ดินขุยไผ่ เป็นดินที่นิยมนำมาใช้ประโยชน์ทางการเกษตรกันอย่างแพร่หลาย โดยเฉพาะในการปลูกไม้ดอกไม้ประดับ และการปลูกผัก เพราะดินขุยไผ่มีลักษณะร่วน มีอินทรียวัตถุสูง ซึ่งอินทรียวัตถุนี้ทำให้ดินมีธาตุอาหารสูงและทำให้ดินโปร่งร่วน อินทรียวัตถุดังกล่าวเกิดจากการย่อยสลายของซากพืช ซากสัตว์โดยจุลินทรีย์และเชื้อราต่างๆ ในดิน โดยเฉพาะเชื้อราในสกุลไตรโคเดอร์มา (Trichoderma) ซึ่งเป็นเชื้อราที่มีประโยชน์ในการควบคุมจุลินทรีย์และเชื้อราที่ก่อให้เกิดโรคพืชบางชนิดเช่นเชื้อราที่เป็นสาเหตุโรครากเน่าและโคนเน่าได้
ดินขุยไผ่นั้น แรกเริ่มเดิมทีหมายถึงดินที่ได้จากบริเวณกอไผ่ที่ตายขุย หรือ ตายขี คำว่า ขุย ในที่นี้หมายถึงการออกดอกและติดผลของพืชกลุ่มไผ่ เวลาไผ่ออกดอกจึงมักเรียกว่า ออกขุย หรือออกขี (ขีภาษาอีสานแปลว่า ผล) เนื่องจากไผ่เป็นพืชในวงศ์หญ้าซึ่งพืชในวงศ์หญ้านั้นเมื่อออกดอกแล้วส่วนใหญ่จะตาย ไผ่ในประเทศไทยเราเป็นไผ่ที่ขึ้นเป็นกอหรือไผ่ 1 ต้น สามารถแตกออกเป็นหลายๆ ลำ เมื่ออายุกอถึงกำหนดเวลาออกดอกไผ่บางชนิดจะออกดอกพร้อมกันทั้งกอทุกลำ ไผ่บางชนิดอาจจะทยอยออกดอกทีละลำจนหมดกอก็ได้ แต่เมื่อออกดอกทั้งกอแล้ว กอไผ่นั้นจะตายลง จึงมักเรียกปรากฏการณ์การตายของต้นไผ่หลังการออกดอกติดผลว่า ตายขุย หรือ ตายขี หลังไผ่ออกดอกและตายลงจะเกิดการร่วงของส่วนประกอบของดอกและเมล็ดรวมถึงใบเป็นจำนวนมากทำให้บริเวณรอบๆ กอไผ่มีเศษซากพืชโดยเฉพาะเมล็ดไผ่สะสมอยู่บริเวณรอบๆ กอไผ่เป็นจำนวนมาก ซึ่งตัวเมล็ดไผ่เองนั้นถ้าเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ อาจเทียบได้กับข้าวเปลือกที่มีธาตุอาหารจำเป็นต่อการเจริญเติบโตของต้นกล้าที่จะงอกขึ้นมาจากเมล็ด ทำให้สภาพดินโดยรอบกอไผ่หลังไผ่ออกดอกนั้นมีคุณภาพดี จึงเรียกดินดังกล่าวว่า “ดินขุยไผ่” และนิยมนำดินดังกล่าวมาช่วยปรับปรุงดินในการปลูกพืชต่างๆ
ปัจจุบัน ดินขุยไผ่ ส่วนมากเป็นดินที่เกิดจากการผสมระหว่างเนื้อดิน ปุ๋ยคอก และเศษซากพืชโดยเฉพาะใบไผ่ที่ย่อยสลายแล้วบางส่วนหรือดินที่ได้จากโคนกอไผ่ (ที่ยังไม่ออกดอกตายขุย)
ผู้เรียบเรียง: อัจฉรา ตีระวัฒนานนท์
ที่มาของภาพ: โดมปทุมทอง, สราวุธ สังข์แก้ว
ที่มาของแหล่งข้อมูล:
https://www.nstda.or.th/agritec/78-featured-article/422-microbe. สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) Agricultural Technology and Innovation Management Institute (AGRITEC) [2 เมษายน 2563]