ภูมิแพ้อาหาร (Food allergy) หรือ อาการแพ้อาหาร เกิดจากการตอบสนองของภูมิคุ้มกันร่างกายที่ผิดปกติต่ออาหารที่รับประทานเข้าไป มักเป็นสารอาหารประเภทโปรตีน เมื่อร่างกายได้รับสารอาหารชนิดหนึ่งร่างกายจะสร้างสารภูมิต้านทาน หรือ แอนติบอดี (Antibody; Ig) ที่จำเพาะต่อสารอาหารชนิดนั้นออกมา โดยมากการแพ้อาหารจะเกี่ยวข้องกับภูมิต้านทานชนิดอี (Immunoglobulin E; IgE) อาการภูมิแพ้อาหารมักจะแสดงเมื่อร่างกายได้รับสารอาหารนั้นอีกครั้ง
เมื่อสารก่อภูมิแพ้ (Allergen) เข้าสู่ร่างกาย จะไปจับกับ IgE แล้วปล่อย mediators หรือสารตัวกลาง เช่น ฮีสตามีน (Histamines) พรอสตาแกนดินส์ (Prostaglandins) ลิวโคไตรอีน (Leukotrienes) และไซโตไคน์ (Cytokines) ทำให้ร่างกายของคนที่แพ้อาหารตอบสนองต่อสารดังกล่าว และเกิดอาการแพ้อาหาร เช่น เป็นลมพิษ ผื่นแดง น้ำมูกไหล คลื่นไส้ อาเจียน ในผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการรุนแรง เช่น มีอาการหอบ ความดันโลหิตต่ำ มีภาวะช็อก หมดสติ และอาจถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยความรุนแรงของอาการขึ้นอยู่กับแต่ละบุคคล รวมถึงปริมาณอาหารที่ได้รับเข้าไป และช่วงระยะเวลาที่ได้รับ
ภูมิแพ้อาหารสามารถพบได้ทั้งในวัยเด็กและผู้ใหญ่ อาจเกิดจากพันธุกรรม และปัจจัยทางสรีระของร่างกาย โดยคนที่เป็นโรคภูมิแพ้จะมีโอกาสแพ้อาหารได้มากกว่าคนทั่วไป อีกทั้งยังไม่มีวิธีรักษา จึงมีหน่วยงานที่ทำงานเกี่ยวกับอาหารและยาทั้งในประเทศไทย รวมถึงต่างประเทศ ออกกฎหมายให้ระบุประเภทอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้บนฉลากอาหาร เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเลือกและหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้แพ้ได้ ตัวอย่างประเภทอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องระบุบนฉลากอาหารแสดงตามตาราง
ตารางแสดงประเภทอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องระบุบนฉลากอาหารของแต่ละประเทศ
No. | ประเภทอาหาร | ไทย | Codex* | อเมริกา | ยุโรป |
1 | ธัญพืชที่มีส่วนประกอบของกลูเตน และผลิตภัณฑ์จากธัญพืชที่มีส่วนประกอบของกลูเตน | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
2 | สัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง และผลิตภัณฑ์จากสัตว์น้ำที่มีเปลือกแข็ง | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
3 | ไข่ และผลิตภัณฑ์จากไข่ | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
4 | ปลา และผลิตภัณฑ์จากปลา | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
5 | ถั่วลิสง ถั่วเหลือง และผลิตภัณฑ์จากถั่วลิสง ถั่วเหลือง | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
6 | นม และผลิตภัณฑ์จากนม รวมถึงแลคโตส | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
7 | ถั่วเปลือกแข็ง และผลิตภัณฑ์จากถั่วเปลือกแข็ง | ✓ | ✓ | ✓ | ✓ |
8 | ซัลไฟต์ ที่มีปริมาณมากกว่าหรือเท่ากับ 10 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม | ✓ | ✓ | ✓ | |
9 | ขึ้นฉ่าย และผลิตภัณฑ์จากขึ้นฉ่าย | ✓ | |||
10 | มัสตาร์ด และผลิตภัณฑ์จากมัสตาร์ด | ✓ | |||
11 | งา และผลิตภัณฑ์จากงา | ✓ | |||
12 | ลูพิน และผลิตภัณฑ์จากลูพิน | ✓ | |||
13 | หอย และผลิตภัณฑ์จากหอย | ✓ |
*Codex (Codex Alimentarius Commission - CAC) เป็นคณะกรรมมาธิการโครงการมาตรฐาน FAO/WHO ที่กำหนดมาตรฐานอาหารให้เป็นมาตรฐานสากล โดยหลายประเทศจะนิยมอ้างอิงมาตรฐานอาหารตามกฎหมาย Codex เพื่อให้เป็นมาตรฐานสากล
ผู้บริโภคที่แพ้อาหารควรศึกษารายละเอียดสารก่อภูมิแพ้บนบรรจุภัณฑ์ก่อนบริโภคอาหารทุกครั้ง เพื่อหลีกเลี่ยงสารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ หรือเมื่อบริโภคอาหารชนิดใดแล้วเกิดความผิดปกติต่อร่างกายควรหลีกเลี่ยงการบริโภคอาหารนั้น รวมถึงอาหารที่อาจปนเปื้อนของสารก่อภูมิแพ้นั้น หรือหากไม่ทราบแน่ชัดควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง เพื่อวินิจฉัยสารที่แพ้ที่แน่ชัด
ผู้เขียน : ฐิติยา ชุ่มมาลี
แหล่งอ้างอิง :
(1) Utrecht Center for Food Allergy. Mechanisms [online]. Available from https://ucfa.nl/food-allergy/mechanisms/ [cited 14 Jan 2020]
(2) กองตรวจสอบคุณภาพสินค้าประมงกรมประมง. อาหารก่อภูมิแพ้ “Food allergen” [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.fisheries.go.th/quality/Food%20Allergens.pdf [วันที่สืบค้น 14 มกราคม 2563]
(3) กองบรรณาธิการ Honestdocs. อาการแพ้อาหาร (Food allergy) [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จากhttps://www.honestdocs.co/food-allergy [วันที่สืบค้น 14 มกราคม 2563]
(4) วารสารศูนย์บริการวิชาการ. การแพ้อาหาร [ออนไลน์]. 2550. ถึงได้จาก https://home.kku.ac.th/uac/journal/year_15_3_2550/04_15_03_2550.pdf [วันที่สืบค้น 14 มกราคม 2563]
(5) สมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางอาหารแห่งประเทศไทย. Food allergy and Food allergen [ออนไลน์]. เข้าถึงได้จาก https://www.fostat.org/food-allergy-and-food-allergen/ [วันที่สืบค้น 14 มกราคม 2563]
แหล่งข้อมูลประเภทอาหารที่เป็นสารก่อภูมิแพ้ที่ต้องระบุบนฉลากอาหารเพิ่มเติม :
Codex : http://www.foodallergens.info/Legal/CODEX.html
EU : https://eur-lex.europa.eu/legal-content/EN/TXT/PDF/?uri=CELEX:32011R1169&from=en
Thai : http://food.fda.moph.go.th/law/data/announ_moph/P367.PDF
US : https://www.fda.gov/food/buy-store-serve-safe-food/what-you-need-know-about-food-allergies