ต้นปี ค.ศ. 2020 นี้นับว่าโลกของเราเข้าสู่วิกฤติต่างๆ มากมายทั้งสงครามการเมือง การค้า และเทคโนโลยี ภัยจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโรคระบาดอย่าง
“โควิด-19” (COVID-19) โคโรน่าไวรัสสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดภาวะติดเชื้อในระบบทางเดินหายใจรุนแรงและยังไม่ต้องกล่าวถึงภัยแล้งที่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่าจะรุนแรงกว่าทุกปี อันที่จริงโลกและสิ่งมีชีวิตผ่านความตายมาแล้วหลายครั้ง เช่น การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ทั้ง 5 การฆ่าล้างเผ่าพันธุ์การเกิดโรคระบาดอย่างไข้ดำหรือกาฬโรคและไข้หวัดสเปนซึ่งส่งผลให้ประชากรทวีปยุโรปช่วงคริสต์ศตวรรษที่ 14 และ19 ตายไปกว่าครึ่งของทั้งหมด ยังมีโรคทางเดินหายใจตะวันออกกลาง (MERS),โรคทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง(SARS),ไวรัสอีโบล่า ที่ทั่วโลกยังต้องเฝ้าระวังอยู่
หากสังเกตให้ดี หลังจากผ่านความตายครั้งยิ่งใหญ่เหล่านี้ สิ่งมีชีวิตที่เหลือรอดจากการลดลงอย่างรวดเร็วจะเกิดการปรับตัว และวิวัฒนาการให้มีความแข็งแรง อดทน
และเพิ่มจำนวนมากขึ้นทดแทนประชากรที่สูญหายไป จนกลายเป็นประชากรทั้งหมดของโลกที่มีคุณสมบัติเหมาะสมต่อการดำรงชีวิต นักชีววิทยาเรียกปรากฎการณ์เช่นนี้ว่าปรากฏการณ์คอขวด (bottleneck effect) ปรากฎการณ์คอขวดมักเกิดขึ้นในช่วงระยะเวลาสั้นๆ แต่ทำให้จำนวนประชากร และความหลากหลายทางพันธุกรรมลดลงอย่างรวดเร็ว
แม้ในอนาคตจำนวนประชากรจะเพิ่มขึ้นแต่ความหลากหลายทางพันธุกรรมกลับไม่เพิ่มตาม เช่นประชากรส่วนใหญ่ในแอฟริกามียีนส์ (gene) แฝงโรคพันธุกรรม ที่เรียกว่า โรคโลหิตจางแบบเม็ดเลือดแดงรูปเคียว (sickle cell anemia) สันนิษฐานว่าเกิดจากบรรพบุรุษที่เหลือรอดจากการระบาดของโรคมาลาเรียในอดีตมียีนส์แฝงของโรคทำให้เกิดภาวะโลหิตจางไม่รุนแรง แต่ทนทานต่อเชื้อมาลาเรีย เป็นต้น
ดังนั้นหากมองย้อนกลับไปเราคือผลผลิตของการปรับตัวและวิวัฒนาการที่เกิดขึ้นในอดีต และวิกฤติที่กำลังเผชิญในตอนนี้อาจเป็นปรากฎการณ์คอขวดอีกครั้งหนึ่ง
ซึ่งผลักดันให้เราเกิดการปรับตัว แต่การปรับตัวตามกระบวนการธรรมชาติต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 รุ่นของส่งมีชีวิตนั้นๆ ซึ่งอาจสายเกินไป นี่อาจเป็นคำเตือนจากโลก
เพื่อบอกเราว่าควรปรับตัวโดยเริ่มจากการปรับพฤติกรรมและพัฒนาความรู้และเทคโนโลยี เพื่อผ่านพ้นวิกฤติและอยู่รอดจนถึงโลกหลังความตายอีกครั้ง
เรียบเรียงโดย ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์
ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference):
https://en.wikipedia.org/wiki/Population_bottleneck
https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC6171532/
ค้นคว้าเพิ่มเติม (แนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม)
https://www.who.int/thailand/health-topics/coronavirus
https://www.nationalgeographic.com/science/prehistoric-world/mass-extinction/
https://en.wikipedia.org/wiki/Black_Death
https://en.wikipedia.org/wiki/Spanish_flu
https://www.cdc.gov/ncbddd/sicklecell/facts.html