พายุโซนร้อน "คาจิกิ"

พายุโซนร้อน "คาจิกิ"

18-12-2021
พายุโซนร้อน "คาจิกิ"

พายุโซนร้อน "คาจิกิ"

     ช่วงนี้ฝนฟ้าเริ่มแปรปรวนและมีฝนตกลงมาเป็นระยะ เพราะพายุกำลังเคลื่อนตัวพาดผ่านประเทศไทย หลายพื้นที่ได้รับอันตรายจากฝนที่ตกหนักและฝนที่ตกสะสม รวมถึงน้ำที่ท่วมอย่างฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก น้ำเอ่อล้นตลิ่ง และดินโคลนถล่ม เนื่องจากประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตมรสุม จึงได้รับอิทธิพลของพายุหมุนเขตร้อนซึ่งเป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ที่ก่อตัวขึ้นเหนือทะเลหรือมหาสมุทรในเขตร้อน

     พายุหมุนเขตร้อน (Tropical Cyclone) เกิดจากหย่อมความกดอากาศต่ำที่เกิดขึ้นในเขตร้อนบริเวณเส้นศูนย์สูตร โดยเกิดบริเวณผิวน้ำทะเลและมหาสมุทรที่มีอุณหภูมิของน้ำสูงกว่า 27 องศาเซลเซียส เป็นพายุหมุนขนาดใหญ่ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางตั้งแต่ 100 กิโลเมตร ขึ้นไป เกิดขึ้นได้หลายแห่งในโลก โดยมีชื่อเรียกต่างกันไปตามแหล่งกำเนิด หากเกิดเหนือเส้นศูนย์สูตรจะมีทิศทางการหมุนทวนเข็มนาฬิกา และหากเกิดใต้เส้นศูนย์สูตรหรือซีกโลกใต้จะหมุนตามเข็มนาฬิกา สามารถแบ่งย่อยโดยใช้ความเร็วลมใกล้ศูนย์กลางพายุเป็นเกณฑ์ ตามระดับความรุนแรงของพายุ ได้แก่ พายุดีเปรสชัน (Depression) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางไม่ถึง 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (34 นอต) พายุโซนร้อน (Tropical storm) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 63 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (34 นอต ) ขึ้นไป แต่ไม่ถึง 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต) และพายุไต้ฝุ่น (Typhoon) มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางตั้งแต่ 118 กิโลเมตรต่อชั่วโมง (64 นอต ) ขึ้นไป

     วันที่ 3 กันยายน 2562 กรมอุตุนิยมวิทยาได้ประกาศเตือนภัยพายุโซนร้อนที่มีชื่อว่า “คาจิกิ (Kajiki)” ซึ่งจัดเป็นพายุหมุนเขตร้อน ชุดที่ 2 ชื่อของพายุนี้เป็นชื่อที่ประเทศญี่ปุ่นเสนอไว้ มีความหมายว่า ปลาทะเลที่สวยงาม ตามหลักการตั้งชื่อโดยองค์การอุตุนิยมวิทยาโลกที่กำหนดรายชื่อพายุหมุนเขตร้อนที่เกิดขึ้นในบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตก และทะเลจีนใต้ โดยให้แต่ละประเทศ ที่อยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบจากพายุ ตั้งชื่อพายุเป็นภาษาท้องถิ่นของตน และนำรายชื่อพายุที่มีอยู่แล้วมาใช้วนตามลำดับอักษร โดยชื่อทั้งหมดเป็นชื่อที่ได้รับการเสนอจาก กลุ่มประเทศที่อยู่บนคาบสมุทรแปซิฟิกด้านตะวันตกตอนบน และทะเลจีนใต้ ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด 140 ชื่อ พายุโซนร้อนคาจิกิได้ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยในช่วงวันที่ 3 - 4 กันยายน 2562 ที่ผ่านมา ซึ่งพัฒนามาจากพายุดีเปรสชัน บริเวณใกล้เกาะไหหลำ ประเทศจีน โดยมีศูนย์กลางอยู่บริเวณเมืองเว้ ชายฝั่งประเทศเวียดนามตอนกลาง หรือที่ ละติจูด 16.3 องศาเหนือ ลองจิจูด 107.5 องศาตะวันออก มีความเร็วลมสูงสุดใกล้ศูนย์กลางประมาณ 65 กิโลเมตรต่อชั่วโมง ส่งผลให้ประเทศไทยมีฝนฟ้าคะนองหลายพื้นที่และฝนตกหนักบางแห่ง โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคตะวันออกมีฝนตกหนักถึงหนักมาก

     ไม่ว่าพายุลูกไหนจะพัดผ่านประเทศไทย การรับมือกับพายุที่ดีที่สุดก็คือการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า เพื่อการเอาชีวิตรอดและอยู่อย่างปลอดภัย เช่น การเตรียมแผนเผชิญน้ำท่วม การสำรองอาหาร น้ำดื่ม และยารักษาโรค รวมถึงจัดเตรียมระบบไฟสำรองในกรณีที่เกิดเหตุฉุกเฉิน เช่น ไฟฉาย เทียนไข ไม้ขีดไฟ และควรติดตามข่าวสารจากกรมอุตุนิยมวิทยา โดยสามารถติดตามข้อมูลได้ทางเว็บไซต์ กรมอุตุนิยมวิทยา http://www.tmd.go.th หรือสายด่วนพยากรณ์อากาศ 1182 อีกทั้งควรงดประกอบกิจกรรมทางทะเลทุกประเภท เพราะคลื่นลมในทะเลมีกำลังแรง ทำให้เรือล่มและก่อให้เกิดอันตรายได้ การเตรียมพร้อมรับมือและการปฏิบัติตนอย่างถูกวิธีเมื่อพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวผ่าน จะช่วยลดผลกระทบจากสถานการณ์ภัยพิบัติที่อาจเกิดขึ้น และช่วยให้การดำเนินชีวิตของพวกเราทุกคนเป็นไปด้วยความปลอดภัย

 

ภาพจาก : https://www.shutterstock.com/th/image-photo/cyclone-idai-heading-towards-mozambique-zimbabwe-1343576279 (รหัสภาพถ่ายสต็อก : 1343576279)
ที่มา : https://www.opsmoac.go.th/datacenter-news-preview-411691791845
          https://www.chiangmainews.co.th/page/archives/1108117
          https://www.thaihealth.or.th/

ผู้เขียน : นายชนินทร์ สาริกภูติ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง

ข่าวสารที่่คล้ายกัน