ในเวลานี้คงปฏิเสธเทคโนโลยีดิจิทัลได้ยาก เพราะในกิจวัตรของเราเกี่ยวข้องตั้งแต่ตื่นเช้า เราเช็คข่าวสารในสื่อสังคมออนไลน์บนสมาร์ทโฟน พอสาย ๆ ใช้โน้ตบุ๊กประชุมผ่านระบบออนไลน์ หรือบางครั้งเมื่อเดินทางไปทำธุระนอกบ้านในยามบ่าย ก่อนจะกลับเข้าบ้าน เราสามารถเปิดเครื่องปรับอากาศอัตโนมัติผ่านแอพพลิเคชั่น หลังอาหารเย็น เด็ก ๆ ในบ้านอาจจะนั่งซุกตัวในห้องส่วนตัวหรือมุมหนึ่งของบ้านเพื่อเล่นเกมออนไลน์ กิจกรรมทั้งเกี่ยวข้องกับพลังงานไฟฟ้าที่จำเป็นสำหรับการทำงานของเครื่องมือพกพาและอุปกรณ์ครัวเรือน ไม่เพียงเท่านั้นระบบเครือข่ายที่ส่งสัญญาณมายังเครื่องมือเหล่านี้ รวมถึงศูนย์ข้อมูลที่จัดเก็บและจัดการเนื้อหา หรือกระทั่งโรงงานที่ผลิตเครื่องมือและอุปกรณ์ล้วนใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างแน่นอน
ในสถานการณ์ในปัจจุบัน หลายประเทศในโลกคงผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิล เช่นถ่านหินและก๊าซธรรมชาติ แน่นอนว่ากระบวนการผลิตดังกล่าวเกิดก๊าซที่ก่อให้เกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก และทำให้การเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศย่ำแย่ลง ฉะนั้น ยิ่งเรามีเครื่องมือและอุปกรณ์มากเท่าไร ยิ่งเราใช้และเชื่อมอินเตอร์เนตหรือระบบคลาวด์ ก๊าซเรือนกระจกยิ่งมากขึ้น และส่งผลต่อภูมิอากาศให้แย่ลงด้วย
ระบบคลาวด์ในเครือข่ายอินเตอร์เนตนับเป็นแหล่งที่ใช้พลังงานไม่น้อย ลองคิดถึงการชมภาพยนตร์แบบสตรีม ในสมาร์ททีวีผ่านเนตเวิร์คไวไฟหรือระบบแลน หรือในคอมพิวเตอร์หรือโทรศัพท์เคลื่อนที่ “การชมภาพยนตร์ด้วยระบบสตรีมใช้พลังงานไม่น้อยทีเดียว” เคอรี่ ฮินตัน วิศวกรวัยเกษียณที่เคยทำงาน ณ มหาวิทยาลัยเมลเบิร์น ออสเตรเลีย และศึกษาการใช้พลังงานในระบบโทรคมนาคม ฮินตันชี้ให้เห็นถึงการใช้พลังงานของคอมพิวเตอร์พกพาน้อยกว่าการใช้โทรทัศน์ เพราะการชมภาพยนตร์ผ่านระบบไวไฟใช้พลังงานมากกว่า
อย่างไรก็ดี พลังงานในการกระจายสัญญาณไวไฟฮอตสปอต “นับว่ามากมายทีเดียว” เพื่อให้เราสามารถเชื่อมต่อเครือข่ายได้ทุกที่ที่ต้องการ ฉะนั้น ไม่ว่าจะมีเพียงบุคคลคนเดียวหรือคนนับน้อยเชื่อมโยงเครือข่าย ยังคงใช้พลังงานเท่ากัน นอกจากนี้ ในพื้นที่สาธารณะ ระบบไวไฟยิ่งใช้พลังงานมากกว่าเครือข่ายส่วนบุคคลด้วยซ้ำ เมื่ออุปกรณ์พกพาของเราเชื่อมโยงกับเครือข่ายตลอดเวลาสำหรับการใช้งาน จึงทำให้เราไม่ตระหนักถึงพลังงานที่อยู่ในระบบ นอกจากนี้ แอพพลิเคชั่นและเกมออนไลน์ทำงานบนระบบคลาวด์ นั่นหมายความว่า คอมพิวเตอร์ทำงานเพื่อใช้งานแอพพลิเคชั่นหรือเกมผ่านศูนย์กลางข้อมูลระยะไกล ซึ่งศูนย์กลางข้อมูลนั้น มีเครื่องคอมพิวเตอร์ที่มีประสิทธิภาพสูงและอุปกรณ์อื่น ๆ ที่ทำให้คอมพิวเตอร์เหล่านั้นมีอุณหภูมิในระดับที่เหมาะสม
ทีมงาน “Green Gaming Lab” ศึกษาการใช้พลังงานในระบบโทรคมนาคมชี้ให้เห็นถึงการทำงานผ่านระบบคลาวด์ใช้พลังงานมากกว่าระบบบ้าน ไม่ว่าจะเป็นเกมออนไลน์หรือแม้แต่การพิมพ์เอกสารพื้นฐาน หากทำงานบนระบบคลาวน์แล้ว ใช้พลังงานมากกว่าการทำงานออฟไลน์ในระดับหนึ่งถึงสิบวัตต์ เพราะการทำงานออนไลน์จะต้องเชื่อมโยงไปยังศูนย์กลางข้อมูลอย่างต่อเนื่อง แน่นอนว่า การทำงานหรือเล่นเกมผ่านระบบคลาวด์ทำให้เราบันทึกข้อมูลในศูนย์กลางข้อมูลเดียวเพียงปลายนิ้ว และสะดวกในการทำงาน แต่กลับไม่ดีต่อภูมิอากาศ เพราะการเชื่อมต่อกับศูนย์กลางข้อมูลนั้นใช้พลังงานไฟฟ้าไม่น้อย
“ที่สำคัญข้อมูลต่าง ๆ ได้รับการสำเนาและจัดเก็บในศูนย์ข้อมูลมากกว่าหนึ่งแห่ง” ฮินตันย้ำถึงระบบการทำงานของศูนย์ข้อมูลเพื่อป้องกันการสูญหาย ทุกครั้งที่เราอัพโหลดภาพหนึ่งภาพขึ้นบนแอพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ นั่นหมายถึง บริษัทต้องจัดเก็บสำเนาถึง 4 ชุด ในแต่ละวันมีภาพใหม่อัพโหลดถึง 350 ล้านภาพ! ระบบดังกล่าวจะต้องใช้พลังงานอย่างต่อเนื่อง เมื่อเวลาผ่านไป ภาพส่วนหนึ่งจะนำไปเก็บไว้ในคลัง ซึ่งระบบคลังนั้นใช้พลังงานน้อยลง แต่เมื่อเราต้องการเรียกภาพเก่าขึ้นมาอีกครั้ง ระบบจะทำการเรียกคืนภาพดังกล่าว และในกรณีไฟล์วีดิโอ ยิ่งใช้พื้นที่ในการจัดก็บมากยิ่งขึ้น
ในสถานการณ์ปัจจุบัน วิศวกรออกแบบเครื่องอำนวยความสะดวก ตั้งแต่การเพาะปลูกเพื่อการทำงานแบบสมาร์ทฟาร์มมิ่ง จนถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์ต่าง ๆ ในครัวเรือน แต่ “ความสมาร์ทเหล่านี้ไม่ได้อย่างฟรี ๆ แต่อย่างใด” ฮินตันกล่าว ทีมงานของเขาระบุถึงบ้านที่พึ่งพาอุปกรณ์สมาร์ทเพื่อการควบคุมอุปกรณ์ให้แสงสว่าง เครื่องใช้ไฟฟ้า เครื่องปรับอากาศใช้พลังงานมากกว่าครัวเรือนทั่วไปถึง 30% ในแต่ละปี แม้อุปกรณ์เหล่านั้นจะสามารถปิดการใช้งานจากอุปกรณ์พกพาเพียงเครื่องเดียว แต่จะต้องไม่ลืมว่า การสั่งการและการตอบสนองคำสั่งล้วนพึ่งพาระบบออนไลน์ที่เชื่อมต่อตลอดเวลา
ฉะนั้นเมื่อใดก็ตาม ที่คุณไม่ได้ชมรายการโทรทัศน์ หรือใช้งานคอมพิวเตอร์ ขอให้ปิดเครื่องใช้ไฟฟ้าเหล่านั้น นั่นเป็นวิธีการที่ง่ายที่สุด รวมถึงยามใดที่ดูแอพพลิเคชั่นสื่อสังคมออนไลน์ หรือยูทูปแบบไม่มีเหตุผล หรือเลื่อนดูข่าวสารแบบไม่มีจุดมุ่งหมาย ขอให้คิดเสมอว่าคุณกำลังใช้พลังงานมากน้อยแค่ไหน และจะดีกว่าไหมในการใช้เวลาว่างกับการอ่านหนังสือหรือเดินสูดอากาศภายนอกเพื่อเปลี่ยนบรรยากาศ เป็นสิ่งที่น่าคิดด้วยเช่นกัน
ผู้เขียน : ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ
ที่มา
Gray, C. et al. (2020). ‘Smart’ is not free: Energy consumption of consumer home automation systems. IEEE Transactions on Consumer Electronics. Vol. 66.
Hulick, K. (2021). “Greening your digital life: How to reduce the energy impact of gaming, streaming and the internet of things”, available from https://www.sciencenewsforstudents.org/article/greening-digital-life-computers-phones-gaming-climate-change, accessed on April 20, 2021.
Mills, N. and E. Mills. (2016). Taming the energy use of gaming computers. Energy Efficiency. Vol. 9.
Vishwanath, A. et al. (2015). Energy consumption comparison of interactive cloud-based and local applications. IEEE Journal on Selected Areas in Communications. Vol. 33.