สัญญาณอันตรายของ “ทะเลมรกต” ในทะเลอาหรับ

สัญญาณอันตรายของ “ทะเลมรกต” ในทะเลอาหรับ

18-12-2021

นักวิจัยเตือนสัญญาณอันตรายจากหิมะที่ละลายอย่างต่อเนื่องในที่ราบหิมาลัย-ทิเบต ส่งผลต่อการขยายตัวของแพลงก์ตอนน็อกติลูกา (Noctiloca) และอุณหภูมิพื้นผิวมหาสมุทรร้อนขึ้น

ภาพจากองค์การนาซาชี้ให้เห็นความเชื่อมโยงระหว่างน้ำแข็งที่ละลายกับการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนสีเขียวในทะเลอาหรับ (ภาพที่ 1) “เราได้เห็นการเพิ่มขึ้นของสาหร่ายเขียวหรือแพลงก์ตอนน็อกติลูกาตามชายฝั่งของประเทศไทยและเวียดนามแล้ว และเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในอีกหลายพื้นที่ จนกลายเป็นสถานการณ์ที่น่าวิตกอย่างยิ่ง” โจคิม โกส์ (Joaquim Goes) ศูนย์สังเกตการณ์ฌลกลามอนต์-โดเฮอร์ตี (Lamont-Doherty Earth Observatory) แห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย กล่าวถึงความเปลี่ยนแปลงนี้ที่สัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

อันที่จริงปรากฏการณ์สาหร่ายสีเขียวเกิดขึ้นครั้งแรกเมื่อปลายทศวรรษ 1990 ทำให้ห่วงโซ่อาหารในทะเลอาหรับนั้นเปราะบางตามลำดับ โกส์กล่าวถึงคุณภาพของน้ำทะเลที่ลดลงและยังผลให้อัตราการตายของปลาสูงเป็นประวัติการณ์ นักวิจัยใช้ผลการทดลองให้ปฏิบัติการ ข้อมูลภาคสนาม และภาพจากดาวเทียมองค์การนาซาในทศวรรษ นำมาสู่ข้อสรุปของการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนน็อกติลูกาในทะเลอาหรับกับการละลายของน้ำแข็ง รวมถึงพายุฤดูหนาวที่อ่อนกำลังลง

โดยปกติแล้วลมพายุฤดูหนาวจากเทือกเขาหิมาลัยพัดพาความเย็นมายังมหาสมุทรต่าง ๆ น้ำทะเลผิวพื้นที่ได้รับความเย็นเช่นนี้จะจมลง และแทนที่ด้วยน้ำทะเลที่อุดมด้วยอาหารสำหรับแพลงก์ตอนพืช ซึ่งเป็นผู้ผลิตลำดับต้นในห่วงโซ่อาหาร แพลงก์ตอนพืชเพิ่มจำนวนมากขึ้นด้วยแสงแดดและธาตุอาหารในชั้นบนของมหาสมุทร จนกลายเป็นแหล่งอาหารปลาชั้นดี แต่เมื่อน้ำแข็งจากเทือกเขาหิมาลัยละลาย ทำให้ลมมรสุมพัดจากพื้นดินที่อุ่นและชื้นมากกว่า ยังผลให้กระบวนการเดิมนั้นยุติลง อาหารอุดมที่เคยอยู่บนผิวพื้นน้ำลดลงด้วยเช่นกัน สถานการณ์ดังกล่าวเป็นประโยชน์กับแพลงก์ตอนน็อกติลูกาที่ไม่ต้องอาศัยแสงแดดและธาตุอาหาร แต่อยู่รอดด้วยการกินสิ่งมีชีวิตอื่น ๆ คงมีเพียงแมงกะพรุนทะเลและซาล์ปที่เห็นแพลงก์ตอนน็อกติลูกาเป็นอาหารโอชะ ในประเทศโอมาน ทั้งโรงงานแยกเกลือกจากน้ำทะเลและอุตสาหกรรมปิโตรเลียมต้องลดกำลังการผลิตลง เนื่องจากเผชิญการเพิ่มขึ้นของแพลงก์ตอนชนิดนี้และแมงกะพรุน นอกจากนี้ สถานการณ์ดังกล่าวทำให้แหล่งอาหารในทะเลเผชิญภาวะวิกฤตด้วยเช่นกัน เมื่อสถานการณ์ทางเศรษฐกิจไร้เสถียรภาพ กลับเป็นปัจจัยกระตุ้นให้เกิดโจรสลัดเรือสินค้าในหลายประเทศ ทั้งเยเมนแลโซมาเลีย เป็นอาทิ การสูญเสียแหล่งประมงเช่นนี้ทำให้สถานการณ์ความวุ่นวายทางเศรษฐกิจและสังคมในภูมิภาคยิ่งแย่ลง ทั้งที่ในปัจจุบัน ทั้งสงครามและความยากจนเป็นปัจจัยของความวุ่นวายอยู่เนื่อง ๆ

Algae

ภาพที่ แพลงก์ตอน Noctiluca scintillans ในทะเลอาหรับ ภาพถ่ายจากอวกาศส่งผลต่อชายฝั่งของอินเดียและปากีสถาน (อ้างอิง: Norman Kuring, NASA)

Noctiluca scintillans

ภาพที่ 2 แพลงก์ตอน Noctiluca scintillans สิ่งมีชีวิตขนาดหนึ่งมิลลิเมตรที่อาศัยการสังเคราะห์แสงและล่าสิ่งมีชีวิตอื่นเพื่อเป็นอาหาร (อ้างอิง: Kali McKee, Lamond-Doherty Earth Observatory)

ผู้เขียน ชีวสิทธิ์ บุณยเกียรติ

Chadwick, Jonathan. Sea sparkle: Melting snow caps in the Himalayas are causing the spread of toxic glowing green algae blooms so big they can be seen from SPACE, study finds, available from https://www.dailymail.co.uk/sciencetech/article-8284445/Climate-change-lets-toxic-green-algae-thrive-Arabian-Sea.html, accessed on May 11, 2020.

Goes, J.I., Tian, H., Gomes, H.d.R. et al. Ecosystem state change in the Arabian Sea fuelled by the recent loss of snow over the Himalayan-Tibetan Plateau region. Sci Rep 10, 7422 (2020). https://doi.org/10.1038/s41598-020-64360-2, available from https://rdcu.be/b35DP, accessed on May 11, 2020.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน