อีกไม่นาน “โควิด” จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ก็ไม่ควรไว้วางใจ

อีกไม่นาน “โควิด” จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ก็ไม่ควรไว้วางใจ

25-03-2022
อีกไม่นาน “โควิด” จะกลายเป็นโรคประจำถิ่น  เป็นส่วนหนึ่งของชีวิต แต่ก็ไม่ควรไว้วางใจ

ภาพโดย Tavarius จาก https://www.shutterstock.com/th/image-photo/bangkok-city-thailand-03122020-unidentified-people-1677671749

 

ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคระบาดให้ความเห็นว่า โรคโควิด 19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นอีกไม่นานนี้ แต่คนทั่วไปยังคงสับสนกับคำว่า “โรคประจำถิ่น” หรือ Endemic  

แล้ว “โรคระบาด” หรือ Epidemic หมายความว่าอย่างไร คำอธิบายที่ตรงไปตรงมาที่สุดก็คือ โรคที่มีจำนวนผู้ป่วยในชุมชนมีมากผิดปกติหรือคาดไม่ถึง โดยเป็นโรคที่สามารถก่อให้เกิดอาการป่วยจนถึงเสียชีวิต มีการติดต่อระหว่างคนสู่คน และมีการแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วโลก ทั้งนี้โรคระบาดขึ้นอยู่กับการติดเชื้อและความรุนแรงของโรคที่แสดงออกจากภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขทั่วโลก ดังที่เราเห็นได้จากโรคโควิด 19 นั่นเอง

ในกรณีโรคโควิด 19  ในช่วงต้นของการระบาดคือการแพร่เชื้อได้อย่างรวดเร็วและมีศักยภาพ ทั้งนี้ในช่วงแรกของการแพร่ระบาด ประชาชนทั่วไปยังขาดภูมิคุ้มกัน ส่งผลให้การแพร่ระบาดเป็นไปอย่างรุนแรงและรวดเร็ว   

จาก “โรคระบาด” สู่ “โรคประจำถิ่น”
เมื่อการระบาดถึงขีดสุด ขณะที่ภูมิคุ้มกันของประชากรเพิ่มขึ้น ทั้งจากวัคซีนรวมถึงการติดเชื้อตามธรรมชาติ ความสามารถในการแพร่เชื้อของเชื้อโรคโควิด 19 ก็ลดน้อยลง ซึ่งนอกจากภูมิคุ้มกันดังกล่าวแล้ว การลดความสามารถของเชื้อไวรัสโรคโควิด 19 ในการแพร่กระจาย เช่น การจัดการระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย และการรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือที่ดีขึ้น ก็ทำให้การแพร่ระบาดของเชื้อโรคลดลงด้วยเหตุผลทั้งหมดนี้ ทำให้ลดความสามารถในการทำให้เกิดโรคโควิด 19 ของเชื้อไวรัสซาร์ส-โควี-2 (SARS-CoV-2) นั่นหมายความว่าหากมนุษยชาติโชคดี ในช่วงเวลาอีกไม่นานนี้ ไวรัสซาร์ส-โควี-2 ก็จะส่งผลให้การเกิดโรคมีความรุนแรงน้อยลง ส่งผลให้โรคระบาดที่คาดเดาไม่ได้ มีอัตราการแพร่ระบาดที่เป็นภัยคุกคามต่อประชากรน้อยลงและคาดการณ์ได้มากขึ้น หากเทียบกับตอนต้นของการแพร่ระบาด การคาดการณ์ได้ของโรคระบาดนี้ นำไปสู่ “การจัดการโรคระบาดได้” นั่นคือ การที่เราทุกคนบนโลก เริ่มอยู่ร่วมกับไวรัสซาร์ส-โควี-2 และนี่คือความหมายของ การเป็นโรคประจำถิ่น เฉกเช่นเดียวกับ โรคไข้หวัด โรคไข้หวัดใหญ่ หรือแม้แต่ โรคเอดส์   

“โรคประจำถิ่น” ไม่ได้หมายถึงการย่ามใจในการใช้ชีวิตประจำวัน   
การพูดถึง “โรคประจำถิ่น” มีความซับซ้อนมากยิ่งขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับมุมมองการใช้ชีวิตประจำวันในทางปฏิบัติ เพราะความเป็น “โรคประจำถิ่น” จะไม่ได้หมายความว่า เราจะละทิ้งการป้องกันสุขอนามัยส่วนบุคคลที่เราเคยทำ หรือ ไม่ได้หมายความว่า เราจะยอมจำนนต่อเชื้อโรคโควิด 19 แต่อย่างใด สิ่งที่เรายังต้องทำอยู่ต่อเนื่องถึงแม้โรคโควิด 19 จะกลายเป็นโรคประจำถิ่นแล้วก็ตาม ก็คือ การจัดการระยะห่างทางสังคม การสวมหน้ากากอนามัย และการรักษาสุขอนามัย เช่น การล้างมือ

ที่สำคัญ โรคที่ถือว่าเป็นโรคประจำถิ่นแล้ว ไม่ได้ หมายความว่าโรคนั้นไม่รุนแรงอีกต่อไป แต่มันหมายความถึงโรคนั้นยังคงเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตเราทุกคน เราไม่ได้เพิกเฉยต่อไวรัสซาร์ส-โควี-2 แต่เราต้องปรับเปลี่ยนวิธีในการตอบสนองต่อเชื้อโรคด้วยการป้องกันทุกคนจากโรค เช่นเดียวกับที่เราปฏิบัติกับโรคอื่น ๆ    

 

shutterstock 80859544

ภาพโดย Pgallery จาก https://www.shutterstock.com/th/image-photo/bangkok-thailand-march-25-2020-state-1684522489

แปลและเก็บความ โดย อานุภาพ สกุลงาม กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

จากบทความ COVID will soon be endemic. This doesn’t mean it’s harmless or we give up, just that it’s part of life โดย Hassan Vally และ Catherine Bennett

จากเว็บไซต์ https://theconversation.com/covid-will-soon-be-endemic-this-doesnt-mean-its-harmless-or-we-give-up-just-that-its-part-of-life-175622  

เข้าถึงเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2565

ข่าวสารที่่คล้ายกัน