โรคเรื้อน โรคร้ายที่โลกลืม

โรคเรื้อน โรคร้ายที่โลกลืม

18-02-2022
โรคเรื้อน โรคร้ายที่โลกลืม

https://www.worldnationaldays.com/world-leprosy-day/

เมื่อกล่าวถึงโรคระบาดที่น่าสะพรึงกลัวในอดีต โรคเรื้อน (Leprosy) เป็นโรคที่มีการระบาดรุนแรงในประวัติศาสตร์โลก และไทย แต่เมื่อวันเวลาผ่านไป ความเจริญก้าวหน้าทางการแพทย์ และสาธารณสุข ทำให้คนทั่วโลกลืมความน่ากลัวของโรคเรื้อนไปจนหมดสิ้น หลายคนอาจคิดว่า โรคเรื้อนได้หายไปจากโลกนี้แล้ว ทั้งที่ความจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น  เพราะความจริงที่แสนเจ็บปวด คือ ยังมีคนจำนวนไม่น้อยบนโลกนี้ ที่ยังต้องเผชิญความเจ็บปวดจากโรคเรื้อน

ผู้ป่วยโรคเรื้อนจะเกิดความผิดปกติที่ผิวหนัง และเส้นประสาทส่วนปลาย โดยระยะแรกผู้ป่วยจะมีผื่นขึ้นแต่ไม่คัน สีผิวผิดปกติเป็นวง ผิวหนังแห้ง เหงื่อไม่ออก แต่รู้สึกชาเนื่องจากเส้นประสาทถูกทำลาย หากไม่ทำการรักษาผื่นจะกลายเป็นสีแดง มีแผลเรื้อรังตามมือ และเท้า อีกทั้งเส้นประสาทจะค่อย ๆ ถูกทำลายอย่าง  ช้า ๆ ทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรง แขน ขา และนิ้วมือลีบหงิก การเดินผิดปกติ ปากเบี้ยว หลับตาไม่ลง จมูกยุบ ใบหูหนา และผิดรูป เป็นต้น

cow

ภาพ: อาการสีผิวผิดปกติเป็นวงในผู้ป่วยโรคเรื้อนเด็ก ในประเทศอินเดีย

ภาพจาก: https://www.emg-health.com/omnipresent/leprosy-charity-urges-the-british-public-not-to-be-alarmed-by-red-squirrel-stories/

โรคเรื้อนสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ แต่ถ้าปล่อยไว้ให้เกิดอาการที่รุนแรงอาจเสียชีวิตได้  หรือถ้าไม่ได้รับการรักษาตั้งแต่เริ่มมีอาการ ถึงแม้จะรักษาจนหายแล้ว แต่ความพิการก็ยังคงอยู่ ทั้งนี้จากการศึกษาพบว่า  เชื้อก่อโรคเรื้อนมีระยะฟักตัว และระยะแพร่เชื้อที่ยาวนาน อีกทั้งไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่าโรคเรื้อนติดต่อจากคนสู่คนได้อย่างไร แต่มีการสันนิษฐานว่าเกิดจากการหายใจเอาละออง หรือสารคัดหลั่งของผู้ป่วยที่เกิดจากการไอ และจาม เกิดการติดต่อในผู้ที่ร่างกายอ่อนแอที่มีประวัติใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคเรื้อนเป็นส่วนใหญ่

มีการสันนิษฐานว่าโรคเรื้อนน่าจะเกิดเป็นที่แรกๆ ในทวีปแอฟริกา หรือเอเชีย ในช่วงก่อนคริสตกาล เนื่องจากมีหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากมายที่เกี่ยวข้อง หรือคล้ายคลึงกับโรคเรื้อน เช่น หน้ากากดินเผาของชาวไนจีเรียโบราณที่มีใบหน้าพิการแบบผู้ป่วยโรคเรื้อน การค้นพบบันทึกโรคระบาดที่อาการคล้ายกับโรคเรื้อนของชาวอียิปต์ และชาวอินเดีย  ซึ่งใกล้เคียงกับการปรากฏในบันทึกการระบาดของโรคเรื้อนในอาณาจักรกรีก ที่เกิดขึ้นหลังจากกองทัพของพระเจ้าอเล็กซานเดอร์มหาราช กลับจากการทำศึกกับอาณาจักรเปอร์เซียที่มีพื้นที่ติดต่อกับอียิปต์ และอินเดีย

88111

ภาพ: บันทึกโรคเรื้อนซึ่งเป็นภาษาสันสฤตโบราณที่ค้นพบในประเทศอินเดีย 

ภาพจาก https://wwwf.imperial.ac.uk/blog/imperial-medicine/2018/01/26/leprosy-in-2018-an-ancient-disease-that-remains-a-public-health-problem-today/

 

การระบาดของโรคเรื้อนยังคงเกิดขึ้นทั่วโลก ในแถบยุโรป อเมริกา และเอเชีย มีความเชื่อว่าโรคเรื้อนเป็นเรื่องของบาปกรรม และสายเลือดต้องคำสาป ประกอบการขาดความรู้ ความเข้าใจเรื่องการแพทย์ และสาธารณสุขที่ดี ผู้ป่วยโรคเรื้อนจึงถูกรังเกียจ ทอดทิ้ง และต้องเสียชีวิตด้วยภาวะแทรกซ้อนมากมาย จนกระทั่งในปี ค.ศ. 1873 แกร์ฮาร์ด อาเมอร์ แฮนเซน (Gerhard Armauer Hansen) นายแพทย์ชาวนอร์เวย์ พบว่าสาเหตุที่แท้จริงของโรคเรื้อนมาจากเชื้อแบคทีเรียที่ชื่อ Mycobacterium leprae ซึ่งสามารถรักษาให้หายได้ด้วยยาปฏิชีวนะ และด้วยเหตุนี้โรคเรื้อนจึงมีอีกชื่อหนึ่งคือ “โรคแฮนเซน” (Hansen's Disease)  

lacto1นายแพทย์ แกร์ฮาร์ด อาเมอร์ แฮนเซน 

ภาพจาก https://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1946939/pdf/canmedaj01567-0068.pdf

ในประเทศไทยเคยมีการระบาดของโรคเรื้อนมาก่อน ในอดีตคนไทยเรียกโรคเรื้อนว่า “ขี้ทูด กุฏฐัง” “หูหนาตาเล่อ” และ “ไทกอ” เพราะความเชื่อแบบเดียวกับในยุโรป ผู้ป่วยโรคเรื้อนในไทยจึงถูกรังเกียจ และโดนทอดทิ้งไม่ได้รับการรักษาเช่นกัน  มีการบันทึกว่ามีผู้ป่วยถึงหลักแสนคนในประเทศไทย จนถึงกับมีการตั้งหมู่บ้านโรคเรื้อน ใน พ.ศ. 2451 ซึ่งอยู่ในรัชสมัยของ   รัชกาลที่ 5 นายแพทย์เจมส์ ดับบลิว แมคเคน (James W. McKean) มิชชันนารีชาวอเมริกัน ได้สร้างสถานกักกันโรคเรื้อนที่จังหวัดเชียงใหม่ (Chiangmai Leper Asylum) เพื่อเป็นที่อาศัย และรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อน ในพื้นที่ 400 ไร่ ต่อมาในปี พ.ศ. 2464  มีการสร้างโรงพยาบาลคริสต์เตียนมโนรมย์ ที่จังหวัดชัยนาท และ “สำนักคนป่วยโรคเรื้อนพระประแดง” ที่ป้อมปู่เจ้าสมิงพราย อำเภอพระประแดง จังหวัดสมุทรปราการ โดยอยู่ในพระราชินูปถัมภ์ของ สมเด็จฯ พระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสภากาชาดไทย จนถึง พ.ศ. 2484 กรมสาธารณสุขได้เปลี่ยนชื่อเป็นกระทรวงสาธารณสุข และได้ย้ายสำนักคนป่วยโรคเรื้อนฯ มาอยู่ภายใต้กองควบคุมโรคเรื้อน กระทรวงสาธารณสุข

1440X600.Pixels

สถานกักกันโรคเรื้อนที่จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งภายในมีทั้งบ้านพัก สถานพยาบาล และโรงเรียน

ภาพจาก https://leprosyhistory.org/geographical_region/site/chaing-mai

ในสมัยพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช  ทรงมีความห่วงใยในสถานการณ์โรคเรื้อนในประเทศไทย จึงทรงพระราชทานพระราโชบายในการแก้ปัญหา และรักษาผู้ป่วยโรคเรื้อนเชิงรุกทรงพระราชทานเงินทุนตั้งต้นเพื่อสร้างอาคารที่สำนักคนป่วยโรคเรื้อนฯ เพื่อเป็นสถานที่สำหรับค้นคว้าวิจัยโรคเรื้อน และฝึกอบรมแพทย์ และบุคลากรสาธารณสุข ใช้ระยะเวลาในการก่อสร้างประมาณ 3 ปี  

จนกระทั่ง วันที่ 16 มกราคม พ.ศ. 2503 พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช เสด็จในพิธีเปิดศูนย์อบรม และวิจัยโรคเรื้อนในบริเวณโรงพยาบาลพระประแดง และพระราชทานนามว่า “สถาบันราชประชาสมาสัย” พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช มีพระราชดำรัสในบันทึกประวัติมูลนิธิราชประชาสมาสัยบันทึกว่า  “เพื่อใช้ในการศึกษาค้นคว้าวิชาการเกี่ยวกับโรคเรื้อน และทำการฝึกอบรมพนักงานที่ออกไปทำการบำบัดให้ถูกต้องตามหลักวิชาตามแผนขยายงานควบคุมโรคเรื้อนต่อไป” ต่อมาภายหลังได้จดทะเบียนเป็น “มูลนิธิราชประชาสมาสัย” และทรงรับเข้าเป็นมูลนิธิในพระบรมราชูปถัมภ์จวบจนทุกวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขจึงกำหนดให้ทุกวันที่ 16 มกราคมของทุกปีเป็น “วันราชประชาสมาสัย” เพื่อระลึกถึงวันที่ พระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช ทรงเปิดสถาบันแห่งนี้

ด้วยความรู้ด้านการแพทย์ และระบบสาธารณสุขที่มีความก้าวหน้า ทำให้ผู้คนส่วนใหญ่อาจคิดว่า โรคเรื้อนได้สูญหายไปจากโลกนี้แล้ว แต่ในความจริงยังมีผู้คนจำนวนไม่น้อยที่ยังเผชิญกับโรคเรื้อน โดยเฉพาะพื้นที่แออัด หรือพื้นที่ที่ระบบสาธารณสุขไม่ได้คุณภาพ เช่น ประเทศในแถบทวีปแอฟริกา ประเทศอินเดีย และประเทศไทย เป็นต้น องค์การอนามัยโลกจึงได้กำหนดให้วันอาทิตย์สุดท้ายของเดือนมกราคมของทุกปี (ซึ่งในปีพ.ศ. 2565 นี้ตรงกับวันที่ 30 มกราคม) เป็นวันโรคเรื้อนโลก (World Leprosy Day) เพื่อให้ทุกคนได้ตระหนักถึงความน่ากลัวของโรคเรื้อน โรคร้ายที่คนทั่วโลกลืม

leprosy8

ในหลวง ร.9 และสมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ในพิธีเปิดสถาบันราชประชาสมาสัย

ภาพจาก http://www.rajprachafoundation.org/16600605/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AF

เรียบเรียงโดย: ปวิตา ลิขิตเดชาโรจน์ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ สำนักวิชาการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference) :

https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=36

https://www.timeanddate.com/holidays/world/world-leprosy-day

http://www.inderm.go.th/News/journal/myfile/106655029bbb0edf1f_Page35-50.pdf

https://www.matichon.co.th/prachachuen/prachachuen-scoop/news_2069826

http://www.rajprachafoundation.org/16600605/%E0%B8%9B%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%95%E0%B8%B4%E0%B8%A1%E0%B8%B9%E0%B8%A5%E0%B8%99%E0%B8%B4%E0%B8%98%E0%B8%B4%E0%B8%AF

http://web.stanford.edu/class/humbio103/ParaSites2005/Leprosy/history.htm

https://leprosyhistory.org/timeline/list.php?page=28

https://www.who.int/news-room/fact-sheets/detail/leprosy

https://leprosyhistory.org/geographical_region/site/chaing-mai

https://historicengland.org.uk/research/inclusive-heritage/disability-history/1050-1485/time-of-leprosy/

ข่าวสารที่่คล้ายกัน