เตรียมตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

เตรียมตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

14-12-2021
เตรียมตัวเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์

      ธรณีกาล (Geologic Time) ตามความหมายทางธรณีวิทยา เป็นชื่อเรียกของระยะช่วงเวลา ซึ่งได้แบ่งลงมาเป็น บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และสมัย (Epoch) ตามลำดับ โดยในแต่ละยุคสมัยทางธรณีวิทยานั้นจะแตกต่างกัน เช่นสิ่งมีชีวิต หรือสภาพภูมิอากาศ นักธรณีวิทยาจะทำการวิเคราะห์ชั้นหิน จึงสามารถระบุระยะช่วงเวลาได้ 

        นักธรณีวิทยา ถือว่ายุคนี้เป็นสมัยโฮโลซีน (Holocence) ของยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ซึ่งเป็นช่วง 12,000 ปีหลังยุคน้ำแข็ง อารยะธรรมมนุษย์ได้เติบโตพัฒนาในช่วงเวลานี้ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างผลกระทบกับโลกอย่างเห็นได้ชัด จึงมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนำเสนอว่าสมัยโฮโลซีนได้สิ้นสุดลง และควรประกาศให้เป็นสมัยแอนโทรโปซีน (Anthropocene) 

        สมัยแอนโทรโปซีน ถือเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยคำว่า anthropo- แปลว่ามนุษย์ และ –cence แปลว่าใหม่ นักวิชาการบางกลุ่มได้นำคำนี้มาระบุช่วงเวลาทางธรณีที่มนุษย์สร้างผลกระทบกับโลก โดยยึดหลักฐานจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากการกระทำมนุษย์เช่น การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของพืชและสัตว์ การเกิดมลพิษทางทะเลจากอนุภาคพลาสติก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากในชั้นบรรยากาศและการรบกวนวัฏจักรไนโตรเจนด้วยปุ๋ย เวลาที่แน่ชัดของการเริ่มต้นของสมัยแอนโทรโปซีนนั้นยังไม่มีการตกลงอย่างชัดเจน โดยส่วนมากสรุปว่าเป็นช่วงปีค.ศ. 1800 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมของทวีปยุโรป และมีบางกลุ่มเสนอว่าเราเข้าสู่สมัยแอนโทรโปซีนในช่วงเวลาอื่น เช่น ช่วงต้นของการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ช่วงปฏิวัติสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีนักเคมีด้านชั้นบรรยากาศรางวัลโนเบล พอล ครุตเซน (Paul Crutzen) ได้กล่าวถึงช่วงปลายปี ค.ศ. 1950 ว่าที่เรียกว่าช่วง “การเร่งครั้งใหญ่” อัตราการเติบโตในหลายด้านเกิดขึ้น เช่นประชากรมนุษย์ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน โดยเขานำหลักฐานสภาวะชั้นบรรยากาศมาเปรียบเทียบและได้กล่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศรุนแรงจนสามารถถือได้ว่าเข้าสู่สมัยแอนโทรโปซีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 การนำคำแอนโทรโปซีนมาใช้ของ พอล ครุตเซน (Paul Crutzen) ทำให้มีความนิยมมากขึ้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์จนกระทั้งปี ค.ศ. 2009 มีการตั้งกลุ่ม Anthropocene Working Group เพื่อวิจัยค้นหาหลักฐานที่เป็นตัวชี้วัดการเกิดสมัยใหม่ และมีการนำเสนอแนวคิดดังกล่าวให้กับคณะกรรมการลำดับชั้นหิน (Commission on Stratigraphy) พิจารณาเพื่อประกาศให้ปัจจุบันเป็นสมัยแอนโทรโปซีนอย่างเป็นทางการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการนั้น ยังคงต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม เช่นมีหลักฐานชัดเจนทางธรณีวิทยา (ชั้นดิน) และแอนโทรโปซีนยังต้องถือเป็นคำที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนวิทยาศาสตร์ ซึ่งประโยชน์นั้นเริ่มเห็นได้มากขึ้นในกลุ่มนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ เนื่องจากมนุษย์ไม่ได้อยู่บนโลกนานพอกับไดโนเสาร์ หลักฐานผลกระทบต่างๆยังไม่ปรากฏในชั้นหิน พบได้แต่เพียงหลักฐานที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นเช่นชั้นดินหรือชั้นตะกอนใต้ทะเล จึงมีบางกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยกับการเข้าสู่สมัยใหม่นี้

 

เรียบเรียงโดย : นุชจริม เย็นทรวง

รูปภาพจาก : 
http://quaternary.stratigraphy.org/workinggroups/anthropocene/

ที่มา
http://quaternary.stratigraphy.org/workinggroups/anthropocene/
http://www.livescience.com/55942-has-planet-earth-entered-new-anthropocene-epoch.html
http://www.anthropocene.info/
https://www.theguardian.com/environment/2016/aug/29/declare-anthropocene-epoch-experts-urge-geological-congress-human-impact-earth

ข่าวสารที่่คล้ายกัน