เข็มฉีดวัคซีน เมื่อใช้แล้วไปไหน ?

เข็มฉีดวัคซีน เมื่อใช้แล้วไปไหน ?

19-12-2021
เข็มฉีดวัคซีน เมื่อใช้แล้วไปไหน ?

         ในสถานการณ์ปัจจุบัน การระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา (COVID-19) ส่งผลกระทบในหลาย ๆ ด้าน รวมถึง การดำเนินชีวิตประจำวัน ปัจจุบัน วัคซีนถูกพัฒนาและนำไปใช้เพื่อเป็นการลดการระบาดและความรุนแรงของอาการเมื่อเกิดการติดเชื้อ การฉีกวัคซีนจึงกลายเป็นความหวังที่ทำให้เศรษฐกิจในประเทศฟื้นกลับมาอีกครั้ง และประชาชนก็จะได้กลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติ อย่างไรก็ตาม หลาย ๆ คนอาจทราบถึงข้อมูลและประโยชน์ของวัคซีนมาบ้างแล้ว แต่หลาย ๆ คน อาจจะยังไม่รู้ว่าเข็มฉีดวัคซีนที่เราใช้ฉีด เมื่อใช้งานเสร็จแล้วจะต้องนำไปกำจัดอย่างไรให้ปลอดภัยและไม่แพร่กระจายเชื้อ

          เข็มที่เราใช้ฉีดวัคซีนหรือเข็มฉีดยานั้น ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มขยะติดเชื้อ หรือขยะทางการแพทย์ ซึ่งเป็นขยะที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ถ้ามีการสัมผัสกับขยะติดเชื้อก็อาจมีความเสี่ยงให้เกิดโรคติดเชื้อต่าง ๆ ได้ เช่น โรคตับอักเสบ โรคระบบทางเดินหายใจ หรือแม้แต่โรคเอดส์รวมทั้งการเกิดความเสี่ยงของการแพร่กระจายเชื้อโรคทำให้มีผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนและสิ่งแวดล้อม จึงจำเป็นต้องมีการกำจัดอย่างถูกวิธี เมื่อใช้งานเสร็จแล้ว ก็จะต้องถูกทิ้งลงในถังขยะประเภทขยะติดเชื้อ (ถังขยะสีแดงที่เราเห็นตามโรงพยาบาล หรือตามสถานพยาบาล) โดยขยะติดเชื้อที่มีวัสดุมีคมจะต้องทิ้งลงในกล่องหรือถังที่มีความแข็งแรงป้องกันต่อการทะลุและจะต้องปิดฝาให้แน่นสนิทเพื่อความปลอดภัย ส่วนขยะติดเชื้อที่ไม่มีวัสดุมีคมจะต้องทิ้งลงในถุงสีแดงที่มีความทนทานต่อสารเคมีและจะต้องมัดปากถุงให้แน่นก่อนการขนย้าย เพื่อนำไปกำจัดในขั้นตอนต่อไป

          ขั้นตอนการทำลายเริ่มต้นจากการกำจัดเชื้อปนเปื้อน ซึ่งมีด้วยกันสองวิธี ได้แก่ การเผา และการอบด้วยไอน้ำ หรือการนึ่ง โดยการทำลายเชื้อทั้งสองวิธีนี้ต้องดำเนินการตามเกณฑ์มาตราฐานที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนดเพื่อให้สามารถทำลายเชื้อได้ทั้งหมด หลังจากนั้นจึงจะถูกนำไปกำจัดต่อเหมือนขยะมูลฝอยทั่วไป โดยการกำจัดขยะติดเชื้อส่วนใหญ่จะถูกนำไปเผาที่อุณหภูมิประมาณ 700 – 1,000 องศาเซลเซียส ซึ่งส่วนของขี้เถ้าที่มีส่วนประกอบของโลหะ อาจถูกนำกลับมาใช้ใหม่ได้ นอกจากนั้นในบางพื้นที่ที่มีปริมาณขยะมูลฝอยอยู่มากสามารถที่จะนำพลังงานความร้อนที่ได้จากการเผาไหม้มาใช้ในการผลิตไอน้ำ หรือผลิตกระแสไฟฟ้ามาใช้ในครัวเรือนได้อีกด้วย

         อย่างไรก็ตามในปัจจุบันหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกมีพัฒนาวัคซีนออกมาเป็นจำนวนหลายล้านโดส ที่จะนำมาฉีดให้กับประชาชน ลองคิดกันดูว่า หากหนึ่งคนจะต้องฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสโคโรนา (COVID-19) คนละอย่างน้อย 2 โดส แล้วถ้าจำนวนประชากรในประเทศไทยทั้งหมด 70 ล้านคนได้ฉีดวัคซีนกันครบทุกคนล่ะ จะมีขยะติดเชื้อเกิดขึ้นอีกเป็นจำนวนเท่าไหร่ที่จะต้องกำจัด เพราะฉะนั้นพวกเราทุกคนก็ต้องช่วยกันป้องกันตนเอง และปฏิบัติตามคำแนะนำของกระทรวงสาธารณสุข เพื่อทุกคนจะได้ปลอดภัยจากการแพร่ระบาดของเชื้อ (COVID-19) ในครั้งนี้

ผู้เขียน นายธีรวัฒน์ ธรรมสุวรรณ

ที่มา

 กรมควบคุมมลพิษ http://pcd.go.th/info_serv/waste_infectious.htm#s

 กรมควบคุมโรค https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/file/int_protection/int_protection_030164.pdf

 เจาะลึกระบบสุขภาพ https://www.hfocus.org/content/2021/01/20944     

 กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน กระทรวงพลังงาน                 

 https://www.dede.go.th/ewt_news.php?nid=509&filename=index

 คู่มือการฝึกอบรมผู้ปฏิบัติงานมูลฝอยติดเชื้อ 

 หลักสูตร การป้องกันและระงับการแพร่เชื้อหรืออันตรายที่อาจเกิดจากมูลฝอยติดเชื้อ

  http://env.anamai.moph.go.th/download/bkWeb/book/f007.pdf

ข่าวสารที่่คล้ายกัน