ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ
องค์การอนามัยโลก (WHO) ได้กำหนดให้ทุกวันที่ 25 เมษายน ของทุกปี เป็น “วันมาลาเรียโลก (World Malaria Day)” โดยมุ่งหวังให้ประชาชนร่วมใจต่อสู้โรคมาลาเรีย ซึ่งเป็นปัญหาสาธารณสุขในประเทศภูมิภาคเขตร้อน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเพื่อสร้างความตระหนักถึงวิธีการควบคุมและการรักษาโรคมาลาเรีย โดยปี พ.ศ. 2563 นี้ องค์การอนามัยโลกกำหนดคำขวัญวันมาลาเรียโลกว่า “Zero malaria starts with me” หรือ มาลาเรียจะหายไป ถ้าเริ่มต้นที่ตัวเรา เพื่อกระตุ้นเตือนให้ทุกภาคส่วน ร่วมกันกำจัดโรคไข้มาลาเรียให้หมดไป
โรคมาลาเรีย (Malaria) หรือที่รู้จักกันในชื่อไข้ป่า หรือไข้จับสั่น เป็นโรคติดต่อที่อันตรายร้ายแรงถึงชีวิต มีการแพร่ระบาดในเขตร้อนและกึ่งเขตร้อนทั่วโลก เกิดจากเชื้อโปรโตซัวที่ชื่อ พลาสโมเดียม (Plasmodium spp.) โดยเชื้อโปรโตซัวที่ก่อโรคมาลาเรียในคนมีอยู่ 5 สายพันธุ์ ได้แก่ P. falciparum P. vivax P. ovale P. malariae และ P. knowlesi สายพันธุ์ที่พบได้บ่อยที่สุดในประเทศไทย คือ P. falciparum และรองลงมา คือ P. vivax โดยมียุงก้นปล่องเพศเมีย (Anopheles spp.) เป็นพาหะนำโรค ยุงชนิดนี้สามารถบินได้ไกลประมาณ 1 กิโลเมตร แหล่งเพาะพันธุ์ของยุงก้นปล่อง อยู่บริเวณภูเขาสูง ป่าทึบ สวนยางพารา แหล่งน้ำลำธารธรรมชาติ และออกหากินเวลาใกล้ค่ำจนรุ่งสาง
เมื่อยุงก้นปล่องที่มีเชื้อมาลาเรียกัดคน มันจะปล่อยเชื้อเข้าสู่กระแสเลือด จากนั้นประมาณ 10-14 วัน ผู้ที่ถูกกัดจะมีอาการไข้สูง ปวดศีรษะ หนาวสั่น สลับร้อน เหงื่อออก จากนั้นอุณหภูมิร่างกายจะลดลงจนเป็นปกติ เรียกว่า ช่วงปราศจากไข้ (Apyrexia) ช่วงนี้ผู้ป่วยจะมีอาการเหมือนปกติทุกอย่าง แต่หลังจากนั้นอาการของผู้ป่วยจะกลับมาหนาวสั่นอีกครั้ง วนเช่นนี้เรื่อยไป โดยอาการเหล่านี้อาจเป็นในระยะสั้นเป็นวันหรือหลายวันก็ได้ ขึ้นอยู่กับระยะฟักตัวของเชื้อมาลาเรียแต่ละชนิด ดังนั้น หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์ เพื่อรับประทานยาต้านมาลาเรียอย่างต่อเนื่องจนหายขาด ไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง เพราะอาจทำให้เชื้อดื้อยาหรือมีอาการรุนแรงขึ้น และถ้าได้รับการรักษาช้า เชื้ออาจลุกลามจนเกิดภาวะมาลาเรียขึ้นสมอง น้ำท่วมปอด ไตวาย จนเสียชีวิตได้
จากรายงานมาลาเรียโลก ปี พ.ศ. 2562 (World Malaria Report 2019) ขององค์การอนามัยโลก ระบุว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2557 - 2561 การติดเชื้อมาลาเรียใหม่จากทั่วโลกยังไม่ลดลง และจำนวนผู้เสียชีวิตจากโรคมาลาเรียในปี พ.ศ. 2561 เกือบเท่ากับจำนวนผู้เสียชีวิตใน ปี พ.ศ. 2560 ขณะที่สถานการณ์โรคมาลาเรียในประเทศไทย ช่วงเดือนมกราคม – เมษายน พ.ศ. 2563 พบว่า มีผู้ติดเชื้อมาลาเรียทั่วประเทศจำนวน 669 ราย เป็นคนไทย 482 ราย และชาวต่างชาติ 187 ราย
การป้องกันตนเองจากโรคมาลาเรียที่ดีที่สุด คือ การป้องกันไม่ให้ยุงก้นปล่องที่เป็นพาหะนำโรคมาลาเรียกัด เช่น การนอนในมุ้ง หรือนำมุ้งไปชุบสารเคมีที่มีฤทธิ์ไล่หรือฆ่ายุง การใช้ยาจุดกันยุงหรือใช้ยาทากันยุง รวมถึงควรสวมเสื้อผ้าปกปิดร่างกายให้มิดชิด เช่น ใช้เสื้อแขนยาว กางเกงขายาว โดยเลือกใส่เสื้อผ้าสีอ่อน เพราะการใส่เสื้อผ้าสีดำ มักดึงดูดความสนใจให้ยุงกัดได้มาก และควรหลีกเลี่ยงการเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาดของเชื้อ สำหรับบ้านพักอาศัยควรทำลายแหล่งเพาะพันธุ์ยุงเพื่อลดปริมาณยุงที่เป็นพาหะของเชื้อ ถึงแม้ว่าโรคมาลาเรียจะเป็นโรคที่มีอันตรายถึงชีวิต แต่หากเรารู้จักเฝ้าระวังป้องกันด้วยวิธีการที่ถูกต้อง เราก็จะปลอดภัยจากโรคนี้ได้
ที่มาข้อมูล :
World Malaria Day 25 April 2020. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา : https://www.who.int/news-room/campaigns/world-malaria-day/world-malaria-day-2020 [20 เมษายน 2563]
ไทยร่วมจัดงานวันมาลาเรียโลก แนะใช้ตะไคร้หอมกันยุงกัด. [ออนไลน์]. 2556, แหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/Content/3032-%E0%B9%84%E0%B8%97%E0%B8%A2%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%A7%E0%B8%A1%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B8%87%E0%B8%B2%E0%B8%99%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A1%E0%B8%B2%E0%B8%A5%E0%B8%B2%E0%B9%80%E0%B8%A3%E0%B8%B5%E0%B8%A2%E0%B9%82%E0%B8%A5%E0%B8%81%20%E0%B9%81%E0%B8%99%E0%B8%B0%E0%B9%83%E0%B8%8A%E0%B9%89%E0%B8%95%E0%B8%B0%E0%B9%84%E0%B8%84%E0%B8%A3%E0%B9%89%E0%B8%AB%E0%B8%AD%E0%B8%A1%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%99%E0%B8%A2%E0%B8%B8%E0%B8%87%E0%B8%81%E0%B8%B1%E0%B8%94.html [20 เมษายน 2563]
โรคมาลาเรีย (Malaria). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา : https://medtech.psu.ac.th/index.php?r=site%2Fviewnews&id=52 [20 เมษายน 2563]
คำค้น : วันมาลาเรียโลก, โรคมาลาเรีย, ยุงก้นปล่อง
ผู้เขียน : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.