หมีน้ำ (Water Bear) หรือ บางทีก็เรียกว่า มอสส์ พิกเลตส์ (Moss piglets) เป็นสัตว์หลายเซลล์ มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า ทาร์ดิกราดา (Tardigrada) ตามปกติแล้ว เราไม่สามารถมองเห็นหมีน้ำได้ชัดเจนด้วยตาเปล่า ต้องใช้กล้องจุลทรรศน์ที่มีกำลังขยายถึง 40 เท่าขึ้นไป จึงจะสามารถมองเห็นโครงสร้างลำตัวของหมีน้ำได้ เพราะตัวเต็มวัย หรือวัยผู้ใหญ่ของหมีน้ำนั้นมีขนาดลำตัวที่เล็กจิ๋วมาก มีหัวและมี 8 ขา ความยาวแค่ประมาณ 1 - 1.5 มิลลิเมตรเท่านั้น ตามธรรมชาติมักพบหมีน้ำอาศัยอยู่ในพื้นที่หลายแห่งบนโลก เช่น พื้นที่ชุ่มชื้นมีมอสส์กับพืชตะไคร่น้ำ ทะเลทราย และในทะเล นอกจากนี้ ยังพบว่า หมีน้ำเป็นสัตว์โบราณ ทราบได้จากหลักฐานการค้นพบซากฟอสซิลของหมีน้ำ ที่ได้ตรวจสอบแล้วมีอายุถึง 500 ล้านปี และในปัจจุบันพบว่า หมีน้ำมีมากกว่า 1,000 สายพันธุ์ อย่างไรก็ดียังไม่พบว่า หมีน้ำเป็นอันตรายใด ๆ หรือเป็นพาหะนำโรคมาสู่มนุษย์และสัตว์ ถึงแม้ว่า มีการค้นพบหมีน้ำเป็นครั้งแรกในปี พ.ศ. 2316 โดยนักวิทยาศาสตร์คนแรกที่ค้นพบ คือ โยฮานน์ ออกุสต์ อิปฮราอิม เกิทเซอ (Johann August Ephraim Goeze) เป็นนักสัตววิทยาชาวเยอรมัน จัดให้หมีน้ำอยู่ในกลุ่มของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง แต่หลายคนอาจไม่รู้จักหมีน้ำมาก่อนในตำราที่เคยเรียน
คุณสมบัติพิเศษของหมีน้ำที่น่าสนใจ ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่นักวิทยาศาสตร์นำหมีน้ำไปเป็นสัตว์ทดลองในอวกาศ เพราะว่า หมีน้ำน่าจะเป็นสัตว์ชนิดเดียวบนโลกที่มีความทนทานอยู่ได้กับทุกสภาวะ ตัวอย่างเช่น หมีน้ำสามารถทนกับรังสีได้ถึง 6,000 เกรย์ ในขณะที่มนุษย์สามารถทนรังสีได้เพียง 6 เกรย์, หมีน้ำสามารถขาดอาหารและน้ำได้ถึง 10 ปี ในขณะที่มนุษย์ทั่วไปสามารถขาดอาหารได้ 21 วัน และขาดน้ำได้เต็มที่แค่ 4 วันกว่า ๆ หรือประมาณ 100 ชั่วโมง นอกจากนี้ หมีน้ำยังมีคุณสมบัติพิเศษอื่น ๆ ได้แก่ มีความสามารถหยุดการทำงานของร่างกาย สามารถขาดอากาศได้เป็นเวลานาน หรือคล้าย ๆ อยู่ในภาวะจำศีลได้เป็นเวลายาวนานถึง 10 – 30 ปี บางข้อมูลก็อ้างว่า หมีน้ำสามารถจำศีลได้ถึง 100 ปี, สามารถทนอยู่ในระดับน้ำทะเลลึกได้ถึง 4,000 เมตร, ทนความร้อนได้สูงถึง 150 องศาเซลเซียส, ทนความหนาวได้ถึง -272 องศาเซลเซียส, สามารถวางไข่ได้ 1 – 30 ฟองต่อครั้ง และมีคุณสมบัติที่สำคัญอีกอย่าง คือ หมีน้ำบางสายพันธุ์สามารถขยายพันธุ์ได้โดยไม่อาศัยเพศ ถึงแม้ว่าหมีน้ำจะมีทั้งเพศผู้และเพศเมีย หากมีอยู่เพียงเพศใดเพศหนึ่งก็สามารถขยายพันธุ์ด้วยตนเองได้ แต่หมีน้ำก็มีข้อจำกัดเรื่องอายุขัย ซึ่งปกติจะมีอายุยืนแค่ 3 – 4 เดือน และบางสายพันธุ์อาจจะอายุยืนยาวถึง 2 ปี ซึ่งคุณลักษณะต่าง ๆ ที่กล่าวมานับว่าหายากมาก สำหรับสิ่งมีชีวิตชนิดอื่น ๆ ที่พบในโลกใบนี้ หมีน้ำจึงได้รับการยกย่องว่า เป็นสัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ดังนั้น เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 11 เมษายน พ.ศ. 2562 ประเทศอิสราเอลได้ส่งยานอวกาศ ชื่อ เบเรชีต (Beresheet) ลงจอดบนดวงจันทร์ ถึงแม้ว่าตัวยานจะขัดข้องชนกับผิวดวงจันทร์ ต่อมาในวันอังคารที่ 6 สิงหาคม พ.ศ. 2562 ได้มีรายงานเพิ่มเติมว่า หมีน้ำเป็นจำนวนมาก ประมาณ 2,000 - 3,000 ตัว ที่ขนมากับยานลำนี้เพื่อนำมาใช้ทดลอง น่าจะมีชีวิตรอดอยู่บนดวงจันทร์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่นักวิทยาศาสตร์คาดการณ์ว่า หมีน้ำน่าจะอยู่ในภาวะจำศีล เนื่องจากบนดวงจันทร์ไม่มีทั้งอากาศและน้ำ ก็คงต้องติดตามรายงานทางวิทยาศาสตร์กันต่อไปว่า การใช้ชีวิตของหมีน้ำบนดวงจันทร์จะเป็นอย่างไรในอนาคต
ที่มา:
ข่าวสด (2562). หมีน้ำ : นักวิทยาศาสตร์คาดหมีน้ำอยู่รอดบนดวงจันทร์หลังยานอวกาศอิสราเอลเกิดอุบัติเหตุ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.khaosod.co.th/bbc-thai/news_2781083 (เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562).
โพสต์ทูเดย์ (2562). หมีน้ำ สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก บุกดวงจันทร์แล้ว [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.posttoday.com/world/596946 (เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562).
ภูริภัทร สังขพัฒน์ (2560). ‘หมีน้ำ’ ผู้อยู่รอดสุดท้ายบนโลก แม้อุกกาบาตถล่มก็ไม่หวั่น! [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://thestandard.co/news-environment-tardigrade/ (เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2562).
มติชน (2560). นักวิจัยฟันธง ‘หมีน้ำ’ อายุยืนยาวกว่ามนุษยชาติ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.matichon.co.th/lifestyle/tech/news_607074 (เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562).
Alina Bradford (2017). Facts About Tardigrades [Online]. Available from https://www.livescience.com/57985-tardigrade-facts.html (23 August 2019).
BBC (2019). Tardigrades: 'Water bears' stuck on the moon after crash [Online] Available from https://www.bbc.com/news/newsbeat-49265125 (23 August 2019).
DrKrok (2019). ยานอวกาศอิสราเอลอาจทิ้ง ทาร์ดิเกรด สัตว์จิ๋วทรหดไว้บนดวงจันทร์ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.drkrok.com/beresheet-spacecraft-may-have-colonized-moon-with-live-water-bears/ (เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562).
Elaina Zachos (2018). New Species of 'Indestructible' Animal Found in Surprising Place [Online]. Available from https://www.nationalgeographic.com/news/2018/03/tardigrade-water-bear-parking-lot-japan-spd/ (23 August 2019).
Flagfrog (2019). หมีน้ำ (ทาร์ดิเกรด) สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก ได้เดินทางถึงดวงจันทร์แล้ว [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.flagfrog.com/tardigrade-to-moon/ (เมื่อวันที่ 20 สิงหาคม 2562).
National Geographic Asia (2019). สายพันธุ์ใหม่ของหมีน้ำถูกพบในญี่ปุ่น [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://ngthai.com/animals/8478/tardigrades-new-species/ (เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2562).
TED (2017). เชิญพบกับหมีน้ำ สัตว์ที่แข็งแกร่งที่สุดในโลก - โทมัส บูทบี (Thomas Boothby). [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.ted.com/talks/thomas_boothby_meet_the_tardigrade_the_toughest_animal_on_earth/transcript?language=th (เมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2562).
ผู้เขียน: ดร.สุเมธ อาวสกุลสุทธิ