Climate Change เรื่องใกล้ตัวของทุกคน*

Climate Change เรื่องใกล้ตัวของทุกคน*

23-05-2023
10 บทความ ชุดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

“ภายในสิ้นศตวรรษนี้ คาดว่า 38-40 เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่บนภาคพื้นทวีปของโลก จะอยู่ในเขตภูมิอากาศที่แตกต่างจากปัจจุบัน"

ข้อความนี้คือข้อสรุปหนึ่งจากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยจอร์จ เมสัน (George Mason University) ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งเผยแพร่เมื่อต้นปี 2566 การคาดการณ์ที่น่าตื่นตระหนกนี้แสดงให้เห็นภาพชัดเจนว่าภูมิอากาศโลกของเรา กำลังเปลี่ยนแปลงในอัตราที่รวดเร็วอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน โดยมีสาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ปรากฏการณ์การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นหนึ่งในประเด็นเร่งด่วนที่สุดของมนุษยชาติในยุคปัจจุบัน เราทุกคนในฐานะพลเรือนโลกจำเป็นต้องทำความเข้าใจว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศคืออะไร  อะไรเป็นสาเหตุ และเหตุใดจึงเป็นเรื่องที่มีความสำคัญต่ออนาคตของเราทุกคน  

การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก็เหมือนผ้าคลุมโลกที่กักเก็บความร้อนไว้

            องค์การสหประชาชาติ อธิบายความหมายของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) ว่าหมายถึง การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิและรูปแบบสภาพอากาศในระยะยาว ซึ่งเป็นการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้นได้ตามธรรมชาติ เช่น จากรังสีของดวงอาทิตย์ที่มากน้อยต่างกัน หรือการระเบิดของภูเขาไฟขนาดใหญ่เป็นต้น แต่นับตั้งแต่ศตวรรษที่ 19 ซึ่งเป็นยุคจากการปฏิวัติอุตสาหกรรม กิจกรรมของมนุษย์เป็นปัจจัยสำคัญที่เป็นสาเหตุของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยเฉพาะการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล จากถ่านหิน น้ำมัน และก๊าซ ซึ่งนำไปสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจก นอกจากนี้การตัดไม้ทำลายป่าและการทำปศุสัตว์ยังเป็นกิจกรรมของมนุษย์ที่มีส่วนสำคัญในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเช่นกัน ซึ่งก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปล่อยจากกิจกรรมของมนุษย์นี้ เมื่อเข้าสู่ชั้นบรรยากาศจะเป็นเสมือนผ้าที่คลุมโลกทั้งใบไว้ และผ้าผืนนี้จะกักเก็บความร้อนไว้ จนทำให้โลกมีอุณหภูมิสูงขึ้น เกิดเป็นภาวะโลกร้อน (global warming)   

 

ก๊าซเรือนกระจก

            ก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases) เป็นกลุ่มก๊าซในชั้นบรรยากาศของโลกที่มีความสามารถในการกักเก็บและดูดกลืนความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศ ก๊าซเหล่านี้ยอมให้แสงอาทิตย์ลอดผ่านชั้นบรรยากาศลงมาได้ แต่ไม่ยอมให้คลื่นความร้อนที่มาพร้อมกับแสงอาทิตย์นั้นออกจากชั้นบรรยากาศไป จึงกักเก็บและดูดกลืนคลื่นความร้อนไว้ในชั้นบรรยากาศโลก ในความเป็นจริง ก๊าซเรือนกระจกมีประโยชน์ช่วยให้โลกมีความอบอุ่นและไม่หนาวเย็นเกินไป หากปราศจากก๊าซเรือนกระจกแล้ว มนุษย์ สัตว์ และพืชพรรณต่างๆ จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ แต่ในปัจจุบัน มนุษย์ทำกิจกรรมต่างๆ ทำให้เกิดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากเกินไป ชั้นบรรยากาศโลกจึงกักเก็บความร้อนไว้ นำไปสู่ภาวะโลกร้อนและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ก๊าซเรือนกระจกที่สำคัญ ได้แก่

      1. คาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon dioxide : CO2) เมื่อมีการเผาไหม้เชื้อเพลิงฟอสซิล เช่น ถ่านหินหรือน้ำมัน ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จะถูกปล่อยออกสู่ชั้นบรรยากาศ  ถือเป็นตัวการที่สำคัญที่สุดที่ก่อให้เกิดสภาวะโลกร้อน

       2. มีเทน (Methane : CH4) เป็นก๊าซในธรรมชาติที่เกิดจากย่อยสลายของเสียต่างๆ การทำปศุสัตว์เช่นการเลี้ยงโคนม ซึ่งเป็นสัตว์ประเภทเคี้ยวเอื้อง ทำให้เกิดก๊าซมีเทนจำนวนมาก ก๊าซมีเทนมีความสามารถในการกักเก็บความร้อนสูง เป็นก๊าซเรือนกระจกที่ถูกปลดปล่อยสู่ชั้นบรรยากาศโลกมากเป็นลำดับที่สอง

    3. ไนตรัสออกไซด์ (Nitrous oxide : N2O) ไนตรัสออกไซด์เป็นก๊าซในธรรมชาติซึ่งมีแหล่งกำเนิดจากแบคทีเรียต่างๆ นอกจากนี้โรงงานอุตสาหกรรมบางประเภท เช่นโรงไฟฟ้า โรงงานผลิตปุ๋ยเคมี ก็เป็นแหล่งปล่อยก๊าซชนิดนี้

       4. โอโซน (Ozone : O3) ขณะที่ชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศช่วยปกป้องสิ่งมีชีวิตจากรังสีอัลตราไวโอเลต  แต่ก๊าซโอโซนบนภาคพื้นดินจะเป็นก๊าซเรือนกระจกประเภทหนึ่งที่อยู่ในไอเสียของเครื่องยนต์ และไอเสียจากโรงงาน

            5. กลุ่มก๊าซฟลูออริเนต (Fluorinated gases) กลุ่มก๊าซประเภทนี้ไม่ใช่ก๊าซในธรรมชาติ มีที่มาจากภาคอุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยสามารถกักเก็บความร้อนได้ดีกว่าคาร์บอนไดออกไซด์หลายพันเท่า และอยู่ในชั้นบรรยากาศได้ยาวนาน นอกจากนี้ยังสามารถทำลายชั้นโอโซนในชั้นบรรยากาศได้อีกด้วย


ทศวรรษที่ร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์

            เราอาจสังเกตได้ว่าอากาศดูจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อเข้าสู่ทุกฤดูร้อน ซึ่งนั่นอาจไม่ใช่สิ่งที่คิดไปเอง ปี พ.ศ. 2565  ได้รับการประกาศอย่างเป็นทางการว่าเป็นปีที่โลกร้อนที่สุดเป็นอันดับ 6 ในรอบ 122 ปี นับจากที่มีการบันทึกอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2423 และสิบปีที่ผ่านมาเป็นทศวรรษที่โลกมีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดเป็นประวัติการณ์ ข้อมูลอุณหภูมิโลกที่ผ่านมาแสดงให้เห็นแนวโน้มว่าโลกจะร้อนขึ้นเรื่อยๆ หากมนุษย์ไม่เริ่มลงมือแก้ปัญหาอย่างจริงจัง 

ภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุด

            ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data ปี พ.ศ. 2563 พบว่า ทั่วโลกปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณเกือบ 5 หมื่นล้านตันในแต่ละปี โดยมีที่มาจากหลายภาคส่วน ภาคพลังงานเป็นภาคส่วนที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกออกสู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด ซึ่งรวมถึงการใช้ไฟฟ้าและพลังงานในอุตสาหกรรมต่างๆ การขนส่ง และอาคารบ้านเรือน โดยคิดเป็นร้อยละ 73.2 ของปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด รองลงมาคือภาคการเกษตร ป่าไม้ และการใช้ที่ดิน ซึ่งมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจก คิดเป็นร้อยละ 18.4 ลำดับต่อมาคือการผลิตภาคอุตสาหกรรมโดยตรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตซีเมนต์ สารเคมี และปิโตรเคมี คิดเป็นร้อยละ 5.2 และสุดท้ายคือของเสีย ซึ่งรวมทั้งน้ำเสียและการฝังกลบของเสียบนพื้นดิน ซึ่งสารอินทรีย์จะเปลี่ยนเป็นมีเทนเมื่อสลายตัว คิดเป็นร้อยละ 3.2

ภูมิภาคและประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุด

            สำหรับภูมิภาคหรือประเทศที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่ชั้นบรรยากาศมากที่สุดนั้น ข้อมูลจากเว็บไซต์ Our World in Data เปิดเผยว่า ในปี พ.ศ. 2560 ทวีปเอเชียเป็นทวีปที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากที่สุดในโลก คิดเป็นร้อยละ 53  ของปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ทั่วโลก  โดยมีประเทศจีนเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซดังกล่าวมากที่สุดของทวีปและของโลก ทวีปที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์รองลงมาคือ ทวีปอเมริกาเหนือ ทวีปยุโรป ทวีปแอฟริกา ทวีปอเมริกาใต้ และภูมิภาคโอเชียเนีย ตามลำดับ ทั้งนี้ ในปี พ.ศ. 2563 ประเทศที่ปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากที่สุดในโลก 8 อันดับ ได้แก่ ประเทศจีน สหรัฐอเมริกา สหภาพยุโรป อินเดีย รัสเซีย บราซิล แอฟริกาใต้ และสหราชอาณาจักร ตามลำดับ  ส่วนประเทศไทยปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากเป็นอันดับ 8 ของทวีปเอเชีย คิดเป็นร้อยละ 0.9 ของทั่วโลก 

อุณหภูมิที่เพิ่มขึ้นคือเรื่องใหญ่

            นักวิทยาศาสตร์และรัฐบาลของประเทศทั้งหลายต่างเห็นตรงกันว่า การรักษาระดับอุณหภูมิโลกไม่ให้สูงเกิน 1.5 องศาเซลเซียสจากระดับอุณหภูมิเฉลี่ยก่อนยุคปฏิบัติอุตสาหกรรมในศตวรรษที่ 19 เป็นสิ่งจำเป็นในการที่จะช่วยป้องกันผลร้ายที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และทำให้มนุษย์สามารถมีชีวิตรอดได้บนโลกใบนี้ อย่างไรก็ตาม ด้วยนโยบายที่ประเทศต่างๆ มีอยู่ในปัจจุบัน อุณหภูมิโลกจะเพิ่มขึ้นกว่าระดับก่อนยุคอุตสาหกรรม 2.8 องศาเซลเซียส ภายในสิ้นศตวรรษนี้

            การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเป็นปัญหาที่ต้องการความร่วมมือระดับโลกและจำเป็นต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน ซึ่งไม่ใช่หน้าที่ของหน่วยงานระดับโลกหรือรัฐบาลต่างๆ เท่านั้น  แต่รวมถึงภาคเอกชน ชุมชน และบุคคลทั่วไปด้วย


          * บทความนี้เรียบเรียงจากการค้นคว้างานวิจัยและ รวบรวมข้อมูลเรื่อง “แนวโน้มและสถานการณ์ของ
Climate Change ของโลกในปัจจุบัน” โดย กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ภาคการผลิตพลังงาน เป็นภาคส่วนที่ปลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญของภาวะโลกร้อนมากที่สุด

 

รายการอ้างอิง

ภาษาไทย

National Geographic. (2562). “ก๊าซเรือนกระจก เป็นประเด็นที่รับความสนใจจากประชาคมโลกมาเป็นเวลาหลายทษวรรษ” ออนไลน์. เข้าถึงได้จาก https://ngthai.com/science/25344/greenhouse-gases/

ภาษาอังกฤษ

Hannah R., Max R. and Pablo R. (2020). "CO and Greenhouse Gas Emissions." Published online at             OurWorldInData.org. Retrieved from: 'https://ourworldindata.org/co2-and-greenhouse-gas-  emissions.

NASA Climate Kids. (2023). “Meet the Greenhouse Gases!” Online. Retrieved from             https://climatekids.nasa.gov/greenhouse-cards/

NOAA National Centers for Environmental Information. (2023). “Monthly Global Climate Report for    Annual 2022” Online. Retrieved from   https://www.ncei.noaa.gov/access/monitoring/monthly-report/global/202213.

Romm, J. (2018). “Climate change: What everyone needs to know.” Oxford University Press.

UNDP. (2023). “The Climate Dictionary: An everyday guide to climate change.” Online. Retrieved     from https://climatepromise.undp.org/news-and-stories/climate-dictionary-everyday-guide-          climate-change

United Nations. “What Is Climate Change?” Online. Retrieved from     https://www.un.org/en/climatechange/what-is-climate-change

ข่าวสารที่่คล้ายกัน