“จู้หรง” ผู้ถ่ายภาพดาวอังคารภาพแรกของเอเซีย

“จู้หรง” ผู้ถ่ายภาพดาวอังคารภาพแรกของเอเซีย

19-12-2021
“จู้หรง” ผู้ถ่ายภาพดาวอังคารภาพแรกของเอเซีย

อย่างที่ทราบกันดีว่าในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2561 – 2563) การสำรวจอวกาศและดวงดาวต่าง ๆ นอกโลก ได้กลับมาเป็นที่นิยมกันอีกครั้ง ประเทศมหาอำนาจรวมถึงบริษัทเอกชนได้ริเริ่มโครงการต่าง ๆ ในการสำรวจอวกาศและดวงดาวต่าง ๆ เพื่อแย่งชิงตำแหน่งและแสดงศักยภาพทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรมของตนเอง

ดาวอังคาร (Mars) เป็นอีกหนึ่ง เป้าหมายสำคัญของศึกการสำรวจอวกาศในครั้งนี้ เนื่องจากนักวิทยาศาสตร์และนักสำรวจอวกาศมีข้อมูลที่มีแนวโน้มว่า ดาวอังคาร มีสภาพใกล้เคียงกับโลกมาก และยังมีหลักฐานต่าง ๆ ที่อาจระบุได้ว่าดาวอังคารเคยมีน้ำที่เป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิตมาก่อน  ทำให้ดาวอังคารเป็นที่หมายมั่นปั้นมือว่า ดาวอังคารอาจเป็นโลกใบที่สองของมนุษยชาติ

ในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2564 ยาน Perseverance ขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา (NASA) ลงจอดและปฏิบัติภารกิจบนดาวอังคารได้สำเร็จ หลังจากนั้นได้ไม่นานเมื่อวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) ประกาศว่า ยานสำรวจดาวอังคาร จู้หรง (Zhurong) ลงจอดบนพื้นผิวของดาวอังคารบริเวณพื้นที่ทางใต้ของยูโทเปีย พลานิเทีย (Utopia Planitia) ได้สำเร็จเช่นกัน และยังยกย่องเหตุการณ์นี้ว่า "เป็นการฝากรอยเท้าของจีน บนพื้นผิวดาวอังคารได้เป็นครั้งแรก"

01

รูปที่ 1 จุดลงจอดของจู้หรง และยานอื่น ๆ

จู้หรง เป็นยานสำรวจประเภท Rover หรือยานขับเคลื่อนบนพื้นผิว ซึ่งมียานสำรวจเทียนเวิ่น-1 (Tianwen-1) เป็นยานลำเลียงในการลงจอด หลังจากวันที่ 15 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จู้หรงได้ทำการลงจอดและเตรียมพร้อมในการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม พ.ศ. 2564 จู้หรงได้สร้างความตื่นเต้นอีกครั้งโดยการส่งภาพถ่ายดาวอังคารกลับมายังโลก โดยภาพประกอบไปด้วยชานชาลาของยานเทียนเวิ่น- 1 และทางลาดสำหรับการปล่อยยานจู้หรงลงสู่พื้นผิวดาวอังคาร จึงทำให้ภาพดังกล่าวเป็น  ภาพดาวพื้นผิวอังคารภาพแรกที่ถูกถ่ายโดยยานสัญชาติเอเชีย

02

รูปที่ 2 ภาพถ่ายใบแรกของยานจู้หรง

จู้หรง และ เทียนเวิ่น-1 ยังคงปฏิบัติภารกิจในการสำรวจพื้นผิวดาวอังคารอย่างต่อเนื่อง ล่าสุดเมื่อวันที่ 18 กรกฎาคม พ.ศ. 2564 องค์การบริหารอวกาศแห่งชาติจีน (CNSA) รายงานความคืบหน้าว่า จู้หรงได้ทำการแล่นไปบนพื้นผิวดาวอังคารเป็นระยะทาง 509 เมตร และปฏิบัติภารกิจอยู่บนดาวอังคารแล้ว 63 วัน และยังคงส่งภาพถ่ายกลับมายังโลกอย่างต่อเนื่อง

03

รูปที่ 3 ภาพจู้หลงและเทียนเวิ่น-1

ความสำเร็จของจีนในครั้งนี้ทำให้เห็นว่าวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และนวัตกรรม ถูกพัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง และไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ชนชาติใดชนชาติหนึ่งเท่านั้น  ยิ่งเรามีข้อมูลการสำรวจดาวเคราะห์สีแดงดวงนี้มากเท่าไหร่ ก็จะทำให้เราสามารถวิเคราะห์ถึงลักษณะความเหมาะสมในการสร้างที่อยู่อาศัยแม่นยำมากขึ้นเท่านั้น และยิ่งทำให้เราพบข้อมูลที่น่าตื่นเต้นมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ หากแต่การย้ายถิ่นฐานไปยังดาวดวงใหม่เป็นเพียงทฤษฎีทางเลือกหนึ่งที่ยังท้าทายเราอยู่เบื้องหน้า เราอาจเป็นหนึ่งในทีมนักวิทยาศาสตร์ในการสำรวจดาวอังคารเพื่อสร้างถิ่นฐานใหม่ แต่ก็อย่าลืมรักษาถิ่นฐานเก่าโดยการรักษาธรรมชาติบนโลกใบนี้ของเรา เพื่อให้โลกสีน้ำเงินใบนี้อยู่กับเราไปนานแสนนาน

 

 

ที่มารูปภาพ :

[1] https://mgronline.com/china/detail/9640000070151
[2] http://www.cnsa.gov.cn/n6759533/c6812021/content.html
[3] http://www.cnsa.gov.cn/n6759533/c6812126/content.html

แหล่งข้อมูลอ้างอิง :

[1] จีนเผยภาพถ่ายจากดาวอังคารภาพแรก [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 15 ส.ค. 64) เข้าได้จาก https://news.thaipbs.or.th/content/304519
[2] 天问一号着陆过程两器分离和落火影像发布 [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 15 ส.ค. 64) เข้าได้จาก http://www.cnsa.gov.cn/n6759533/c6812021/content.html
[3] 天问一号探测器着陆火星首批科学影像图揭幕 [อินเทอร์เน็ต]. (เข้าถึงวันที่ 15 ส.ค. 64) เข้าได้จาก http://www.cnsa.gov.cn/n6759533/c6812126/content.html

เรียบเรียง: ธานี หลินลาโพธิ์
ตรวจทาน: วรรณวจี สุจริตธรรม
กองวิชาการเทคโนโลยีและนวัตกรรม สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน