World Water Day 2020
วันน้ำโลก - น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
“Water can help fight climate change.
There are sustainable, affordable and scalable water and sanitation solutions.”
“น้ำ ช่วยต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้อย่างยั่งยืน
เมื่อมีการจัดการที่ถูกต้องตามหลักสุขอนามัย อย่างทั่วถึงและเพียงพอ”
หากเรากล่าวถึงคำว่า น้ำ หลายท่านคงรู้จักและตระหนักถึงความสำคัญของน้ำเป็นอย่างดี เพราะน้ำมีความสำคัญต่อการดำรงอยู่ของสิ่งมีชีวิตทั้งปวงบนโลกใบนี้ และยังเป็นองค์ประกอบสำคัญต่อการเกิดลมฟ้ากาศและภูมิอากาศของโลก เชื่อหรือไม่ว่า โลกและร่างกายของมนุษย์ประกอบด้วยน้ำมากถึง 70 % หรือ ราว 3 ใน 4 ส่วน เหมือน ๆ กัน โดยหากมีปริมาณน้ำมากหรือน้อยกว่า ทั้งโลกและร่างกายของเราอาจเกิดความผิดปกติขึ้นได้
จากความสำคัญของน้ำ สหประชาชาติ (United Nations – UN) ได้มีการจัดประชุมเรื่องสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ที่เมืองริโอ เดอ จาเนโร ประเทศบราซิล ในวันที่ 22 มีนาคม ค.ศ.1992 และได้กำหนดให้วันที่ 22 มีนาคม ของทุกปี เป็น “วันน้ำโลก (World Water Day)” เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักรู้ถึงปัญหาเรื่องน้ำและเพื่อให้ประชากรของโลกได้มีโอกาสเข้าถึงน้ำที่สะอาดและปลอดภัย มีหลักการสุขอนามัยและกระตุ้นการตื่นตัวของมนุษย์ชาติในการอนุรักษ์ พัฒนาแหล่งน้ำ และการจัดการน้ำอย่างยั่งยืนสำหรับอนาคต ในปี ค.ศ. 2020 สหประชาชาติได้กำหนดหัวข้อหลักประจำปีนี้ คือ “Water and Climate Change หรือน้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” เพื่อแสดงให้เห็นว่า น้ำมีผลกระทบหรือมีส่วนช่วยอย่างไรกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ปัจจุบันนี้ได้ส่งผลกระทบอย่างมากต่อทุก ๆ สิ่งมีชีวิตในโลก
น้ำมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศอย่างไร หากมองให้ลึกอย่างถ่องแท้ จะเห็นได้ว่าทั้งสองอย่างนี้แยกจากกันแทบไม่ออก คุณลองจินตนาการถึงระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจากธารน้ำแข็งที่กำลังละลาย และอุณหภูมิของน้ำในมหาสมุทรที่กำลังเพิ่มสูงขึ้น สามารถส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศอย่างรุนแรง ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้จะส่งผลกระทบในระยะยาวโดยอาจจะทำให้กระแสน้ำอุ่นกัลฟ์สตรีมในมหาสมุทรแอตแลนติกไหลช้าลง เปลี่ยนทิศทาง หรือ หยุดไหล ซึ่งจะส่งผลกระทบอย่างมากทั่วโลกทำให้ระบบการไหลเวียนของน้ำในมหาสมุทรผิดปกติ อีกทั้งการเพิ่มขึ้นอย่างผิดปกติของอุณหภูมิบริเวณผิวน้ำในมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันออก ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทิศทางของกระแสอากาศและกระแสน้ำในมหาสมุทร ก่อให้เกิดปรากฏการณ์ เอลนีโญ – ลานีญา ส่งผลให้เกิดฝนตกหนักหรือแห้งแล้งมากในบางพื้นที่ หรือแม้กระทั่งการปล่อยก๊าซมีเทนจากมหาสมุทรตามธรรมชาติ ยังเป็นการเพิ่มก๊าซมีเทนในบรรยากาศ และส่งผลให้โลกร้อนขึ้น จะเห็นได้ว่า น้ำมีส่วนในทุกวัฏจักร หากระบบน้ำเกิดความไม่สมดุล ย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศอื่น ๆ ได้อย่างชัดเจน
ภายใต้หัวข้อ “Water and Climate Change น้ำและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ” ในปีนี้ ทางสหประชาชาติ ได้รณรงค์การอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำให้อยู่กับเราอย่างยั่งยืนและการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพ โดยพวกเราทุกคนมีส่วนร่วมในการช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ บนใจความหลัก ว่า “เรารอไม่ได้” โดยมีนโยบายเชิงปฏิบัติการที่ให้ความความสำคัญเกี่ยวกับทรัพยากรน้ำ และน้ำสามารถช่วยเราต่อสู้กับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้ เช่น เพิ่มพื้นที่ชุ่มน้ำเพื่อการดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เป็นสาเหตุของภาวะเรือนกระจก ปลูกพืชที่ป้องกันน้ำท่วมและลดการพังทลายของหน้าดิน กักตุนน้ำฝนไว้สำหรับหน้าแล้ง มีการบำบัดน้ำเสียให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ได้ วิถีเกษตรแม่นยำ เช่น ใช้เทคโนโลยีในการตรวจสอบสภาพอากาศ ดิน น้ำ เพื่อวางแผนและลดการสูญเสียทรัพยากรอย่างไม่จำเป็น เป็นต้น และสุดท้ายพวกเราที่ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำได้อย่างง่าย ๆ เช่น การใช้น้ำอย่างประหยัด ช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์โดยใช้สินค้าที่มาจากการผลิตที่ยั่งยืน มีฉลากคาร์บอนฟุตพริ้นท์ (Carbon footprint) ซึ่งเป็นฉลากที่แสดงถึงปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาจากผลิตภัณฑ์แต่ละหน่วย ตลอดวัฏจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ เริ่มตั้งแต่การขนส่ง การประกอบเป็นชิ้นส่วน การใช้งาน จนกระทั่งถึงการจัดการซากผลิตภัณฑ์หลังการใช้งาน โดยทำการคำนวณออกมาในรูปของคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่าต่อหน่วยผลิตภัณฑ์
นอกเหนือจากวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศแล้ว “วิกฤตน้ำกับภัยแล้ง” ก็ยังคงเป็นสิ่งที่ประชากรบนโลกนี้ยังคงต้องเผชิญอย่างต่อเนื่อง รวมไปถึงประเทศไทย จากรายงานสถานการณ์น้ำในไทย หลายพื้นที่ยังคงขาดแคลนน้ำและมีแนวโน้มที่รุนแรงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ สภาพภูมิอากาศและระดับน้ำทะเล จึงเกิดการขาดแคลนน้ำพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่งเป็นเวลานาน ส่งผลกระทบต่อชุมชนการเกษตรและแหล่งน้ำ เนื่องจากประเทศไทยเป็นประเทศเกษตรกรรม ภัยแล้งจึงส่งผลอย่างมากต่อกิจกรรมทางการเกษตร เช่น พื้นดินขาดความชุ่มชื้น พืชขาดน้ำ พืชชะงักการเจริญเติบโต ผลผลิตที่ได้มีคุณภาพต่ำและผลผลิตลดลง นอกจากนั้น หนึ่งในปัญหาที่ใกล้ตัวเราที่สุด คือ ปัญหาน้ำประปาเค็ม เป็นผลมาจากการขาดการบริหารจัดการ และการรุกล้ำของน้ำทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี จึงทำให้น้ำซึ่งเป็นต้นทุนที่นำมาใช้อุปโภคบริโภคและผ่านกระบวนการผลิตน้ำประปามีความเค็มกว่ามาตรฐาน
ในภาวะภัยแล้งที่กำลังจะคืบคลานเข้าสู่ประเทศไทยในช่วงฤดูร้อนที่กำลังจะถึงนี้ รศ.ดร.เสรี ศุภราทิตย์ ผู้อำนวยการศูนย์การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศและภัยพิบัติ มหาวิทยาลัยรังสิต ได้ให้คำแนะนำเกี่ยวกับวิกฤตภัยแล้งเพื่อให้คนไทยได้รับรู้ ตระหนักและเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยเริ่มจากใกล้ตัวก่อน ประเมินการใช้น้ำของตนเองและพยายามลดการใช้น้ำหรือสำรองน้ำไว้ใช้ในครัวเรือน ในส่วนของภาครัฐ ควรมีการประชาสัมพันธ์และให้ข้อมูลแก่ประชาชน เพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงผลกระทบที่จะได้รับหากขาดน้ำ และช่วยกันบริการจัดการน้ำ มิเช่นนั้น วิกฤตนี้ย่อมส่งผลกระทบต่อน้ำกินน้ำใช้ของเราทุกคน หากเราอยู่ในพื้นที่เสี่ยง ควรจัดเก็บน้ำ และใช้น้ำอย่างประหยัด หากประสบปัญหาน้ำประปาเค็ม ให้แจ้งไปยังประปาฯ และสามารถแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เช่น แจกน้ำให้ประชาชน ขุดเจาะน้ำบาดาล สร้างศูนย์จ่ายน้ำ จัดทำฝนเทียม หรือการแก้ปัญหาระยะยาว โดยพัฒนาลุ่มน้ำ เช่น สร้างฝาย เขื่อน ขุดลอกแหล่งน้ำ รักษาป่าและปลูกป่า ให้ความร่วมมือ และมีส่วนร่วมมือในการจัดทำและพัฒนาชลประทาน
เมื่อน้ำไม่ได้ใช้เพื่อการอุปโภคบริโภคเท่านั้น ทรัพยากรน้ำยังมีผลกระทบอย่างมากต่อสิ่งมีชีวิตอื่น เราหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ประชาชนทุกคนจะร่วมตระหนักถึงความสำคัญในจุดนี้และเตรียมพร้อมรับมือกับวิกฤตที่จะเกิดขึ้น เพื่อให้เรามีน้ำที่มีคุณภาพใช้กันไปได้อีกยั่งยืนนาน
ภาพจาก: 1. https://www.un.org/en/observances/water-day
2. https://unsplash.com/photos/TpjJ7ZtCqoM
ที่มา : 1. WATER AND CLIMATE CHANGE: WHAT DO WE MEAN?. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://www.worldwaterday.org/ [11 มีนาคม 2563]
2. Unwater. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://www.unwater.org/ [11 มีนาคม 2563]
3. อนุวัตน์ เดชธำรงวัฒน์. 2020. Water crisis วิกฤตน้ำ รับมือได้. FRESH [นิตยสาร], 20 (1), 12-16.
4. ผลกระทบของภาวะโลกร้อน. [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.greenpeace.org/thailand/explore/protect/climate/impacts/ [20 มีนาคม 2563]
5. ภัยแล้ง (Drought). [ออนไลน์], แหล่งที่มา: https://www.tmd.go.th/info/info.php?FileID=71 [20 มีนาคม 2563]
คำค้น : World Water Day, วันน้ำโลก, น้ำ, Climate change, การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
ผู้เขียน : นางสาวศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง