ผึ้งกับช้าง...สู่การอยู่ร่วมกันของเกษตรกรไทยและช้างป่า

ผึ้งกับช้าง...สู่การอยู่ร่วมกันของเกษตรกรไทยและช้างป่า

17-12-2021
ผึ้งกับช้าง...สู่การอยู่ร่วมกันของเกษตรกรไทยและช้างป่า

เรามักจะได้เห็นข่าวช้างป่าเข้ามากิน หรือทำลายผลิตผลทางการเกษตรอยู่หลายครั้ง เกษตรกรจึงพยายามปกป้องผลิตผลของตนจนเกิดเรื่องน่าเศร้าขึ้นมากมายเหตุการณ์เช่นนี้ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น เคนย่าก็เป็นอีกประเทศหนึ่งที่เกษตรกรต้องรับมือกับเหล่าช้างป่าเช่นกัน

ดร. ลูซี่ คิง นักสัตววิทยาชาวอังกฤษ และทีมวิจัยในประเทศเคนย่า นำความรู้ด้านพฤติกรรมวิทยาของช้างมาใช้ประโยชน์ โดยสนใจพฤติกรรมการหวาดกลัวของช้างที่มีต่อผึ้งผิวหนังของช้างหนาจนเหล็กในของผึ้งไม่อาจทำอันตรายได้ แต่ทำไมช้างจึงกลัวผึ้งตัวเล็ก ๆ นั่นเพราะดวงตา ใบหู และปลายงวงของช้างเป็นส่วนที่บอบบาง เมื่อส่วนเหล่านี้
ถูกผึ้งต่อยจะทำให้เกิดการกลัว และเกิดการจดจำ อีกทั้งช้างเป็นสัตว์สังคมที่มีอายุยืน จึงมีพฤติกรรมการถ่ายทอดประสบการณ์ต่าง ๆ ให้กับโขลง โดยเฉพาะประสบการณ์จาก
การบาดเจ็บ

ทีมวิจัยดังกล่าวจึงจัดตั้งโครงการ Elephant and Bee Project เพื่อระดมทุนสร้างรั้วรังผึ้ง ซึ่งในเวลานั้นได้รับเงินจากกองทุน Disney และ กองทุน Save the Elephants โดยทดลองติดตั้งรังผึ้งจริงและรังผึ้งเปล่าปนกันรอบบริเวณเพาะปลูก จากการทดลองพบว่ารั้วรังผึ้งสามารถป้องกันผลิตผลทางการเกษตรจากโขลงช้างป่าได้ดี ทั้งยังสร้างรายได้เพิ่มให้แก่เกษตรกรจากการเก็บน้ำผึ้งขาย และราคาถูกกว่ารั้วไฟฟ้าถึง 5 เท่า ทำให้โครงการได้รับความสนใจ มีการนำรั้วรังผึ้งไปใช้ในพื้นที่การเกษตร 11 ประเทศในทวีปแอฟริกา และ 4 ประเทศในทวีปเอเชีย ซึ่งประเทศไทยก็เป็นหนึ่งในนั้น

bee

สถานีวิจัยสัตว์ป่าภูหลวง อ.ภูเรือ จ.เลย ได้มีการประสานงานกับทีมวิจัยในประเทศเคนย่า และทดลองนำรั้วรังผึ้งมาใช้ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2558 พบว่ารั้วรังผึ้งสามารถปกป้องพื้นที่
เพาะปลูกจากช้างป่าได้ดี อีกทั้งเกษตรกรยังมีรายได้จากการเก็บน้ำผึ้งขาย โดยรังผึ้ง 1 รังสามารถให้ผลผลิตน้ำผึ้ง 6-7 กิโลกรัม กิโลกรัมละ 500-600 บาท ซึ่งนับว่าเป็นเรื่อง
ที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ทำให้สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารีมีพระดำริให้สนับสนุนการนำรั้วรังผึ้งมาใช้ เพื่อให้เกษตรกรสามารถอยู่ร่วมกับช้างป่าได้โดยไม่ทำร้าย
ซึ่งกันและกัน ปัจจุบันประเทศไทยมีการนำรั้วรังผึ้งมาใช้ในหลายพื้นที่เช่น พื้นที่การเกษตร อ.แก่งหางแมว จ.จันทบุรี เป็นต้น

ที่มา : 
http://elephantsandbees.com/
www.savetheelephants.org/project/elephants-and-bees/
https://www.seub.or.th
www.bangkokpost.com/learning/advanced/1288730/beehive-fence-stops-attacks-by-hungry-elephants
www.dailynews.co.th/politics/353943

เรียบเรียงโดย : ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ นักวิชาการ กองพัฒนากิจกรรม

ข่าวสารที่่คล้ายกัน