จากกังหันน้ำชัยพัฒนา สู่วันนักประดิษฐ์โลก

จากกังหันน้ำชัยพัฒนา สู่วันนักประดิษฐ์โลก

18-12-2021
จากกังหันน้ำชัยพัฒนา สู่วันนักประดิษฐ์โลก

กังหันน้ำชัยพัฒนา สู่วันนักประดิษฐ์โลก

กังหันน้ำที่กำลังหมุนเบา ๆ และตีน้ำในบ่อน้ำ ลำคลอง ให้กระจายขึ้นไปในอากาศ อาจเป็นภาพที่ดูคุ้นตาสำหรับหลาย ๆ คน สิ่งประดิษฐ์โดยมนุษย์นี้ไม่ใช่กังหันขนาดใหญ่ ไม่ใช่กังหันผลิตกระแสไฟฟ้า แต่เป็นสุดยอดสิ่งประดิษฐ์ที่มีรูปลักษณ์เรียบง่าย แต่กลับทรงประสิทธิภาพในการบำบัดน้ำ ที่เรียกว่า “กังหันน้ำชัยพัฒนา” เครื่องกลเติมอากาศที่ทำหน้าที่วิดน้ำให้สาดกระจายขึ้นไปในอากาศ เพื่อให้น้ำได้สัมผัสกับอากาศอย่างทั่วถึง ทำให้ออกซิเจนในอากาศสามารถละลายผสมกับน้ำได้ดีขึ้น ช่วยปรับสภาพน้ำเสียให้ดีขึ้นได้อย่างน่าอัศจรรย์ โดยใช้หลักวิทยาศาสตร์ง่าย ๆ คือ การเติมก๊าซออกซิเจนให้น้ำ ต่อมาได้รับการยกย่องสู่ระดับสากลให้เป็นวันนักประดิษฐ์โลก เพราะคนไทยทุกคนต่างรู้ดีว่า สิ่งประดิษฐ์อันทรงคุณค่านี้ ได้รับพระราชทานพระมหากรุณาธิคุณในการศึกษาและพัฒนาจาก พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร โดยทรงมีพระราชดำริ เมื่อวันที่ 24 ธันวาคม พ.ศ. 2531 เกี่ยวกับรูปแบบและแนวทางการแก้ไขปัญหาน้ำเสีย โดยการเติมออกซิเจนในน้ำ และเริ่มมีการติดตั้งกังหันน้ำชัยพัฒนาขึ้นเป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม พ.ศ. 2532 ที่โรงพยาบาลพระมงกุฎเกล้า

จากประสิทธิภาพการแก้ไขปัญหาได้อย่างเป็นรูปธรรมของ "กังหันน้ำชัยพัฒนา" จึงได้รับการพิจารณาและทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรในพระปรมาภิไธย เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2536 โดยนับเป็นสิ่งประดิษฐ์เครื่องกลเติมอากาศเครื่องที่ 9 ของโลกที่ได้รับสิทธิบัตร และเป็นครั้งแรกที่ได้มีการรับจดทะเบียน และออกสิทธิบัตรถวายแด่พระมหากษัตริย์ จึงนับได้ว่าสิทธิบัตรเครื่องกลเติมอากาศในพระปรมาภิไธย พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศรฯ นั้นเป็น "สิทธิบัตรในพระปรมาภิไธยของพระมหากษัตริย์พระองค์แรกในประวัติศาสตร์ชาติไทย และเป็นครั้งแรกของโลก" ดังนั้นเพื่อเป็นการเทิดพระเกียรติ คณะรัฐมนตรีในตอนนั้น 

จึงมีมติกำหนดให้วันที่ 2 กุมภาพันธ์ของทุกปีเป็น “วันนักประดิษฐ์” และต่อมาสมาพันธ์นักประดิษฐ์นานาชาติ (The international Federation of Inventor's Associations) หรือ ไอเอฟไอเอ (IFIA) ซึ่งมีสำนักงานอยู่ที่กรุงบูดาเปสต์ ประเทศฮังการี ได้ร่วมกำหนดให้วันที่ 2 กพ. ของทุกปี เป็น “วันนักประดิษฐ์โลก” (International inventor’s day convention: IIDC) ด้วย โดยจัดงานในปี พ.ศ. 2551 เป็นครั้งแรกที่ประเทศไทย

กังหันน้ำชัยพัฒนา สิ่งประดิษฐ์ที่ไม่เพียงแต่ทำหน้าที่เพิ่มคุณภาพของน้ำ แต่ยังช่วยเพิ่มเสริมสร้างแรงบันดาลใจของนักประดิษฐ์ไทยจนถึงระดับโลก ในการคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ต่าง ๆ โดยการสร้างนวัตกรรมใหม่อาจไม่ใช่เรื่องยาก หากได้เข้าใจถึงหลักการทางวิทยาศาสตร์ เข้าใจถึงปัญหาต่าง ๆ อย่างแท้จริง ผสานกับความตั้งใจ มุ่งมั่น ก็จะสามารถหาผลลัพธ์ต่าง ๆ ออกมาได้ในรูปของสิ่งประดิษฐ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยมวลมนุษย์ในการรับมือกับเหตุการณ์ หรือปัญหาต่าง ๆ ที่กำลังเกิดขึ้น

 

ภาพจาก https://www.chaipat.or.th/site_content/item/18-chaipattana-water-turbine-development.html

แหล่งข้อมูล
1. มูลนิธิชัยพัฒนา.โครงการกังหันน้ำชัยพัฒนา. เข้าถึงข้อมูลได้จาก https://www.chaipat.or.th/site_content/item/140-46.html (วันที่ค้นข้อมูล 3 กุมภาพันธ์ 2563)
2. กลุ่มนักศึกษาฝึกงาน งานพัฒนาและจัดการสารสนเทศ ฝ่ายเทคโนโลยีสารสนเทศห้องสมุด มหาวิทยาลัยรามคำแหง. วันนักประดิษฐ์ 2 กุมภาพันธ์. เข้าถึงได้จาก https://www.lib.ru.ac.th/journal/feb/feb02-InventorDay.html (วันที่ค้นข้อมูล 3 กุมภาพันธ์ 2563)
3. สำนักข่าวแห่งชาติ กรมประชาสัมพันธ์. (31 ตุลาคม 2562). วช. กำหนดจัดงาน "วันนักประดิษฐ์" น้อมรำลึกวันประวัติศาสตร์การทูลเกล้าฯ ถวายสิทธิบัตรการประดิษฐ์กังหันน้ำชัยพัฒนา เข้าถึงข้อมูลได้จาก http://nwnt.prd.go.th/centerweb/news/NewsDetail?NT01_NewsID=TCATG191031112525593 (วันที่ค้นข้อมูล 3 กุมภาพันธ์ 2563)
4. The First International Inventor’s Day.เข้าถึงข้อมูลได้จาก https://www.invention-ifia.ch/bangkok/bangkok.htm (วันที่ค้นข้อมูล 3 กุมภาพันธ์ 2563)
5. The Inventor’s Day in Thailand เข้าถึงข้อมูลได้จาก https://www.invention-ifia.ch/bangkok/thai_inv.htm (วันที่ค้นข้อมูล 3 กุมภาพันธ์ 2563)


ผู้เขียน : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง (ผอ.วว.)
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง (ผอ.วว.)

ข่าวสารที่่คล้ายกัน