เมื่อเข้าสู่ฤดูร้อน นอกจากจะต้องเผชิญกับแสงแดดที่ร้อนแรง อากาศที่ร้อนอบอ้าว และโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือโรคโควิด-19 (COVID-19) ที่หลายคงกำลังวิตกอยู่ในขณะนี้ แต่ทราบหรือไม่ว่ายังมีโรคที่แอบแฝงมากับฤดูร้อนอีกมาก ทั้งโรคที่มากับความร้อนของอากาศ หรือโรคที่มากับเชื้อจุลินทรีย์ เพราะสภาพอากาศร้อนชื้นแบบนี้เหมาะสมกับการเจริญเติบโตของเชื้อจุลินทรีย์อย่างยิ่ง โดยเฉพาะเชื้อแบคทีเรีย เราจึงควรเพิ่มความระมัดระวังในการดำเนินชีวิตให้มากขึ้น มาดูกันว่ามีโรคอะไรบ้างที่เราต้องระวังกันบ้าง
โรคอาหารเป็นพิษ เป็นโรคที่พบได้มากที่สุดในช่วงฤดูร้อน เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือไวรัส เช่น อาการท้องเสียเกิดจากเชื้อโนโรไวรัส (Norovirus) ซึ่งเป็นเชื้อไวรัสที่ปนเปื้อนอยู่ในอาหารหรือน้ำดื่ม และจากการสัมผัสผู้ที่ติดเชื้อ โดยหากติดเชื้อนี้อาจมีอาการถ่ายเหลวรุนแรง คลื่นไส้ อาเจียน มีไข้ ร่างกายขาดน้ำ แต่ถ้าเป็นมากต้องได้รับน้ำเกลือเสริม อาจดื่มหรือให้ทางเส้นเลือดแล้วแต่ความรุนแรง
โรคอุจจาระร่วง เกิดจากเชื้อจุลินทรีย์ เช่น แบคทีเรีย ไวรัส และโปรโตซัว ติดต่อได้จากการรับประทานอาหารหรือดื่มน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อน ผู้ป่วยจะถ่ายอุจจาระเหลวมากกว่า 3 ครั้งต่อวัน หรือถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกปนเลือด อาจมีอาการอาเจียนร่วมด้วย ถ้าไม่ได้รับการรักษาที่ถูกต้องร่างกายจะสูญเสียน้ำและเกลือแร่ อาจทำให้ผู้ป่วยเกิดภาวะช็อก หมดสติ และหากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงทีอาจทำให้เสียชีวิตได้
โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมเป็นพาหะนำโรคมาสู่คน ส่วนใหญ่พบในสุนัข แมว ค้างคาว ติดต่อได้ทั้งการโดนกัด ข่วน หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือน้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก หรือจมูก ถ้าไม่ได้รับการรักษาจะมีอาการภายใน 15-60 วัน หรือบางรายอาจนานเป็นปี โรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา ถ้าเป็นหรือติดเชื้อแล้วจะทำให้เสียชีวิตทุกราย ภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ จึงต้องรีบให้วัคซีนทันทีเมื่อได้รับเชื้อ และแจ้งให้เจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบ เพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่
โรคไข้หวัดแดด เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสที่ก่อโรคไข้หวัด ประกอบกับเผชิญสภาพอากาศร้อนจัด หรืออุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลง ทำให้ร่างกายปรับตัวกับสภาพอากาศไม่ทัน เมื่อเจอสภาพอากาศเช่นนี้ทำให้ร่างกายเกิดการสะสมความร้อนไว้ภายใน จนร่างกายระบายความร้อนไม่ทัน ทำให้มีไข้ วิงเวียน ปวดศีรษะ อ่อนเพลีย ปากแห้ง คอแห้ง เจ็บคอ ท้องไส้ปั่นป่วน ท้องเสีย คลื่นไส้ อาเจียน นอนไม่ค่อยหลับ จึงควรพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นเช็ดตัวเพื่อระบายความร้อนภายใน ดื่มน้ำอุ่นมาก ๆ รับประทานอาหารที่สะอาดและปรุงสุกใหม่ หรืออาจทานยาลดไข้ ร่วมด้วย โดยอาการเหล่านี้มักจะหายเป็นปกติภายใน 2 สัปดาห์
โรคผดร้อน เกิดจากรูขุมขนอุดตันและไม่สามารถขับเหงื่อได้ ทำให้เป็นตุ่มแดงที่ผิวหนัง อาจมีอาการคันและไม่สบายตัว ป้องกันได้โดยการสวมเสื้อผ้าที่เบาบางระบายเหงื่อได้ดี และไม่ทาครีมทาผิวหนาจนรูขุมขนอุดตัน ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด และหลีกเลี่ยงการสัมผัสน้ำสกปรก โดยปกติผื่นสามารถหายได้เองภายใน 1-2 วัน แต่หากอาการไม่ดีขึ้นควรไปพบแพทย์
โรคผิวไหม้แดด เกิดจากการอยู่ท่ามกลางแสงแดดเป็นเวลานาน โดยอาการไหม้แดดจะเกิดเร็วหรือช้าขึ้นอยู่กับสีผิวของแต่ละบุคคล คนที่ผิวขาวมาก มีแนวโน้มที่ผิวจะยิ่งไหม้เร็วกว่าคนที่มีผิวคล้ำ อาการที่เกิดขึ้น ได้แก่ บวม แดง ร้อน และอาการปวดแสบปวดร้อน นอกจากนี้อาจมีอาการคันร่วมด้วย วิธีการป้องกัน คือ ควรหลีกเลี่ยงการออกแดด ทาครีมกันแดด ครีมให้ความชุ่มชื้นและลดการสูญเสียน้ำของผิวหนัง สวมใส่เสื้อผ้าที่เหมาะสมป้องกันแดด หลีกเลี่ยงการขัดถู และงดใช้สารต่าง ๆ ที่ทำให้ผิวหนังแห้ง เช่น สบู่ ตรงบริเวณที่เป็นผิวไหม้ หากอาการไม่ดีขึ้น ควรรีบพบแพทย์ทันที
โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก (Heat stroke) เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส ทำให้มีอาการเมื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด คลื่นไส้ หากอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดจนไม่สามารถระบายเหงื่อได้ ทำให้มีไข้สูง ตัวร้อนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจถึงขั้นชักและหมดสติ หรือหัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้ วิธีป้องกัน คือ ควรอยู่ในที่ร่มระหว่างที่มีแดดและอากาศร้อนจัด สวมใส่เสื้อผ้าบาง ๆ รวมถึงควรดื่มน้ำให้เพียงพอเพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำ
โรคเครียด ความร้อนเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เกิดโรคเครียด โดยจะทำให้เกิดความหงุดหงิด ปวดหัว นอนไม่หลับ ฉุนเฉียว โมโหง่าย ซึ่งในระยะยาวอาจจะส่งผลต่อสุขภาพจิต คือ ทำให้อารมณ์เปลี่ยนแปลง จนกระทบไปถึงความสัมพันธ์กับบุคคลรอบข้าง วิธีผ่อนคลายความเครียด คือ อยู่ในที่ที่มีอากาศเย็นสบาย เช่น ใต้ร่มไม้ ที่ร่ม หรือหางานอดิเรกทำเพื่อฝึกสมาธิ เป็นต้น
สิ่งที่เราควรทำเพื่อหลีกเลี่ยงโรคต่าง ๆ ที่มากับฤดูร้อนนี้ ก็คือ ได้แก่ การเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงสุกใหม่ และดื่มน้ำที่สะอาด นอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ หมั่นออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ เพื่อให้สุขภาพร่างกายแข็งแรงสมบูรณ์ รวมถึงรักษาความสะอาดและสุขอนามัยของตนเองอยู่เสมอ ตลอดจนหลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่ที่ที่มีสภาพอากาศร้อนจัด เพียงเท่านี้เราก็จะสามารถผ่านฤดูร้อนปีนี้ไปได้อย่างปลอดภัยไร้โรคใด ๆ มารบกวน
ที่มาข้อมูล :
พิชิต...โรคที่มากับหน้าร้อน. [ออนไลน์]. 2556, แหล่งที่มา : https://www.si.mahidol.ac.th/sidoctor/e-pl/articledetail.asp?id=659 [6 เมษายน 2563]
หน้าร้อน" กับ 9 โรคร้าย...ที่ต้องระวัง!. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา : https://vibhavadi.com/health330 [6 เมษายน 2563]
แดดจัด ก็เป็นหวัดได้. [ออนไลน์]. 2562, แหล่งที่มา : https://www.thaihealth.or.th/Content/48703-%E0%B9%81%E0%B8%94%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B1%E0%B8%94%20%E0%B8%81%E0%B9%87%E0%B9%80%E0%B8%9B%E0%B9%87%E0%B8%99%E0%B8%AB%E0%B8%A7%E0%B8%B1%E0%B8%94%E0%B9%84%E0%B8%94%E0%B9%89.html [6 เมษายน 2563]
คำค้น : โรคฤดูร้อน, โนโรไวรัส (Norovirus), ฮีทสโตรก (Heat stroke)
ผู้เขียน : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง ผู้อำนวยการกองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม นักวิชาการ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
ผู้อนุมัติเผยแพร่ : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง (ผอ.วว.) ผู้อำนวยการกองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)