เรียบเรียงโดย ดร. สุเมธ อาวสกุลสุทธิ
การทดลองที่ดูเหมือนจะธรรมดาแต่ไม่ธรรมดา กลายเป็นกระแสข่าววิทยาศาสตร์ที่ฮือฮา เกิดจากคลิปวิดีโอสั้นๆมีความยาวประมาณ 3 นาทีกว่าๆ (ลองชมดูคลิปการทดลองที่ด้านล่างนี้ เพื่อความเข้าใจที่ง่ายขึ้น) ซึ่งมีการส่งต่อกันอย่างแพร่หลายให้ชมผ่านสื่อสังคมออนไลน์ ถือว่าเป็นการฟักตัวลูกเจี๊ยบได้ โดยไม่จำเป็นต้องมีเปลือกไข่ ในรายการโชว์ทางโทรทัศน์ของประเทศญี่ปุ่น โดยมีครูสอนวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่นกำลังสอนวิธีทดลองเพาะเลี้ยงลูกเจี๊ยบในพลาสติกใสบางๆ ให้กลุ่มเด็กนักเรียนผู้หญิงวัยรุ่นหลายคนทำการทดลองนี้ในห้องเรียน มีการใช้อุปกรณ์ง่ายๆเพียงไม่กี่ชนิด เช่น ไข่ไก่, แก้วน้ำพลาสติกใส, สารเคมีที่ต้องเตรียม, อุปกรณ์พลาสติกหรือทำจากไม้ก็ได้ที่เป็นรูปทรงไข่ครึ่งใบ, ก้อนสำลี, ฟิล์มพลาสติกบางใส, หัวแร้งไฟฟ้า, ฝาครอบทำจากพลาสติกใส, และตู้ฟักไข่ เริ่มต้นการทดลองจากมีนำแก้วน้ำพลาสติกใส ซึ่งทำมาจากพลาสติกชนิดพอลีสไตรีน (polystylene) เติมสารเคมีที่ชื่อ เบนซาลโคเนียมคลอไรด์ (benzalkonium chloride) ซึ่งมักใช้เป็นส่วนผสมของยาหรือสบู่ฆ่าเชื้อโรค มีความเข้มข้น 0.01% ปริมาณ 40 มิลลิลิตรลงไปในแก้วพลาสติกใสใบนี้ แล้วเจาะรูขนาด 1 - 1.5 เซนติเมตรและอุดด้วยก้อนลำลีปั้นเป็นขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางราว 3 - 4 เซนติเมตร สูงจากก้นแก้วพลาสติกใบนี้ราว 2 เซนติเมตร ขั้นตอนต่อมาจึงนำฟิล์มพลาสติกใสบางๆชนิดที่เรียกชื่อว่า พอลีเมทิลเพนทีน (polymethylpentene) มาดึงขึงบนอุปกรณ์พลาสติกที่เป็นทรงรูปไข่ครึ่งใบ เพื่อยืดดึงฟิล์มพลาสติกใสนี้ให้บางลงอีก จึงนำมาพลาสติกใสนั้นใส่หย่อนเป็นถุงครอบปากแก้วน้ำพลาสติกใส จากนั้นจึงนำไข่ไก่ที่เช็ดทำความสะอาดเปลือกด้วยแอลกอฮอล์ฆ่าเชื้อโรค ตอกไข่ใส่ลงในฟิล์มพลาสติกใสนี้ แล้วใช้หัวแร้งไฟฟ้าที่ร้อนมาเจาะรูขนาดเล็กโดยรอบๆข้างในฟิล์มพลาสติกบางใสนี้ ขนาด 5 – 8 มิลลิเมตร ราว 10 รู เพื่อระบายอากาศ (ปกติแล้ว หัวแร้งไฟฟ้าจะใช้เป็นอุปกรณ์ใช้เชื่อมบัดกรีเส้นตะกั่วในวงจรไฟฟ้า และวงจรอิเล็กทรอนิกส์) จากนั้นใส่ผงแคลเซียมแลคเตทเพนทาไฮเดรต (calcium lactate pentahydrate) ปริมาณ 250 - 300 มิลลิกรัม เจือจางด้วยน้ำกลั่นปริมาณ 2.5 - 3 มิลลิลิตร จึงปิดปากแก้วใบนี้ด้วยฝาครอบพลาสติกใส แล้วนำแก้วน้ำพลาสติกใบดังกล่าวใส่เข้าไปในตู้ฟักไข่ซึ่งต้องมีการควบคุมอุณหภูมิตามที่กำหนด ต่อมาในตอนท้ายของวิดีโอคลิปนี้จะเผยให้เห็นลูกเจี๊ยบที่กำลังฟักตัวออกมา จนมันเดินและวิ่งได้ในที่สุด ใช้เวลาในการทดลองประมาณ 21 วัน ถึงแม้ว่าลูกเจี๊ยบที่เกิดจากการทดลองในครั้งนี้จะไม่ได้เกิดมาในเปลือกไข่ แต่มันก็มีรูปร่างหน้าตาเหมือนลูกเจี๊ยบโดยปกติทั่วไป อย่างไรก็ดียังมีรายละเอียดปลีกย่อยในการทดลองนี้อีก ถ้ามีใครสนใจลองศึกษาเพิ่มเติมตามเอกสารงานวิจัยตามข้อมูลด้านล่าง เพื่อที่อยากจะประสบความสำเร็จในการทดลองเพาะเลี้ยงหรือฟักตัวลูกเจี๊ยบแบบไม่ต้องมีเปลือกไข่
การทดลองฟักลูกเจี๊ยบโดยไร้เปลือกไข่เชิงความคิดสร้างสรรค์นี้ นำมาจากงานวิจัยที่เผยแพร่ในปี พ.ศ. 2557 เป็นผลงานของนักวิทยาศาสตร์ชาวญี่ปุ่น 2 ท่าน คือ คุณยูทากะ ทาฮารา (Yutaka Tahara) และคุณคัทสึยะ โอบารา (Katsuya Obara) จากงานวิจัยในวารสารโพลทรี ไซแอนซ์ (Poultry Science) ที่มีชื่องานวิจัยว่า ระบบเพาะเลี้ยงไร้เปลือกไข่แบบใหม่สำหรับตัวอ่อนของไก่ โดยใช้ฟิล์มพลาสติกใสบางๆเป็นภาชนะในการเพาะเลี้ยง (A Novel Shell-less Culture System for Chick Embryos Using a Plastic Film as Culture Vessels) ซึ่งเอกสารงานวิจัยชุดนี้ได้อธิบายถึงวิธีการฟักไข่ไก่แบบไร้เปลือกอย่างละเอียดทุกขั้นตอน
แม้ว่าจะมีการคิดค้นวิธีฟักตัวลูกเจี๊ยบนอกเปลือกไข่มานานหลายปีแล้วก็ตาม จากนักวิจัยในประเทศอื่นอีกหลายๆท่านมาก่อนหน้านี้ เริ่มมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2505 โดยมักมีการตั้งชื่อเรียกที่แตกต่างกันไป ตามแต่จะตั้งชื่อในภาษาอังกฤษ เช่น chick-in-plastic (ลูกเจี๊ยบในพลาสติก), chick-in-a-cup (ลูกเจี๊ยบในถ้วย) และ the omelette lab (ห้องทดลองตอกไข่เจียว) แต่ไม่ประสบความสำเร็จในช่วงแรกๆ จนได้พัฒนาวิธีการวิจัยที่แตกต่างกัน และเกิดผลสำเร็จในที่สุด
อ้างอิงภาพและวิดีโอประกอบจาก
https://youtu.be/am3iGHDnJHc
เอกสารอ้างอิง
1. Bell, S. C. (2016). Can You Grow a Chicken in an Egg Without a Shell? [online]. Available from: http://www.huffingtonpost.com/sarah-bell-2/can-you-grow-a-chicken-in_b_10125526.html (7 June 2016).
2. Datar, S. and Bhonde, R. R. (2005). Shell-Less Chick Embryo Culture as an Alternative in vitro Model to Investigate Glucose-Induced Malformations in Mammalian Embryos. Rev Diabet Stud, 2(4), 221–227. Available from: http://www.ncbi.nlm.nih.gov/pmc/articles/PMC1783564/ (7 June 2016).
3. Tahara, Y. and Obara, K. (2014). A Novel Shell-less Culture System for Chick Embryos Using a Plastic Film as Culture Vessels. The Journal of Poultry Science, 51(3), 307-312 Available from: https://www.jstage.jst.go.jp/article/jpsa/51/3/51_0130043/_article (7 June 2016).