หากพูดถึงเดือนกุมภาพันธ์ใครหลายคนคงจะนึกถึงเดือนแห่งความรัก การมอบความรักและสิ่งดี ๆ ให้กัน แต่ทว่าในอีกแง่มุมหนึ่งของปีนี้ (กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021) ก็มีภารกิจอันสำคัญนั่นคือ การสำรวจดาวอังคาร จากหลากหลายประเทศที่ได้ส่งยานเดินทางถึงวงโคจรของดาวอังคารสำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ซึ่งมียานอวกาศถึง 3 ลำ จาก 3 ประเทศด้วยกัน
ยานสำรวจดาวอังคาร Hope ของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์
ยานสำรวจลำแรกที่เดินทางไปถึงวงโคจรของดาวอังคารในวันที่ 9 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 เวลาประมาณ 22.57 น. ตามเวลาในประเทศไทย คือ ยานที่ชื่อว่า “Hope” ซึ่งแปลว่า ความหวัง เป็นยานสำรวจของประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ได้ทำการลดความเร็วลง ก่อนเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคาร เป็นชาติที่ 5 ที่สามารถส่งยานสำรวจไปยังดาวอังคารได้สำเร็จ สำหรับจุดมุ่งหมายของยานสำรวจดาวอังคาร Hope ในครั้งนี้คือการศึกษาชั้นบรรยากาศของดาวอังคาร โดยคาดว่าจะใช้เวลาในการปฏิบัติภารกิจประมาณ 2 ปี
ยานสำรวจลำถัดมาที่ตามมาติด ๆ คือ ยาน Tianwen-1 ของประเทศจีน ที่ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเมื่อวันที่ 23 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ณ ฐานปล่อยจรวด Wenchang ประเทศจีน ก่อนที่จะเดินทางเข้าสู่วงโคจรของดาวอังคารได้สำเร็จในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ ค.ศ. 2021 ในเวลาประมาณ 19.52 น. ตามเวลาในประเทศไทย สำหรับคำว่า Tianwen แปลว่า คําถามสู่สวรรค์ ซึ่งมีที่มาจากงานประพันธ์บทกวีของ Qu Yuan (เมื่อประมาณ 340-278 ก่อนคริสต์ศักราช)
ความพิเศษของยาน Tianwen-1 คือ ภารกิจในครั้งนี้ประกอบไปด้วยยานสำรวจถึง 3 แบบด้วยกัน ได้แก่
1. ยานโคจรรอบดาว (Orbiter)
2. ยานลงจอดบนพื้นผิว (Lander)
3. รถสำรวจ (Rover)
โดยแต่ละยานจะมีหน้าที่ในการสำรวจดาวอังคารที่แตกต่างกันไปตามลักษณะของยาน ซึ่งหลังจากนี้ในช่วงเดือนพฤษภาคมหรือมิถุนายน ยาน Tianwen-1 จะแยกส่วนและลงจอดบนพื้นผิวดาวอังคารบริเวณ Utopia Planitia ซึ่งเป็นพื้นที่ราบขนาดใหญ่
สำหรับจุดมุ่งหมายของยาน Tianwen-1 นั้นคือการศึกษาสภาพแวดล้อม โครงสร้างทางธรณีวิทยา ชั้นบรรยากาศ และศึกษาร่องรอยของน้ำบนดาวอังคาร รวมทั้งยังค้นหาสัญญาณบ่งชี้ของการมีสิ่งมีชีวิตบนดาวอังคารอีกด้วย โดยการปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ จะใช้เวลาประมาณ 93 วัน
ยานสำรวจดาวอังคาร Tianwen-1 ของประเทศจีน
ยานสำรวจดาวอังคารที่เดินทางไปถึงเป็นชาติถัดมา คือ Perseverance Rover เป็นยานอวกาศแบบรถสำรวจ (Rover) ของประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งออกเดินทางจากโลกในวันที่ 30 กรกฎาคม ค.ศ. 2020 ใช้เวลาในการเดินทางไปยังดาวอังคารประมาณ 7 เดือน และได้ทำการลงจอดบนดาวอังคารในวันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2021 เวลาประมาณ 3.55 น. ตามเวลาประเทศไทย สำหรับการลงจอดในครั้งนี้สำเร็จไปได้ด้วยดี โดยได้ลงจอด ณ ตำแหน่ง Jezero Crater ซี่งเป็นหลุมอุกกาบาตขนาดใหญ่ ที่นักวิทยาศาสตร์เชื่อกันว่าเป็นบริเวณเส้นทางไหลของน้ำในอดีต จุดมุ่งหมายของภารกิจในครั้งนี้มีเป้าหมายอยู่ด้วยกัน 4 ข้อ คือ
สำหรับการปฏิบัติภารกิจในครั้งนี้คาดว่าจะใช้เวลาประมาณ 687 วัน
รถสำรวจดาวอังคาร Perseverance ของประเทศสหรัฐอเมริกา
นับได้ว่าความสำเร็จดังกล่าวของทุกประเทศ เป็นจุดเริ่มต้นของการศึกษาทางดาราศาสตร์ที่จะช่วยทำให้เรามีความเข้าใจเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์ของดาวอังคารมากยิ่งขึ้น และยังขยายขอบเขตของความรู้ความเข้าใจที่เรามีต่ออวกาศมากขึ้น ทั้งยังเป็นการเสริมสร้างแรงบันดาลใจต่อเยาวชนและผู้คนที่มีความสนใจทางดาราศาสตร์เพื่อที่จะต่อยอดองค์ความรู้ในการพัฒนาการศึกษา วิจัยทางดาราศาสตร์ต่อไปในอนาคต
ผู้เขียน นายนครินทร์ ฉันทะโส
ที่มาของภาพ
https://www.arabnews.jp/en/middle-east/article_22163/
https://spacenews.com/chinas-first-mars-spacecraft-undergoing-integration-for-2020-launch/
https://mars.nasa.gov/mars2020/
ที่มาของข้อมูล :
Emirates Mars Mission. Emirates Mars Mission “Hope Probe” [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.emiratesmarsmission.ae/ [19 กุมภาพันธ์ 2564]
Emirates Mars Mission. Emirates Mars Mission: Hope spacecraft enters orbit [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://www.bbc.com/news/science-environment-55998848?fbclid=IwAR0QhySKnteSqVBhXZwy_D79aVtnQwetoFofIzR5lDis9AibV0YKBQigyP4#:~:text=Hope%20had%20been%20approaching%20Mars,off%20into%20ever%20deeper%20space [19 กุมภาพันธ์ 2564]
Andrew Jones. China’s Tianwen-1 enters orbit around Mars [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://spacenews.com/chinas-tianwen-1-enters-orbit-around-mars/ [19 กุมภาพันธ์ 2564]
Jessie Yeung. Tianwen-1, China's mission to Mars, has entered orbit [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา: https://edition.cnn.com/2021/02/10/asia/china-tianwen-1-mars-orbit-hnk-scli-scn/
[19 กุมภาพันธ์ 2564]
Xinhua. China's first Mars exploration mission named Tianwen-1 [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : http://www.xinhuanet.com/english/2020-04/24/c_139004153.htm [19 กุมภาพันธ์ 2564]
Andrew Jones. China chooses landing site for its Tianwen-1 Mars rover [ออนไลน์]. 2020, แหล่งที่มา : https://www.space.com/china-mars-rover-tianwen-1-landing-site
[19 กุมภาพันธ์ 2564]
NASA. Mars 2020 PERSEVERANCE ROVER [ออนไลน์]. 2021, แหล่งที่มา : https://mars.nasa.gov/mars2020/ [19 กุมภาพันธ์ 2564]