ฮัดชิ้ว ฮัดชิ้ว ฮัดชิ้ว มีใครบ่นถึงหรือเปล่าน่ะ?
เราเคยสังเกตไหมว่า เวลาที่มีคนจามติดต่อกันหลายๆครั้ง จะมีคนพูดขึ้นว่า มีคนบ่นถึงหรือมีคนนินทาอยู่หรือเปล่า จนเหมือนกลายเป็นเรื่องล้อเล่นและความเชื่อแต่จริงๆ แล้วการจามเป็นกลไกการป้องกันอันตรายของร่างกายและบางครั้งก็เป็นสัญญาณเตือนของโรคต่าง ๆ ดังนั้นเวลาที่เราจามหรือมีคนจามใกล้ๆ เราควรทำอย่างไรอาการจามสามารถเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกฤดูกาล เลยก็ว่าได้ นั่นก็เพราะสาเหตุหลักของการจามนั้นมาจากสิ่งแปลกปลอมโดยเฉพาะสารก่อภูมิแพ้ เช่น ฝุ่น เชื้อราในอากาศแมลงสาป ยุง แมลงวัน มด และละอองเกสร ล้วนเป็นสิ่งกระตุ้นให้ร่างกายเกิดการจามเพื่อเคลียร์หรือฟื้นฟูการทำงานของจมูก โดยเป็นการทำงานร่วมกันของจมูก ปาก ดวงตาปอด กะบังลม และกล้ามเนื้อหน้าอก เพราะในขณะที่เราจาม ตาของเราจะปิดลงกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องจะหดตัว ลิ้นเคลื่อนไปแตะเพดานปาก และบางครั้งจะหลั่งน้ำมูกหรือน้ำตาออกมากระตุ้นให้ร่างกายจามยิ่งขึ้นเพื่อเอาสิ่งแปลกปลอมออกจากร่างกายมากขึ้นอีกด้วย
อีกสาเหตุหนึ่งที่ทำให้เกิดอาการจามและคัดจมูก คือโรคที่เกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ เช่น โรคจมูกอักเสบที่อาจเกิดจากการแพ้ ติดเชื้อสามารถนำไปสู่โรคที่มีอาการรุนแรงขึ้นที่เรียกว่า ไซนัสอักเสบทั้งแบบฉับพลันและเรื้อรังโรคที่พบอยู่บ่อย ๆก็คือ โรคหวัดหรือไข้หวัด (Acute Rhinopharyngitis : Common cold) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสซึ่งมีหลากหลายสายพันธุ์ พบบ่อยในช่วงที่อากาศเปลี่ยนแปลง ทั้งฤดูฝน และฤดูหนาว สามารถพบผู้ติดเชื้อได้ทุกช่วงอายุ เราเคยสังเกตกันหรือไม่ ตั้งแต่เด็ก ๆ เมื่อเราจามผู้ใหญ่จะบอกให้เราใช้มือ ผ้าเช็ดหน้า หรือกระดาษทิชชูปิดจมูกและปากด้วยหนึ่งในสาเหตุที่สำคัญที่สุดก็เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อโรค ไม่ว่าจะจามเบาหรือแรงอนุภาคหรือละอองฝอยที่ถูกขับออกมาทางปากและจมูกมีขนาด 0.5 ถึง 5 ไมโครเมตรบวกกับความเร็วตั้งแต่ 30-150 กม./ชม. และสูงสุดอาจถึง 1,045 กม./ชม. (เกือบ 85% ของความเร็วของเสียง)จามเพียง 1 ครั้ง สามารถส่งเชื้อโรคออกสู่บรรยากาศได้มากถึง 40,000ตัว ทั้งยังแพร่ได้ไกลถึง 1.5 - 9 เมตร เรียกได้ว่าเชื้อโรคจะกระจายทั่วบริเวณนั้นทันทีแต่ถึงจะน่ากลัวขนาดไหนเราก็ไม่ควรกลั้นจาม การจามคือกลไกการป้องกันร่างกาย
ที่ตอบสนองแบบอัตโนมัติกลั้นจามอาจเป็นสาเหตุเล็ก ๆ ของหูชั้นกลางอักเสบทั้งยังเสี่ยงต่อการทำงานผิดปกติของกระบังลมในช่วงนั้นได้และทำให้เกิดการสะสม
เชื้อโรคในร่างกายอีกด้วย รู้อย่างนี้แล้วไม่ว่าตัวเราเองจะเป็นคนจามหรือคนรอบข้างเราจาม ก็ควรป้องกันทั้งสิ้น เพื่อตัวเราเองและคนรอบข้าง แม้ในบริเวณนั้นไม่มีใครจามก็ไม่ได้แสดงว่าสะอาดหรือปราศจากเชื้อโรค ดังนั้นเราจึงควรหลีกเลี่ยงสถานที่ที่มีสิ่งกระตุ้นให้จาม สถานที่แออัด รวมทั้งไม่ใช้มือสัมผัสหน้า ตา จมูกและปาก เพราะเป็นช่องทางที่เชื้อโรคสามารถเข้าสู่ร่างกายของเราได้ และอย่าลืมสังเกตอาการจามของตัวเองด้วยว่าผิดปกติหรือไม่ ไม่แน่ว่ากลไกของร่างกายที่เราคิดว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยนี้อาจจะสะท้อนสภาวะของร่างกายและสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเพื่อเตือนให้เราระมัดระวังจากสิ่งผิดปกติที่เรามองไม่เห็นก็ได้
ผู้เขียน : นางสาวอณัญญา บุญสนอง
ที่มา:
https://health.kapook.com/view87168.html
https://www.huffpost.com/entry/sneezing-facts-didnt-know_n_4936611?utm_hp_ref=mostpopular
https://www.researchgate.net/publication/26681056_Sneeze_reflex_Facts_and_fiction
https://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/71651/-blo-scibio-sci-