MARs 2020 ทศวรรษแห่งการสำรวจดาวอังคาร

MARs 2020 ทศวรรษแห่งการสำรวจดาวอังคาร

18-12-2021
MARs 2020 ทศวรรษแห่งการสำรวจดาวอังคาร

ดาวอังคาร เป็นดาวเคราะห์ดวงที่ 4 จากดวงอาทิตย์ในระบบสุริยะจักวาล ซึ่งมักจะถูกเรียกกว่าดาวเคราะห์สีแดง มนุษยชาติเริ่มสนใจดาวเคราะห์ดวงนี้จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1964 ยาน Mariner 4 ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) สามารถเดินทางถึงดาวอังคารและถ่ายภาพส่งกลับมายังโลก ทำให้เราได้เห็นภาพพื้นผิวของดาวอังคารเป็นครั้งแรก  หลังจากนั้นเราได้ส่งยานสำรวจขึ้นไปอีกมากมายที่สามารถลงจอดและถ่ายภาพจากพื้นผิวดาวอังคารสำเร็จ ทำให้เราค้นพบข้อมูลต่าง ๆ รวมถึงหลักฐานที่นำมาซึ่งสมมุติฐานถึงความเป็นไปได้ในการใช้ชีวิตบนบดาวอังคาร เช่น ร่องรอยของการไหลของแม่น้ำ ธารน้ำแข็ง ทะเลสาบใต้แผ่นน้ำแข็ง เป็นต้น

ความสนใจใคร่รู้ของมนุษยชาติยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น  เรายังทำการสำรวจดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการสร้างงานวิจัยและทดสอบบนโลก เพื่อนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมเหล่านั้นไปใช้บนดาวอังคาร เช่น การสร้าง 3D Printer ขนาดใหญ่ เพื่อนำดินมาใช้สร้างที่อยู่อาศัย การทดสอบปลูกพืชบนสภาพแวดล้อมจำลองของดาวอังคาร เป็นต้น ทำให้การสำรวจดาวอังคารไม่ใช่โครงการของประเทศใดประเทศหนึ่งเท่านั้น ภารกิจ MARs 2020 จึงเป็นแผนระยะยาวบนความร่วมมือขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) กับองค์การอวกาศยุโรป (ESA) เพื่อปฏิบัติภารกิจค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารและนำตัวอย่างดินพื้นผิวดาวอังคารกลับมาทำการวิจัยบนโลก

ภารกิจปี 2020 ส่งยานสำรวจขึ้นสู่อวกาศ

วันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ยานสำรวจที่มีชื่อว่า Perseverance ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศจากฐานทัพอากาศแหลมคานาเวอรัล รัฐฟลอริดา เพื่อเดินทางไปยังดาวอังคาร โดยจรวด Atlas V-541 ซึ่งเป็นจรวดเชื้อเพลิงเหลวที่ใหญ่ที่สุดในตระกูล Atlas และยังเป็นจรวดประเภทเดียวกันที่เคยส่งยานสำรวจ InSight และ Curiosity ในภารกิจสำรวจดาวอังคารก่อนหน้านี้มาแล้ว

img 1

จรวด Atlas V-541 ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศ

ภารกิจปี 2021  ลงจอดและเก็บตัวอย่างหินและดิน

หลังจากที่ยานสำรวจเดินทางอยู่ในอวกาศนาน 7 เดือน NASA คาดการณ์ว่าวันที่ 18 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เวลา 24.30 น. ตามเวลาของสหรัฐอเมริกา ยาน Perseverance จะสามารถแตะพื้นผิวอังคารได้ด้วยวิธีลงจอดที่มีชื่อว่า Sky Crane วิธีนี้จะใช้ยานหลักในการชะลอความเร็วด้วยเครื่องยนต์จรวด และปล่อยสายเคเบิลเพื่อส่งยาน Perseverance Rover ลงมาแตะพื้นผิวดาวอังคาร เพื่อเป็นการลดแรงกระแทกในการลงจอด

img 2

ส่วนประกอบของยาน Perseverance

img 3

ลักณะการลงจอดแบบ Sky Crane

ยาน Perseverance Rover เป็นหุ่นยนต์สำรวจที่ขับเคลื่อนด้วยพลังงานจากพลูโตเนียม ซึ่งเป็นแหล่งพลังงานนิวเคลียร์ โดย NASA คาดว่าจะใช้งานได้นานถึง 10 ปี ยาน Perseverance Rover เคลื่อนที่โดยใช้ล้อ 6 ล้อในการสำรวจพื้นผิวดาวอังคาร ใช้กล้อง 23 ตัวและตัวตรวจจับรวมถึงอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์อื่น ๆ เพื่อค้นหาหินหรือดินที่มีร่องรอยการเปลี่ยนแปลงจากสารอินทรีย์ซึ่งแสดงถึงสิ่งมีชีวิต หลังจากนั้นจะทำการขุดเจาะหินหรือดินดังกล่าวเพื่อนำตัวอย่างใส่ไว้ในแท่งโลหะขนาดเล็กและทิ้งไว้บนพื้นผิวดาวอังคาร หลังจากนั้นจะทำการสำรวจพื้นผิวอื่น ๆ ต่อไป 

img 4

ยาน Perseverance Rover

ภารกิจปี 2026 เก็บกู้ตัวอย่างส่งกลับมายังโลก

หลังจากที่ยาน Perseverance Rover ทำการทิ้งแท่งโลหะที่บรรจุตัวอย่างหินหรือดินไว้บนพื้นผิวดาวอังคาร ในปี ค.ศ. 2026 องค์การอวกาศยุโรป (ESA) จะทำการส่งยานเก็บกู้ตัวอย่างที่มีชื่อว่า Fetch Rover และคาดว่าจะเดินทางถึงดาวอังคารในปี ค.ศ. 2028 เพื่อทำการเก็บแท่งโลหะมาใส่ไว้ในภาชนะนิรภัยที่มีชื่อว่า Mars Ascent Vehicle (MAV) แล้วทำการยิงจรวดขึ้นสู่วงโคจรของดาวอังคารโดยยาน Lander ซึ่งมียานลำเลียงรออยู่  หลังจากนั้นยานลำเลียงจะทำการเดินทางกลับมายังโลก

img 5

ยานเก็บกู้ Fetch Rover และยาน Lander สำหรับยิงจรวดส่งตัวอย่าง

ภารกิจปี 2031 ตัวอย่างเดินทางมาถึงโลกเพื่อนำเข้าห้องวิจัย

หลังจากที่ยานลำเลียงได้รับ Mars Ascent Vehicle (MAV) เป็นที่เรียบร้อยแล้วจะทำการเดินทางกลับมายังโลกและส่งตัวอย่างลงมายังพื้นผิวโลกบริเวณทรีปอเมริกาเหนือ  และนำตัวอย่างหินและดินเข้าสู่ห้องวิจัย เพื่อวิเคราะห์แร่ธาตุและค้นหาร่องรอยของสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคาร

เห็นได้ว่ามนุษยชาติใช้เวลา เทคโนโลยี และทรัพยากรในการสำรวจอวกาศเป็นอย่างมาก  องค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ถูกนำมาใช้วิเคราะห์หาข้อมูลเพื่อไขข้อข้องใจ และตอบสนองความใคร่รู้ของเรา การสำรวจดาวอังคารไม่ได้เป็นเพียงการค้นหาดาวดวงใหม่สำหรับอยู่อาศัยของมนุษย์เท่านั้น  แต่ยังเป็นเครื่องเตือนใจและสร้างความตระหนักในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างรู้คุณค่าอีกด้วย

 

 

ที่มารูปภาพ :

[1] https://mars.nasa.gov/mars2020/timeline/launch/
[2] https://mars.nasa.gov/resources/25326/mars-2020-expanded-spacecraft-illustration/
[3] https://mars.nasa.gov/mars2020/timeline/landing/
[4] https://www.bbc.com/news/science-environment-53129281
[5] https://mars.nasa.gov/resources/24763/robotic-arm-transferring-tubes-from-fetch-rover-to-lander-artists-concept/

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

[1] Mars 2020 Perseverance Rover. (n.d.). Retrieved November 09, 2020, from https://mars.nasa.gov/mars2020/
[2] Launch. (n.d.). Retrieved November 09, 2020, from https://mars.nasa.gov/mars2020/timeline/launch/
[3] Concepts for Mars Sample Return. (2020, February 27). Retrieved November 09, 2020, from https://mars.nasa.gov/mars-exploration/missions/mars-sample-return/
[4] Amos, J. (2020, June 16). Europe pushes ahead with 'dune buggy' Mars rover. Retrieved November 09, 2020, from https://www.bbc.com/news/science-environment-53062617
[5] ดาวอังคาร: Mars 2020 กับภารกิจค้นหาร่องรอยสิ่งมีชีวิตโบราณบนดาวเคราะห์สีแดง. (n.d.). Retrieved November 09, 2020, from https://www.bbc.com/thai/features-53594226

เรียบเรียง: ธานี หลินลาโพธิ์
ตรวจทาน: วรรณวจี สุจริตธรรม 
                  วิจิตรา สุริยกุล ณ อยุธยา
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน