ปัญหาน้ำเน่าเสียในประเทศไทย

ปัญหาน้ำเน่าเสียในประเทศไทย

18-12-2021
ปัญหาน้ำเน่าเสียในประเทศไทย

ผู้ใหญ่หลายคนโชคดี ที่เติบโตมาในยุคสมัยที่เคยเห็นแม่น้ำลำคลองหลายแห่งในประเทศไทยยังใสสะอาด มองเห็นปลา กุ้ง เต่าว่ายไปมา แต่ทุกวันนี้แม่น้ำลำคลองหลายแห่งทั้งในเมืองหลวงและต่างจังหวัด มีความแตกต่างจากในอดีตอย่างชัดเจน ทั้งมีสีดำ ส่งกลิ่นเหม็นโชย กลายเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ลูกน้ำ ยุง และแมลงวันตอมของเน่าเสียที่อยู่ในแม่น้ำ ในที่สุดก็จะเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคในชุมชนนั้น สงสารเด็กรุ่นใหม่หลายคนที่โตมา ต้องเจอกับแม่น้ำลำคลองที่มีสภาพเป็นแบบนี้

ตามปกติแล้ว น้ำสะอาดในธรรมชาติทั่วไปจะมีปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (Dissolved Oxygen หรือเรียกย่อว่า DO) จะมีค่า DO ประมาณ 5 - 8 มิลลิกรัมต่อลิตร ถ้าค่า DO น้อยกว่า 3 มิลลิกรัมต่อลิตร ถือว่าเป็นน้ำเน่าเสีย ในประเทศไทยมีหน่วยงานที่ตรวจสอบคุณภาพแหล่งน้ำที่สำคัญ คือ สํานักจัดการคุณภาพน้ำ กรมควบคุมมลพิษ ได้ประเมินคุณภาพน้ำของแหลงน้ำผิวดินโดยทั่วไป หรือแหล่งน้ำจืดในแม่น้ำลำคลอง โดยใชดัชนีคุณภาพน้ำทั่วไป (WQI, Water Quality Index) ที่มีช่วงคะแนนจาก 0 ถึง 100 คะแนน แบ่งคะแนนเป็น 5 ระดับ ได้แก่

ช่วง 91–100 คะแนน ถือว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมาก
ช่วง 71-90 คะแนน จัดว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี
ช่วง 61-70 คะแนน จัดว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์พอใช้
ช่วง 31-60 คะแนน จัดว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรม
ช่วง 0-30 คะแนน จัดว่าคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์เสื่อมโทรมมาก
ซึ่งปัจจุบันนี้ ได้พิจารณาจาก 5 เกณฑ์ที่ผู้เชี่ยวชาญให้คะแนน โดยตรวจสอบวัดปริมาณค่าต่าง ๆ จากแหล่งน้ำนั้น ๆ ได้แก่
1. ปริมาณออกซิเจนที่ละลายในน้ำ (DO)
2. ปริมาณความสกปรกในรูปแบบสารอินทรีย์ (BOD, Biological Oxygen Demand)
3. ปริมาณการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มโคลิฟอร์มทุกชนิด (TCB, Total Coliform Bacteria)
4. ปริมาณการปนเปื้อนของแบคทีเรียกลุ่มฟีคอลโคลิฟอร์ม (FCB, Fecal Coliform Bacteria)
5. ปริมาณแอมโมเนียที่มาจากปุ๋ยเคมีการเกษตร การขับถ่าย อาหารสัตว์น้ำ
ตัวอย่างการรายงานคุณภาพแหล่งน้ำในประเทศไทย ปี 2559 กรมควบคุมมลพิษได้รายงานการตรวจสอบแหล่งน้ำทั่วประเทศไทย 65 แห่ง จากจุดตรวจวัดคุณภาพน้ำ 366 จุดในประเทศ ดำเนินการตรวจวัด 4 ครั้ง ตั้งแต่เดือนมกราคม - ธันวาคม 2558 พบว่า คุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดีมีร้อยละ 34 , คุณภาพน้ำพอใช้ มีร้อยละ 41 และคุณภาพน้ำอยู่ในสภาพเสื่อมโทรม มีถึงร้อยละ 25 แต่ในรายงานของปี 2562 โดยกรมควบคุมมลพิษ ได้กล่าวถึง ภาพรวมของแหล่งน้ำในประเทศไทยที่สำรวจปี 2561 อยู่ในเกณฑ์ที่ดีขึ้น มีแหล่งน้ำที่มีดัชนีคุณภาพน้ำอยู่ในเกณฑ์ดี ร้อยละ 45, คุณภาพน้ำพอใช้ มีร้อยละ 43 และคุณภาพน้ำเสื่อมโทรม มีร้อยละ 12
สาเหตุที่ทำให้แม่น้ำลำคลองกลายเป็นน้ำเน่าเสีย มาจาก 3 แหล่ง ดังนี้
1. แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากชุมชน (Domestic Wastewater) ได้แก่
- การทิ้งขยะลงแม่น้ำลำคลองอยู่เป็นประจำ เช่น กล่องนม หรือถุงขนมที่มีเศษอาหาร หลอด ขวดน้ำ เสื้อผ้าใช้แล้ว ผ้าอ้อมสำเร็จรูป ทิ้งซากสัตว์ตาย เป็นต้น หรือแม้กระทั่งแหล่งน้ำอยู่ใกล้บริเวณที่ทิ้งขยะจำนวนมาก สามารถปลิวไปตามลมแล้วตกลงมาในแม่น้ำลำคลองได้ เช่น ถุงพลาสติก เศษกระดาษ เป็นต้น หากมีขยะในแหล่งน้ำปริมาณสูงมาก จะทำให้เกิดการหมักหมมและก่อให้เกิดสารพิษในแหล่งน้ำได้ รวมถึงเป็นแหล่งอาหารของแมลงสาบ หนู และแมลงวัน ที่จะกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อโรคลงในแม่น้ำ
- การปล่อยน้ำเสียจากอาคารบ้านเรือน ที่ปล่อยน้ำทิ้งจากการซักผ้า ซึ่งมีปริมาณฟอสเฟตที่เป็นแร่ธาตุมีอยู่ผงซักฟอกทั่วไป ทำให้พืชเจริญเติบโตปกคลุมน้ำเป็นจำนวนมาก จึงทำให้ออกซิเจนในอากาศไม่สามารถละลายน้ำได้ ทำให้น้ำเสีย และสัตว์น้ำก็ตายลง และร้านค้าปล่อยน้ำทิ้งที่มีคราบไขมันปนกับเศษอาหาร โดยเฉพาะคราบไขมันที่สะสมจะลอยปกคลุมผิวน้ำ จะทำให้ออกซิเจนในอากาศ ไม่สามารถละลายน้ำได้ น้ำจึงเน่าเสีย
2. แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากอุตสาหกรรม (Industrial Wastewater) ได้แก่ การปล่อยน้ำทิ้งจากโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งปนเปื้อนสารเคมีต่าง ๆ เช่น กากน้ำตาล สารย้อมผ้า เป็นต้น
3. แหล่งน้ำเสียที่เกิดจากเกษตรกรรม (Agricultural Wastewater) ได้แก่ การระบายน้ำจากเรือกสวนไร่นา ที่มีการปนเปื้อนสารเคมีจากการเกษตร เช่น ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช และปุ๋ยเคมี ลงสู่แม่น้ำลำคลอง
จากสาเหตุดังกล่าวข้างต้น จะพบว่า มนุษย์มีส่วนที่ทำให้เกิดน้ำเน่าเสียมาจากการขาดจิตสำนึก และขาดความตระหนักในการรักษาสิ่งแวดล้อม เพื่อให้แหล่งน้ำดำรงไว้ซึ่งความงามตามธรรมชาติ หากหน่วยงานใหญ่ ๆ, บริษัทที่มีส่วนเกี่ยวข้อง, โรงงานอุตสาหกรรม และประชาชนทุกคนในชุมชนต่าง ๆ ยังไม่เห็นความสำคัญในการนำความรู้ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม มาช่วยบูรณาการร่วมกัน เพื่อแก้ไขปัญหาและบำบัดแม่น้ำลำคลองหลายแห่งในประเทศไทย ที่กำลังจะเน่าเสียเปลี่ยนจากแหล่งน้ำใสสะอาด กลายเป็นแหล่งน้ำสีดำ ซึ่งในที่สุดแล้วแหล่งน้ำเหล่านั้นก็จะไม่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ไม่ว่าทั้งทางตรง เช่น การดื่ม การอาบ การปรุงอาหาร การรดน้ำต้นไม้ และทางอ้อมที่ใช้เป็นแหล่งสัญจรทางน้ำ เป็นแหล่งตลาดน้ำสำหรับค้าขาย เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจสำหรับการท่องเที่ยวของคนในชุมชนได้ ดังนั้น ในปัจจุบันนี้ ปัญหาสำคัญในการรักษาแม่น้ำลำคลองให้สะอาด ยังคงเป็นสิ่งที่ใกล้ตัวทุกคน แต่กลับเพิกเฉยมองข้ามไปอย่างน่าเสียดาย ควรรีบหาแนวทางหรือมาตรการลงมือแก้ไขปัญหาก่อนที่จะสายเกินไป และชุมชนใดมีแนวทางรักษาแหล่งน้ำให้สะอาดอยู่แล้ว ควรสร้างมาตรฐานนั้นให้เข้มแข็งเป็นภารกิจของชุมชนต่อไป ถ้าสามารถขยายแนวทางปฏิบัติและเผยแพร่องค์ความรู้สู่ชุมชนอื่น ๆ ด้วย จะเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง

ที่มา:
กรมควบคุมมลพิษ (2553). คู่มืออาสาสมัครเฝ้าระวังและติดตามตรวจสอบคุณภาพน้ำอย่างง่าย [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://iwis.pcd.go.th/officer/document/download/5/5.pdf (เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562).
กรมควบคุมมลพิษ (2562 ก). ค่าคะแนนรวมของคุณภาพน้ำ 5 พารามิเตอร์ (การคํานวณค่า WQI แบบใหม่) [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://iwis.pcd.go.th/module/wqi_calculate/wqi.pdf (เมื่อวันที่ 30 มิถุนายน 2562).
กรมควบคุมมลพิษ (2562 ข). คู่มือสําหรับการทํากิจกรรมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมแม่น้ำ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://infofile.pcd.go.th/water/Water_manualGEC.pdf?CFID=1787676&CFTOKEN=39324425 (เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562).
กรมควบคุมมลพิษ (2562 ค). สรุปสถานการณ์มลพิษของประเทศไทย ปี 2561 [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.pcd.go.th/file/Thailand%20Pollution%20Report%202018_Thai.pdf (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562).
ไทยรัฐ (2559). แฉแหล่งน้ำไทย 25% คุณภาพเสื่อมโทรม [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.thairath.co.th/content/590331 (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562).
มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ (2562). ผงซักฟอก [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://web.ku.ac.th/schoolnet/snet5/topic8/powder.html (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562).

ศูนย์วิจัยสุขภาพกรุงเทพ (2562). ผงซักฟอก [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.bangkokhealth.com/health/article/ผงซักฟอก-1631 (เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม 2562).
Scienceanalys (2562). ความรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการวัดค่าออกซิเจนในน้ำ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://www.scienceanalys.com/index.php?lite=article&qid=41934738 (เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562).
ThaiEnvironmentBlog (2560). น้ำเสียและแหล่งกำเนิดน้ำเสีย [ออนไลน์]. สืบค้นจาก http://thaienvironmentblog.com/wastewater-source-of-wastewater/ (เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2562).

ผู้เขียน: ดร.สุเมธ อาวสกุลสุทธิ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน