก ทำให้เกษตรกรนั้นมีความพร้อมในการจัดเตรียมวัตถุดิบในการเพาะปลูก การเกษตรแม่นยำสูงจึงเป็นเทคโนโลยีที่เข้ามาตรวจสอบสภาวะที่ควบคุมไม่ได้ เช่น ฝน ฟ้า อากาศ โดยใช้หลักการระบบฟาร์มอัตโนมัติ เป็นระบบการจัดการปลูกพืชที่ใช้อุปกรณ์ IOT “(internet of things)” เช่น ระบบควบคุมการปิดเปิดน้ำที่สามารถตั้งเวลาเปิดปิดได้ตามต้องการตามสภาพอากาศ อุณหภูมิ และความชื้น โดยมีระบบเซนเซอร์ที่คอยตรวจวัดและส่งข้อมูลเหล่านั้นมายังสมาร์ทโฟน และยังสามารถควบคุมการทำงานเหล่านั้นผ่านแอปพลิเคชันบนสมาร์ทโฟนได้อีกด้วย โดรนเข้ามามีบทบาทในการทำเกษตรมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการหว่านปุ๋ย ฉีดพ่นสารเคมีจำกัดแมลงในนาข้าว การถ่ายภาพมุมสูง รวมไปถึงการตรวจโรคของพืช ข้อมูลเหล่านี้จะถูกนำมาคาดการณ์ผลผลิต และวางแผนการจัดการแปลงช่วยให้เกษตรกรเข้าถึงพื้นที่การเกษตรได้ง่ายขึ้น และทำงานได้อย่างปลอดภัย
เกษตรกรไร่อ้อย อำเภอภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ ได้นำเอาหลักการของการเกษตรแม่นยำสูงมาใช้จัดการไร่อ้อย โดยใช้ดาวเทียมควบคุมการเคลื่อนที่ของรถตัดอ้อยด้วยระบบ GPS การใช้ภาพถ่ายทางดาวเทียมวัดพื้นที่เพาะปลูก ระบุพิกัดแปลงอ้อยด้วยแท็บเล็ต ใช้โดรนดูการเติบโตของอ้อย เซนเซอร์เก็บข้อมูลสภาพอากาศแต่ละจุด พยากรณ์ผลผลิตด้วยแบบจำลองในปัจจุบันเทคโนโลยีเหล่านี้ได้ถูกนำมาใช้เพียงแค่กลุ่มเกษตรกรบางกลุ่มเท่านั้น เนื่องจากยังมีต้นทุนที่สูง ร่วมกับการเข้าถึงเทคโนโลยีของเกษตรกรยังมีข้อจัด เช่น การใช้สมาร์ทโฟนที่ทันสมัย ความรู้ในเรื่องของการใช้เทคโนโลยี ความยุ่งยากในการใช้เทคโนโลยีอาจทำให้เกษตรกรหลายคนหันกลับมาใช้การจัดการแบบในอดีต หากมีการให้ความรู้แก่เกษตรกรเกี่ยวกับเทคโนโลยี เช่น งบประมาณที่ใช้ในการลงทุนครั้งแรกอาจจะสูงแต่แลกมากับลดกำลังคน และเวลาในการทำงาน ผลิตภัณฑ์ที่ได้คุณภาพ และต้นทุนในการผลิตที่ลดลง เกิดผลดีในระยะยาว สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดแรงจูงใจในการใช้เทคโนโลยีการเกษตรมากขึ้นในอนาคต
ผู้เขียน : นายพชร การคนซื่อ
ที่มา