ศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ฝันร้ายที่ผ่านเข้ามาของประชาชนในภาคเหนือ ที่กำลังเผชิญกับทั้งโรคโควิด-19 และวิกฤตไฟป่า ที่มักมาเยือนผืนป่าทางภาคเหนือเป็นประจำทุกปี แม้เรื่องไฟป่าอาจจะได้รับความสนใจน้อยกว่าโรคโควิด-19 ที่กำลังระบาดอย่างหนักในขณะนี้ แต่เราก็ยังคงต้องให้ความสำคัญ เฝ้าระวัง และมีคำถามเกิดขึ้นเสมอว่า ทำไมภาคเหนือจึงประสบกับไฟป่าทุกปี
ด้วยภูมิศาสตร์ของภาคเหนือ ส่วนใหญ่เป็นภูเขาสูงและมีที่ราบคล้ายแอ่งกระทะ ลักษณะของป่าแตกต่างจากพื้นที่อื่น ๆ และเมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน ใบไม้แห้งจะกลายเป็นเชื้อเพลิงอย่างดี เมื่อเกิดไฟป่า การพัดพาของลมจะทำให้ไฟลุกติดได้ง่ายและไกลขึ้น และด้วยสภาพอากาศที่ไม่ถ่ายเท ยิ่งทำให้ฝุ่นควันมีเพิ่มมากขึ้น
ชาวบ้านหรือชาวเขาในภาคเหนือส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว จะเผาป่าเพื่อเริ่มทำการเกษตรครั้งใหม่ หรือพืชบางชนิดอาจต้องใช้ไฟเพื่อช่วยในการเจริญเติบโตหรือผลัดเปลี่ยน เช่น ช่วยให้ผักหวานแตกยอดหรือเห็ดเผาะเมื่อมีต้นไม้และหญ้าขึ้นคลุมผิวดินมาก ๆ จะไม่สามารถขึ้นได้และยากต่อการหา จึงทำให้ชาวบ้านมีความเชื่อว่าเมื่อเผาป่าจะหาของป่าได้ง่ายขึ้น ปัญหานี้จึงอยู่คู่กับภาคเหนือมาตลอด บางครั้งไฟป่าอาจเกิดขึ้นเอง หรือจากน้ำมือมนุษย์ เพียงแค่ไฟเพียงจุดเดียว สามารถลุกลามไปเป็นหลายร้อยไร่ ภายในระยะเวลาไม่กี่วัน จากการสัมภาษณ์ นายเมธาพันธ์ ภุชกฤษดาภา ผู้ใหญ่บ้าน บ้านม้งดอยปุย ได้กล่าวถึง เหตุการณ์ไฟไหม้ป่าบริเวณดอยปุยของจังหวัดเชียงใหม่ครั้งล่าสุด ว่า ไฟป่าไม่ได้เกิดจากการจุดใหม่ทุกครั้ง บางครั้งเกิดจากแนวไฟเดิม ธรรมชาติของไฟในป่าดิบ มันเดินทางได้เอง กลิ้งได้ บินได้ มุดดินได้ เมื่อโลกร้อน ภัยแล้ง ใบไม้ร่วงไว รวมถึงเชื้อเพลิงชั้นดีที่ทับถมกัน เมื่อมีปัจจัยพร้อม ทั้งมีปริมาณเชื้อเพลิงจำนวนมาก อากาศร้อน แล้ง รวมกับการบริหารจัดการไม่ดีพอ "ไฟ" จึงพร้อมออกเดินทางโดยเสรีทุกทิศทาง ขอเพียงเกิดการจุดครั้งแรก จากนั้น ไม่ต้องมีคนจุดใหม่ ไฟพร้อมจะลามเลียผิวดิน ไต่ขึ้นเรือนยอด มุดลงดินกินซากพืช และพร้อมจะปะทุใหม่ได้ตลอดเวลา ทำให้ปีนี้เกิดความเสียหายอย่างรุนแรง และมีค่าฝุ่นสูงสุดในรอบหลายปี
จากข้อมูลจากศูนย์ข้อมูลการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ วันที่ 7 เมษายน พ.ศ. 2563 พบค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (Air Quality Index : AQI) มีค่า AQI สูงถึง 329 และค่า PM 2.5 อยู่ที่ 279 µg/m3 ซึ่งถือว่าเป็นระดับที่อันตรายและส่งผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมาก ทำให้ประชาชนเกิดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ มีความเสี่ยงต่อหัวใจและปอด และสำหรับผู้ที่มีปัญหาด้านสุขภาพ เด็ก ผู้สูงวัย ยิ่งส่งผลให้หายใจได้ลำบากมากขึ้น
ตอนนี้เจ้าหน้าที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องกำลังเร่งมือช่วยกันดับไฟป่าทุกวิถีทางเพื่อให้สถานการณ์ดีขึ้น
หากจะตอบคำถามที่ว่า ยังจะเกิดเหตุการณ์แบบนี้ไปอีกนานและบ่อยครั้งแค่ไหน หรือเมื่อไรจะหยุดไฟป่าครั้งนี้ได้ คงไม่ใช่แค่เจ้าหน้าที่หรือคนในชุมชนเป็นผู้ให้คำตอบ แต่การแก้ปัญหาระยะยาว คือ การสร้างความเข้าใจ บูรณาการวางแผนองค์ความรู้ของคนในพื้นที่ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและร่วมกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่นต่างหากคือหนทางอย่างเป็นรูปธรรมและยั่งยืน ที่จะสามารถแก้ไขปัญหาให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ และเมื่อนั้นคนภาคเหนือจะได้มีอากาศที่บริสุทธิ์ให้หายใจอีกครั้ง
ภาพจาก: 1. Facebook/สภาลมหายใจเชียงใหม่
2. Facebook/WEVO สื่อสู้ฝุ่น
ที่มา : 1. ไขปริศนา เส้นทางไฟ. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://www.facebook.com/join.forestbook/videos/878139409367035/ [7 เมษายน 2563]
2. เกิดกี่ครั้งก็ยังไม่หายไป : ปัญหาไฟป่าเชียงใหม่ที่รัฐยังแก้ไขไม่ตรงจุด. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://thematter.co/social/wildfire-in-chiangmai/106468?fbclid=IwAR3r4XFHnSU2Ma2qQCSJ7UPghUpOVZbGrKFBkkCW6mtJoMMLeuUVMoGiAPs [7 เมษายน 2563]
3. ไฟป่าเชียงใหม่ : ทำไมปีนี้ หนักกว่าทุกปี. [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา: https://www.bbc.com/thai/thailand-52146438 [7 เมษายน 2563]
คำค้น : ไฟไหม้ป่า, ภาคเหนือ, PM2.5, ควันไฟ
ผู้เขียน : นางสาวศศลักษณ์ มูลรินต๊ะ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.