พิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกในปี ค.ศ. 2020 ที่กรุงโตเกียว ณ สนามโอลิมปิกสเตเดี้ยม (Olympic Stadium Tokyo 2020) ถูกเปิดอย่างเป็นทางการ ตระการตาไปด้วยสีสันการแปรรูปภาพหรือรูปร่างต่าง ๆ ด้วยอากาศยานไร้คนขับ ทั้งหมด 1,824 ตัว ซึ่งพิธีเปิดด้วยการใช้อากาศยานไร้คนขับนั้นเคยถูกใช้แสดงในโอลิมปิกฤดูหนาว ที่เมืองพย็องชัง ประเทศเกาหลีใต้ ในปี ค.ศ. 2018 มาแล้ว
ระหว่างพิธีเปิดการแข่งขันโอลิมปิกโตเกียวเกม ได้สร้างความเซอร์ไพรส์ให้แก่ผู้รับชมเป็นจำนวนมาก ด้วยการใช้ฝูงอากาศยานไร้คนขับทั้งหมดบินรวมกันบนท้องฟ้าสร้างเป็นรูปสัญลักษณ์ของโอลิมปิกต่อด้วยรูปโลก และบินวนรอบสนามด้วยความสวยงาม โดยอากาศยานไร้คนขับอยู่ภายใต้การควบคุมของ Intel Drone Light Shows ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ของบริษัท Intel โปรเจกต์นี้ถูกนำมาใช้แสดงในการเปิดตัวผลิตภัณฑ์หรือพิธีเปิดการแสดงมาหลายอย่างแล้ว เช่น งาน Dollywood’s Sweet Summer night ที่ไต้หวัน หรืออย่างงานเปิดตัวผลิตภัณฑ์ Samsung Galaxy Book pro เป็นต้น
บริษัท Intel ได้ใช้ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่มีคุณภาพและประสิทธิภาพอย่างดีเยี่ยม เริ่มด้วยฮาร์ดแวร์อากาศยานไร้คนขับ ออกแบบโดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก ใช้วัสดุที่เป็นพลาสติกทั้งตัวโครงสร้างและใบพัดทำให้มีน้ำหนักเพียง 340 กรัม ประกอบด้วยไฟ LED ถึง 4 ดวง ทำให้มีการส่องสว่างที่เด่นชัด รวมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ระบุตำแหน่งแบบ Real-time kinematic (RTK) ช่วยเพิ่มความแม่นยำของตำแหน่งสำหรับการเคลื่อนที่แบบความละเอียดสูง นำหลักการแอโรไอนามิคมาร่วมในการออกแบบด้วยจึงทำให้มีประสิทธิภาพของเคลื่อนที่ทั้งอัตราเร่งและความเร็วที่ดี สามารถทนต่อแรงต้านในอากาศได้ดี ทำความเร็วสูงสุดในการบินได้ถึง 11 เมตรต่อวินาที การชาร์จแบตเตอรี่จะอยู่ที่ 30 นาทีต่อการชาร์จหนึ่งครั้งเพื่อให้พลังงานแบตเตอรี่เต็มพร้อมใช้งาน
การควบคุมอากาศยานไร้คนขับจำนวนมากต้องใช้ซอฟต์แวร์ที่มีความแม่นยำสูงที่มีชื่อว่า SPH Engineering เป็นโปรแกรมที่สามารถบังคับการบิน จำลองแบบการบินได้ทั้งสองและสามมิติก่อนที่จะทำการบินจริง เพื่อให้แน่ใจว่าอากาศยานไร้คนขับจะทำงานถูกต้องตามคำสั่งที่กำหนดไว้
พิธีเปิดโอลิมปิคที่โตเกียวครั้งนี้ถือว่าเป็นพิธีเปิดที่น่าสนใจและน่าทึ่งเลยทีเดียว ทำให้เราเห็นเทคโนโลยีทางด้านอากาศยานไร้คนขับที่มีการพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด ในอนาคตอาจจะมีอะไรที่น่าตื่นตาตื่นใจไปมากกว่านี้แน่นอน
ที่มารูปภาพ :
[1] https://clios.com/awards/winner/branded-entertainment/intel/intel-drone-light-show-at-the-olympics-47293
[2] https://www.suasnews.com/2016/11/intel-nee-spaxels-500-drone-swarm/
แหล่งข้อมูลอ้างอิง :
[1] Spectacular Intel Drone [อินเทอร์เน็ต] (เข้าถึงวันที่ 27 ก.ค. 2564) เข้าได้จาก https://olympics.com/ioc/news/spectacular-intel-drone-light-show-helps-bring-tokyo-2020-to-life-1?fbclid=IwAR3-RNlPOq9IszQrwAXgPBaZiqsmzGdcqB6AJpWawuCD2zOWlPybRsltrkk
[2] Spectacular Intel Drone [อินเทอร์เน็ต] (เข้าถึงวันที่ 27 ก.ค. 2564) https://inteldronelightshows.com/technology/
[3] Spectacular Intel Drone [อินเทอร์เน็ต] (เข้าถึงวันที่ 2 ส.ค. 2564) https://dronedj.com/2021/07/25/behind-the-scenes-video-tokyo-olympics-drone-show/?fbclid=IwAR10-ZWP84kPaSG7KrZVaG7pVhmmSJUaqbKWB23kDfyCFS5qUtpMMSNdW78
เรียบเรียง: ยงยุทธ แก้วจำรัส
ตรวจทาน: ธานี หลินลาโพธิ์
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ