ทำพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต : เรียนรู้จาก สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย

ทำพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต : เรียนรู้จาก สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย

14-12-2021
ทำพิพิธภัณฑ์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต : เรียนรู้จาก สถาบันวิทยาศาสตร์แคลิฟอร์เนีย

อานุภาพ สกุลงาม

   แนวคิดเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) เกิดขึ้นเมื่อ30ปีที่ผ่านมา ภายใต้ความพยายามของ OECD UNESCO และสภายุโรป (Council of Europe) เป็นการสนองต่อความบกพร่องที่เกิดขึ้นในอดีต ในขณะที่บุคคลเรียนรู้ตลอดเวลายังมีชีวิต โอกาสทางการศึกษามีขีดจำกัดในช่วงเริ่มแรกของชีวิตที่ครอบงำจากระบบการศึกษาอย่างเป็นทางการ (Formal Education) จึงมีความจำเป็นที่จะให้โอกาสที่สอง แก่คนที่ไม่ได้รับโอกาสทางการศึกษา พิพิธภัณฑ์ และ ศูนย์วิทยาศาสตร์ เป็นรูปแบบหนึ่งที่ส่งเสริมการเป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต เพราะทุกกลุ่มคน ทุกวัยสามารถเข้าไปใช้บริการจากพิพิธภัณฑ์เหล่านั้นได้

   ขณะที่ทุกพิพิธภัณฑ์ ทุกศูนย์วิทยาศาสตร์ ทำหน้าที่ของตัวเองในตำแหน่ง “แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต” ทั้งรู้ตัวและไม่รู้ตัว แต่เชื่อว่าปัญหาสำคัญของทุกองค์กรที่ทำงานด้านนี้ยังจับต้นชนปลายไม่ถูกว่า เราเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตอย่างไร เราควรปฏิบัติอย่างไร และแนวทางใดคือหนทางที่แหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตควรดำเนินการ ดร. เกรกอรี่ ฟาร์ริงตัน (Dr.Gregory Farrington) ผู้อำนวยการบริหารกิตติคุณ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย (Executive Director Emeritus, California Academy of Science) และเป็นอดีตผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย ถึง 7 ปี (ค.ศ.2007-ค.ศ.2014) มีโอกาสเยือนเมืองไทยและได้มาบรรยายพิเศษเกี่ยวกับแนวคิดการทำพิพิธภัณฑ์และศูนย์วิทยาศาสตร์ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในวันที่ 24 มีนาคม พ.ศ.2558 สิ่งที่จะได้อ่านต่อไปนี้ คือสาระสำคัญที่ ดร.เกรกอรี่ บรรยายพิเศษในหัวข้อ “การจัดกิจกรรมเพื่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต” โดยผู้เขียนได้สืบค้นข้อมูลเพิ่มเติมประกอบการเขียน และเรียบเรียงใหม่ เพื่อให้เนื้อหามีความสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น

ดร.เกรกอรี่ ฟาร์ริงตัน ผู้อำนวยการบริหารกิตติคุณ 
สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย 
ภาพจาก www.calacademy.org

ความเป็นมา : สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย
   ในโลกศตวรรษที่21 สาขาทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสาขาหนึ่งนั่นคือ ชีววิทยา ซึ่งเป็นวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิต สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย (California Academy of Science) ทำหน้าที่ส่งเสริมวิทยาการทางด้านชีววิทยาที่ผ่านมาในอดีต เพื่อส่งต่อสู่คนรุ่นปัจจุบัน และวิจัยพัฒนาเพื่อการดำรงชีวิตอย่างยั่งยืนในอนาคต ความรู้ทั้งหมดถูกส่งผ่านในรูปแบบพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ท้องฟ้าจำลอง (Planetarium) พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำ (Aquarium) และป่าฝนเขตร้อน (Rainforest) รวมถึงชุดโปรแกรมทางการศึกษาอีกมากมาย ภายในอาคารสถาบัน

สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย ตั้งอยู่ภายในสวนสาธารณะโกลเด้นเกท (Golden Gate Park) 
   เมืองซานฟรานซิสโก มลรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา ก่อตั้งในปี ค.ศ.1853 ในชื่อ สถาบันธรรมชาติวิทยาแห่งแคลิฟอร์เนีย (California Academy of Natural Sciences) ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อเป็น สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย ในปี ค.ศ.1868 พิพิธภัณฑ์แรกได้เปิดให้บริการเป็นครั้งแรกในปี ค.ศ.1874 บริเวณถนนดูปองค์ ในนครซานฟรานซิสโก ซึ่งมีผู้เข้ามชมในปีแรกถึง 80,000 คน และเพื่อรองรับการให้บริการที่ขยายตัวมากขึ้น สถาบันฯจึงเปิดอาคารใหม่ที่ถนนมาร์เกตในปี ค.ศ.1891 สถาบันเปิดดำเนินการเรื่อยมาจนปี ค.ศ.1906 เกิดแผ่นดินไหวใหญ่ที่ซานฟรานซิสโก อาคารสถาบันและพิพิธภัณฑ์ทั้งหมดพังทลาย สถาบันจึงไปสร้างอาคารใหม่ที่สวนสาธารณะโกลเด้นเกทในปี ค.ศ.1916

   จนกระทั่งในปี ค.ศ.1989 เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่อีกครั้ง อาคารสถาบันเสียหายมากจึงทำการทุบอาคารเดิมทิ้งและสร้างใหม่ โดยได้รับเงินสนับสนุนจากประชาชนในซานฟรานซิสโกซึ่งใช้งบประมาณในการสร้าง 500 ล้านเหรียญสหรัฐ จนกระทั่งปี ค.ศ.2005 สถาบันได้สร้างอาคารใหม่บริเวณพื้นที่เดิม อาคารใหม่ในครั้งนี้เป็นอาคารสีเขียว (Green Building) ออกแบบโดยสถาปนิก เรนโซ เปียโน (Renzo Piano) ที่ถือเป็นมาตรฐานการก่อสร้างอาคารแบบใหม่โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และมาตรฐานการรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม

125

(ซ้าย) อาคาร สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียในปี ค.ศ.2003 สองปีก่อนการสร้างอาคารใหม่ (Green Building) 
ภาพจาก http://en.wikipedia.org/wiki/File:California_Academy_of_Sciences2003.JPG (ขวา) อาคารสีเขียวหลังใหม่ที่ทำการปัจจุบันของ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย ภาพจาก www.calacademy.org 

   อาคาร สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย มีความพิเศษ นอกเหนือจากสถาปัตยกรรมที่ผสานระหว่างธรรมชาติและการดำเนินชีวิตของคน อาคารหลังนี้ยังมีพื้นที่การใช้งานที่สมบูรณ์แบบ ทั้งในด้านขนาดและการจัดวางผังภายในอาคาร บนหลังคาของอาคารสถาบันฯ เป็นลักษณะเนินสามเนิน ซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นหลังคาที่มีชีวิต เพราะมีการปลูกพืชพรรณท้องถิ่นในแคลิฟอร์เนีย เนินทั้งสามเนินสัมพันธ์กับการจัดแสดงภายในอาคารของสถาบัน

   โดยเนินทางซ้ายมือคือส่วนที่นูนขึ้นเพื่อรองรับโครงสร้างของท้องฟ้าจำลอง (Planetarium) เนินทางขวามือเป็นส่วนของป่าฝนเขตร้อน (Rainforest) ที่บนหลังคาประกอบไปด้วยหน้าต่างที่มีประโยชน์มากกว่าความสวยงาม เพราะบนหน้าต่างติดตั้งเซนเซอร์เพื่อตรวจจับปริมาณน้ำฝน ความเร็วลม และอุณหภูมิ ที่จะช่วยปรับอุณหภูมิที่เหมาะสมสำหรับการจัดแสดงป่าฝนเขตร้อนที่อยู่ด้านล่างของอาคาร บนหลังคาหรือดาดฟ้าของอาคารปลูกพืชพื้นถิ่นของแคลิฟอร์เนีย และยังปลูกพืชพรรณและต้นไม้ต่างๆ เพื่อสร้างเป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์เล็กๆอย่างนกและแมลง ที่สำคัญยังเป็นพื้นที่การเรียนรู้สำหรับคนทุกกลุ่มตั้งแต่การใช้พื้นที่หลังคาในการดูดาว รวมถึงการสังเกตชีวิตเล็กๆ ในธรรมชาติอย่างเช่นผึ้งหรือนก

126

127

(ภาพซ้าย) เนินทางขวามือบนหลังคาของอาคารสถาบันฯ เป็นหน้าต่างที่สามารถตรวจจับ อุณหภูมิ ปริมาณฝน และความเร็วลมเพื่อรักษาสภาพอากาศ ป่าฝนเขตร้อน ซึ่งจัดเป็นนิทรรศการด้านล่างของอาคาร (ภาพขวา) ภาพมุมสูงของอาคารสถาบันฯ เห็นเนินสามเนิน และทุ่งหญ้าสีเขียวที่รวบรวมพืชท้องถิ่นของแคลิฟอร์เนียไว้บนหลังคา ทั้งสองภาพจาก www.calacademy.org

   นอกจากนี้ยังมีพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา ในชื่อ พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาคิมบอล (Kimball Natural History Museum) ที่เล่าเรื่องการเคลื่อนไหวของเปลือกโลก ฟอสซิลของมนุษย์โบราณและการปรับตัวในสภาพแวดล้อมที่เลวร้าย นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลเรื่องการดำรงชีวิตของสิ่งมีชีวิต และนิทรรศการที่แสดงให้เห็นถึงกระบวนการของวิวัฒนาการและความหลากหลายทางชีวภาพ และ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำในชื่อ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสไตน์ฮาร์ท (Steinhart Aquarium) เป็นพิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำที่รวบรวมสัตว์ทะเลกว่า 900 สายพันธุ์ ปะการังจากทุกมุมโลก และทำการวิจัยเกี่ยวกับความหลากหลายทางชีวภาพทางทะเล

   ภายในอาคารสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียไม่ได้ติดตั้งระบบปรับอากาศ เพราะสภาพภูมิอากาศทั่วไปของซานฟรานซิสโกไม่ร้อน หรือ หนาวจัด ขณะที่หน้าต่างบนหลังคาก็สามารถเปิดปิดอัตโนมัติสัมพันธ์กับสภาพภูมิอากาศภายนอก จึงทำให้มีการไหลเวียนของอากาศภายในอาคารอยู่ตลอดเวลา เมื่อเดินเข้าไปในอาคารสถาบันๆ ผู้ชมสามารถเลือกเดินไปที่ท้องฟ้าจำลอง หรือป่าฝนเขตร้อนได้ทันที

128

129

130

(จากบนลงล่าง) ภายในท้องฟ้าจำลองมอร์ริสัน / พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาคิมบอล เล่าถึงกระบวนการของวิวัฒนาการและความหลากหลายทางชีวภาพ / พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำสไตน์ฮาร์ท ที่รวบรวมสัตว์ทะเลกว่า 900 สายพันธุ์ ภาพทั้งหมดจาก www.calacademy.org


สำรวจ อธิบาย เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน : พันธกิจที่เข้มแข็ง
   หากเข็มทิศคือเครื่องมือชิ้นสำคัญสำหรับการเดินเรือในทะเล พันธกิจขององค์กรก็คือเข็มทิศสำหรับเป็นแนวทางให้ทุกคนในองค์กรได้ตระหนักและเป็นแนวทางการทำงานร่วมกันในองค์กร รวมถึงสะท้อนภาพขององค์กรให้คนภายนอกได้รู้ว่าองค์กรมีความสำคัญและมีเป้าหมายการทำงานอย่างไร สำหรับสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย พันธกิจที่ตั้งขึ้นเพื่อเป็นแนวทางการทำงาน รวมถึงสะท้อนภาพสถาบันฯ ว่ามีเป้าหมายการทำงานอย่างไรนั้น ตอบโจทย์พื้นฐานที่เกี่ยวข้องกับชีวิต 3 ประการคือ 1) เราอยู่บนโลกนี้ได้อย่างไร 2) ทำไมเราจึงเป็นมนุษย์ที่อยู่บนโลกนี้ได้ และ 3) เราจะดำรงชีวิตบนโลกใบนี้อย่างยั่งยืนได้อย่างไร การดำเนินการเพื่อตอบโจทย์ดังกล่าวนำไปสู่พันธกิจ (Mission) ของสถาบันว่า สำรวจ อธิบาย เพื่อชีวิตที่ยั่งยืน (Explore Explain and Sustain Life) พันธกิจนี้ สะท้อนถึงวิสัยทัศน์ของผู้บริหารสถาบันที่ต้องการให้สถาบันฯ มีประโยชน์อย่างไรต่อประชาชน และพันธกิจนี้ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบการทำงานที่พนักงานทุกคนของสถาบันฯ ยึดถือและปฏิบัติอย่างเคร่งครัด พันธกิจนี้ถ่ายทอดมาเป็นรูปแบบการทำงานอย่างไร?

การสำรวจ (Explore) เป็นพันธกิจแรกที่สะท้อนให้เห็นว่าสถาบันฯ มีวัตถุประสงค์ต้องการให้ผู้เข้าชมมีพฤติกรรมการสำรวจ สิ่งที่สถาบันฯ ทำได้คือการสร้างสรรค์สถานที่ให้มีความเหมาะสม เตรียมพร้อมสำหรับการสำรวจของผู้เข้าชมทุกวัย

การอธิบาย (Explain) นี่คือพันธกิจที่ถูกถ่ายทอดออกมาเป็นรูปแบบการทำงานที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดของสถาบันฯ เพราะการอธิบายคือหัวใจหลักของพนักงานทุกคนของสถาบันไม่เว้นแม้แต่นักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ที่มีภาพลักษณ์ของการทำงานในห้องทดลองเท่านั้น แต่ที่นี่ นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์จะมีช่วงเวลาของการออกมาพบผู้เข้าชม เพื่ออธิบาย บอกเล่า และตอบปัญหาในสิ่งต่างๆที่ตัวเองกำลังวิจัยหรือ ในสาขาที่เชี่ยวชาญ ดร.เกรกอรี่อธิบายถึงวิธีการหานักวิทยาศาสตร์ที่สามารถถ่ายทอดความรู้ได้ว่า “เราให้นักวิทยาศาสตร์และนักวิจัยของสถาบันมามีส่วนร่วมในการกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้เข้าชม โดยก่อนการจ้างเราจะบอกผู้มาสมัครงานก่อนว่า ‘คุณมีความสามารถในการอธิบายให้คนอื่นฟังหรือไม่’ ซึ่งจะต้องมีรายละเอียดการทำงานที่ชัดเจนก่อนการเริ่มทำงาน เพราะเราเชื่อว่า เด็กมีความเป็นนักวิทยาศาสตร์อยู่ในตัว คือมีความอยากรู้อยากเห็นอยู่แล้ว เราจึงกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นนั้นผ่านนักวิทยาศาสตร์ และนักวิจัยของสถาบันฯ”

ชีวิตที่ยั่งยืน (Sustain Life) พันธกิจในส่วนนี้คือการบอกเป้าหมายในอุดมคติที่สถาบันฯ คาดหวังว่าจะเกิดขึ้นในระยะยาว เนื่องจาก สถาบันฯ เป็นองค์กรที่เน้นให้ความรู้ทางด้านชีววิทยา ดังนั้นความยั่งยืนของชีวิตจึงเป็นจุดสูงสุดของวิชานี้ พันธกิจนี้ถ่ายทอดด้วยการนำเสนอป่าฝนเขตร้อน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา และ พิพิธภัณฑ์สัตว์น้ำนั่นเอง

   นอกจากนี้จุดเน้นของสถาบันคือ การกระตุ้นให้ผู้ชมมีส่วนร่วม ถึงแม้การเรียนรู้ภายในพิพิธภัณฑ์เป็นสิ่งสำคัญ แต่หากกระตุ้นให้ผู้เข้าชมสามารถนำความสงสัยไปหาความรู้เพิ่มเติมได้ นั่นคือเป้าหมายสำคัญอีกประการหนึ่ง 
ดร.เกรกอรี่เล่าว่า มีพนักงานของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย มาถามคำถามว่า สิ่งสำคัญคือการให้ข้อมูลที่แม่นยำใช่หรือไม่ ดร.เกรกอรี่ตอบว่า “สิ่งสำคัญที่สุดไม่ใช่ความแม่นยำของคำตอบเท่านั้น สิ่งที่สำคัญคือทำอย่างไรที่จะกระตุ้นความอยากรู้อยากเห็นของผู้ชมให้ได้มากที่สุด เพราะวิทยาศาสตร์เป็นเรื่องสนุก น่าค้นหา น่าตื่นตาตื่นใจซึ่งเกี่ยวข้องกับความอยากรู้อยากเห็นของคน”

   แนวทางการพัฒนาแหล่งเรียนรู้ตลอดชีวิตของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย
สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนียผ่านช่วงเวลาแห่งความยากลำบากถึงสองช่วงด้วยกัน ตอนเกิดแผ่นดินไหวในปี ค.ศ.1989 และปี ค.ศ.1906 แผ่นดินไหวทั้งสองครั้งส่งผลรุนแรงต่ออาคารสถาบัน ไม่เฉพาะโครงสร้างอาคารเท่านั้นแต่รวมถึงวัตถุสิ่งของที่ใช้จัดแสดงภายในอาคาร ในช่วงเวลาที่วิกฤตยังคงเป็นช่วงเวลาที่ท้าทายให้กับผู้บริหารของสถาบันเช่นกัน ดร.เกรกอรี่กล่าวว่า “เป็นเรื่องง่ายที่เราจะสร้างโครงสร้างขึ้นมาใหม่ การสร้างโครงสร้างอาคารเป็นเรื่องง่าย สิ่งสำคัญที่สุดนอกจากอาคารคือการออกแบบกิจกรรม แผนงาน และพันธกิจขององค์กร ซึ่งเป็นเนื้อหาภายในอาคารทั้งหมด การคิดใหม่ทำใหม่ก็คือการสร้างสรรค์กิจกรรมใหม่ที่ไม่ใช่เพียงแค่การสร้างอาคารเท่านั้น”

   การให้ความสำคัญกับเนื้อหาและกิจกรรมที่จะเกิดขึ้นภายในสถาบันฯ ส่งผลให้สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย เป็นแหล่งการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ที่เอื้อประโยชน์ต่อการเรียนรู้ตลอดชีวิต ไม่เพียงแต่พันธกิจที่มีความเข้มแข็งและชัดเจนอันแสดงให้เห็นว่าสถาบันฯ ต้องการสื่อสารอะไร แต่กิจกรรมที่ถูกสร้างสรรค์ขึ้นภายในสถาบันยังช่วยตอกย้ำเรื่องการเรียนรู้ตลอดชีวิต และไปในทางเดียวกันทั้งองค์กรด้วย เช่น

- พื้นที่นิทรรศการ 
ภายในสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย มีพื้นที่สำหรับการจัดนิทรรศการและสามารถเปลี่ยนเนื้อหาให้มีความทันท่วงทีกับเหตุการณ์ที่เปลี่ยนไป ล่าสุด สถาบันฯ จัดแสดงนิทรรศการ แผ่นดินไหว : ชีวิตบนโลกที่แปรเปลี่ยน (Earthquake : Life on a Dynamic Planet) ซึ่งเหตุการณ์แผ่นดินไหว เป็นเรื่องราวที่ใกล้ตัวชาวนครซานฟรานซิสโกอย่างมาก การนำเสนอเรื่องราวที่ใกล้ตัวกับประชาชน เป็นการส่งเสริมการเรียนรู้ตลอดชีวิตได้เป็นอย่างดี

- การจัดกิจกรรมให้มีความสอดคล้องกัน
โปรแกรมกิจกรรมต่างๆที่เกิดขึ้นภายในสถาบันฯ ถูกสร้างสรรค์ขึ้นให้สัมพันธ์กับเนื้อหาต่างๆที่เกิดขึ้น

- เพิ่มช่องทางการสื่อสารให้กับทุกกิจกรรม
แม้แต่ในที่ที่คิดว่าเป็นไปไม่ได้ในการสื่อสาร แต่สถาบันฯ ก็ไม่ปิดช่องว่างในการสื่อสาร เช่นในแท็งค์น้ำแสดงสัตว์ทะเลขนาดใหญ่ สถาบันฯยังจัดให้นักประดาน้ำที่นอกจากจะแสดงโชว์การให้อาหารสัตว์น้ำแล้ว ยังสามารถสื่อสารกับคนภายนอกผ่านไมค์และหูฟัง ซึ่งนักประดาน้ำสามารถฟังคำถามจากผู้ชมภายนอกแท็งค์น้ำได้ และสามารถตอบคำถาม พร้อมกับชี้ประเภทของสัตว์น้ำได้อย่างทันท่วงที

- ช่วงเวลาแห่งการอธิบาย
ทุกวันในช่วงสายๆ หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของนักวิจัย และนักวิทยาศาสตร์ คือการออกมาเพื่อให้ความรู้แก่ผู้เข้าชม นักวิจัยและนักวิทยาศาสตร์เหล่านี้ จะออกมาเพื่อตอบคำถาม เล่าเรื่องที่เป็นเหตุการณ์ในชีวิตประจำวัน รวมถึง เรื่องราวงานวิจัยที่ตนเองกำลังดำเนินการ การสื่อสารแบบนี้ทำให้ลดช่องว่างระหว่างนักวิจัยกับผู้ชม สามารถส่งต่อความรู้ได้อย่างทันท่วงที นอกจากนี้ยังเป็นการฝึกวิธีการสื่อสารทางวิทยาศาสตร์ให้กับนักวิจัยอีกด้วย

- กิจกรรมพิเศษ
กิจกรรมพิเศษที่ถือเป็น Highlight ของ สถาบันฯ คือกิจกรรม Nightlife ทุกวันพฤหัสบดี เวลา 18.00-22.00 น. โดยมีเป้าหมายเพื่อดึงดูดความสนใจผู้ชมหลากหลายกลุ่มอายุ โดยผู้เข้าร่วมต้องมีอายุ 20 ปีขึ้นไป มาร่วมกันทำกิจกรรม 3 อย่างคือ ชมพิพิธภัณฑ์ยามค่ำคืน ดื่มเครื่องดื่ม และการจับคู่ โดยกิจกรรมนี้ทำให้มีหลายคู่ได้พบรักกัน

131

พื้นที่นิทรรศการหมุนเวียนภายในอาคารสถาบันฯ นำเสนอเรื่องแผ่นดินไหว ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ชาวนครซานฟรานซิสโกต้องพบเจอบ่อยครั้ง สร้างความตระหนักให้ผู้คนเกิดความอยากรู้เพื่อป้องกันตัวเองจากภัยธรรมชาติ ภาพจาก www.calacademy.org

132

133

(ภาพซ้าย) “คุณมีความสามารถในการอธิบายให้คนอื่นฟังหรือไม่” คือคำถามสำคัญสำหรับการสัมภาษณ์นักวิทยาศาสตร์ก่อนเข้ามาทำงานที่สถาบันฯ เพราะหนึ่งในงานประจำที่สำคัญนั่นคือการออกมาพื้นที่ภายในพิพิธภัณฑ์ เพื่อบอกกล่าวและเล่าเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์น่ารู้ในทุกๆวัน (ภาพขวา) กิจกรรมยามค่ำคืน (NightLife) เป็นกิจกรรมเพื่อเพิ่มช่องทางการเรียนรู้ที่แปลกใหม่ นอกจากจะได้ชมพิพิธภัณฑ์ในเวลาค่ำที่ให้อารมณ์แปลกใหม่แล้ว ยังมีการขายเครื่องดื่มและมีการนัดพบคู่รักไปในตัวภาพจาก www.calacademy.org

- การใช้ช่องทางเครือข่ายในการสื่อสาร
งานของสถาบันฯ คือการทำให้วิทยาศาสตร์มีชีวิตที่ไม่ใช่เฉพาะภายในสถาบันเท่านั้น แต่จะทำอย่างไรให้เนื้อหาความรู้ออกสู่ภายนอกได้ สถาบันฯใช้ช่องทางอินเทอร์เนต เป็นสื่อในการเผยแพร่ความรู้ เช่นเว็บไซต์ของสถาบัน (www.calacademy.org) ที่นำความรู้ต่างๆมาขึ้นเว็บไซต์ตลอดอย่างทันเหตุการณ์ นอกจากนี้ยังมีเว็บไซต์ www.khanacademy.org ที่นำเสนอเนื้อหาความหลากหลายทางชีวภาพ นอกจากนี้ยังมีศูนย์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ภาคพลเมืองที่เว็บไซต์ www.inaturalist.org เป็นต้น

ปิดท้าย : องค์กรควรปฏิบัติตัวอย่างไร
   กว่าจะเดินทางพัฒนามาจนถึงจุดนี้ สถาบันวิทยาศาสตร์แห่งแคลิฟอร์เนีย ผ่านวิธีคิด การลองผิดลองถูกมามากมาย รวมถึงภัยพิบัติธรรมชาติที่เป็นแรงผลักดันให้สถาบันฯ ต้องปรับตัวอยู่ตลอดเวลา ดร.เกรกอรี่ ให้ข้อคิดปิดท้ายของแนวทางการพัฒนาองค์กรทางวิทยาศาสตร์ทั้งหลาย เพื่อการพัฒนาต่อไปในอนาคตอย่างยั่งยืนว่า “เหนือสิ่งอื่นใด เรา(องค์กร) ต้องถามตัวเองว่า ทำไมต้องมีเรา เราจะสร้างความเปลี่ยนแปลงนี้ได้อย่างไร องค์กรของเรามีความจำเป็นกับสังคมหรือไม่ เราทำดีแล้วหรือไม่ และ เราจะทำอะไรต่อไปในอนาคต” คำตอบของคำถามเหล่านี้ เป็นตัวชี้วัดว่า เราทำงานไปเพื่ออะไร และอาจเป็นตัวนำทางท่ามกลางความสับสนว่าเราจะเดินทางต่อไปอย่างไร สำหรับการเป็นแหล่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตที่มีคุณภาพสำหรับประชาชนของเรา

ข่าวสารที่่คล้ายกัน