Xenobots คือหุ่นยนต์ที่มีชีวิต ซึ่งถูกพัฒนาขึ้นจากการผสมผสานวิทยาการปัญญาประดิษฐ์ (AI: Artificial intelligence) กับความรู้ทางชีววิทยาเข้าไว้ด้วยกัน ถึงแม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นหุ่นยนต์ แต่ทุกส่วนนั้นถูกประกอบขึ้นจากเนื้อเยื่อของสิ่งมีชีวิต โดย ‘Xeno’ มาจากคำว่า ‘Xenopus laevis’ ซึ่งเป็นชื่อสปีชีส์ของกบที่ถูกนำสเต็มเซลล์มาสร้างเป็น Xenobots และ ‘bots’ ที่มาจากคำว่า ‘robots’ นั้น เป็นการสื่อความหมายว่า Xenobots เป็นเหมือนกับหุ่นยนต์ที่สามารถถูกกำหนดให้มีคุณสมบัติและทำงานได้ตามที่ต้องการ
การสร้าง Xenobots เริ่มต้นจากการให้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่มีการประมวลผลผ่านขั้นตอนวิธีเชิงวิวัฒนาการ (Evolutionary algorithm) ออกแบบสิ่งมีชีวิตจากการประกอบกันของเซลล์จำลองที่มีคุณลักษณะทางกายภาพคล้ายคลึงกับเซลล์ผิวหนังและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของกบ ให้สามารถทำงานได้ตามที่กำหนด อย่างเช่น มีการเคลื่อนที่ไปในทิศทางเดียว หรือเคลื่อนที่เป็นวงกลม เป็นต้น หลังจากที่มีการประมวลผลนับร้อยครั้ง แบบจำลองของสิ่งมีชีวิตที่มีความเป็นไปได้มากที่สุดจะถูกนำมาสร้างขึ้นจริง โดยการนำเซลล์ผิวหนังและเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจของกบแต่ละเซลล์มาตัดและประกอบกันผ่านกล้องจุลทรรศน์ ให้เป็น Xenobot ที่มีรูปร่าง ส่วนประกอบ และการทำงานตามที่กำหนดไว้ในแบบจำลอง
การพัฒนา Xenobots อาจนำไปสู่การประยุกต์ใช้งานที่หลากหลาย อย่างเช่น การช่วยเก็บไมโครพลาสติกที่เป็นมลภาวะในมหาสมุทร กำจัดสารพิษหรือสารกัมมันตภาพรังสีที่เป็นอันตราย ลำเลียงยาเข้าไปในร่างกายของผู้ป่วย หรืออาจจะสร้าง Xenobots ขึ้นจากเซลล์ของผู้ป่วยเองเพื่อช่วยซ่อมแซมเนื้อเยื่อที่ถูกทำลาย หรือเพื่อกำจัดเซลล์มะเร็ง โดย Xenobots นั้นมีข้อดีตรงที่มีขนาดเล็ก ไม่เกิน 1 มิลลิเมตร ทำให้สามารถแทรกซึมเข้าไปในร่างกายของมนุษย์ได้ สามารถซ่อมแซมตัวเองได้ มีชีวิตและทำงานอยู่โดยอาศัยพลังงานที่สะสมอยู่ในเซลล์ของตัวเองได้นานหลายวันถึงหลายสัปดาห์ ก่อนที่จะย่อยสลายไปตามธรรมชาติ ซึ่งไม่ก่อให้เกิดมลภาวะอย่างเทคโนโลยีที่สร้างขึ้นจากโลหะ คอนกรีต หรือพลาสติก
อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลเกี่ยวกับจริยธรรมและผลกระทบแง่ลบที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้ Xenobots อย่างผิดวัตถุประสงค์ รวมถึงในกรณีที่อาจทำงานผิดพลาดไปจากที่ต้องการ จึงยังต้องมีการหารือถึงมาตรการควบคุมต่างๆ ที่เหมาะสมต่อไป
ผู้เขียน นางสาวแก้วนภา โพธิ
ที่มาของรูปภาพ
https://www.uvm.edu/uvmnews/news/team-builds-first-living-robots
ที่มาของแหล่งข้อมูล
https://www.wired.com/story/xenobot/
https://edition.cnn.com/2020/01/13/us/living-robot-stem-cells-intl-hnk-scli-scn/index.html