เอาตัวรอดอย่างไร...ในสถานการณ์เพลิงไหม้ในอาคารสูง

เอาตัวรอดอย่างไร...ในสถานการณ์เพลิงไหม้ในอาคารสูง

17-12-2021
เอาตัวรอดอย่างไร...ในสถานการณ์เพลิงไหม้ในอาคารสูง

     เพลิงไหม้ หรือ อัคคีภัย เกิดจากการรวมตัวของเชื้อเพลิงกับออกซิเจน ทำให้เกิดความร้อน และแสงสว่าง โดยไฟจะเกิดขึ้นได้ต้องประกอบด้วยองค์ประกอบ 3 อย่าง คือ เชื้อเพลิง ความร้อน ออกซิเจนและมีปฏิกิริยาลูกโซ่ทำให้เกิดการลุกไหม้อย่างต่อเนื่อง ทำให้เกิดความสูญเสียชีวิตและทรัพย์สิน ขณะเกิดเพลิงไหม้ หลายคนเสียชีวิตจากการสำลักควัน เนื่องจากควันไฟสามารถกระจายได้อย่างรวดเร็วภายในเวลาหนึ่งนาที และลอยได้สูงถึง 3 เมตร ภายในเวลา 1 วินาที ดังนั้น ใน 1 นาทีควันไฟ สามารถลอยสูงได้ถึง 180 เมตร เท่ากับตึกสูงประมาณ 60 ชั้น ดังนั้น เมื่อเกิดเพลิงไหม้ ควันไฟจะลอยปกคลุมไปทั่วอย่างรวดเร็ว ผู้คนอาจสำลักควันไฟเสียชีวิตก่อนที่เปลวเพลิงจะมาถึง ดังนั้น เราจึงควรเรียนรู้ถึงวิธีการเอาตัวรอดหากประสบเหตุเพลิงไหม้ ดังนี้

• ตั้งสติแล้วรีบพาตัวเองออกมาจากที่เกิดเหตุให้เร็วที่สุด โดยสังเกตสัญญาณเตือนภัยต่าง ๆ เช่น ป้ายหนีไฟฉุกเฉิน หรือสัญญาณไฟนำทางไปยังทางออกฉุกเฉิน

• พยายามหลีกเลี่ยงการสูดควัน เนื่องจากควันไฟมีสารพิษที่เป็นอันตรายต่อระบบทางเดินหายใจ เช่น ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ และ ก๊าซไฮโดรเจนไซยาไนด์ ก๊าซเหล่านี้จะขัดขวางไม่ให้ออกซิเจนเข้าไปเลี้ยงเซลล์ในร่างกาย ทำให้หมดสติและเสียชีวิตได้

• หาผ้าชุบน้ำปิดปากปิดจมูก หรือใช้ผ้าห่มชุบน้ำแล้วห่มตัว เพื่อป้องกันการสูดควันไฟและความร้อนจากเปลวไฟ

• หากอยู่ในห้อง ก่อนจะเปิดประตู ควรทดลองสัมผัสประตูก่อนเพื่อดูว่าร้อนหรือไม่ หากรู้สึกร้อนนั่นหมายถึงอาจมีไฟอยู่หลังประตูจึงไม่ควรเปิดทันที เพราะจะทำให้ควันไฟเข้ามาภายในห้องได้ หากเป็นไปได้ควรหาผ้าหนาๆ ชุบน้ำหรืออื่น ๆ มาอุดตรงประตู เพื่อป้องกันไม่ให้ควันไฟเข้ามาในห้องได้

• หากมีไฟลามติดตัว ไม่ควรวิ่ง ควรหยุดนิ่งและล้มตัวลงนอนกับพื้นและกลิ้งตัวทับเสื้อผ้าที่ติดไฟจนดับ

• หากติดอยู่ในห้องให้พยายามส่งสัญญาณขอความช่วยเหลือ เช่น ส่องไฟฉาย หรือโบกผ้าบริเวณหน้าต่าง เพื่อให้ภายนอกรู้ และทราบตำแหน่งที่เราอยู่

• หลีกเลี่ยงการใช้ลิฟต์ และบันไดเลื่อนขณะเกิดเพลิงไหม้ ควรใช้บันไดหนีไฟแทน

• หากต้องเผชิญกับควันไฟที่ปกคลุม ให้พยายามก้มตัวลงต่ำและคลานไปกับพื้น เพราะออกซิเจนจะลอยอยู่ในที่ต่ำ

• ถ้าหนีออกมาได้แล้ว ไม่ควรกลับเข้าไปในอาคารอีก และหากยังมีคนอื่นติดอยู่ภายในอาคารให้แจ้งเจ้าหน้าที่ดับเพลิงทราบ เพื่อเจ้าหน้าที่จะได้เข้าไปช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่ภายในอาคาร

     หากเราเรียนรู้วิธีปฏิบัติตนเมื่อเกิดเพลิงไหม้ และวิธีการอพยพออกจากพื้นที่ที่เกิดเพลิงไหม้อย่างถูกต้อง ก็จะช่วยป้องกัน และลดความเสี่ยงอันตรายจากอัคคีภัย ทำให้สามารถเอาตัวรอดจากเหตุเพลิงไหม้ได้

 

ภาพจาก : https://www.shutterstock.com/th/image-photo/silhouette-firemen-fighting-raging-fire-huge-94815847?src=GQMf1bScgVPzuaPGCTmamw-1-31 (Stock ID Photo : 94815847)
ที่มา : http://www.op.mahidol.ac.th/orau/index.php/about-us/gallery/14-Operating-at-a-strategic-risk-management-center/detail/216-sam_1896.html?tmpl=component
https://med.mahidol.ac.th/ramachannel/home/article/%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%80%E0%B8%AD%E0%B8%B2%E0%B8%95%E0%B8%B1%E0%B8%A7%E0%B8%A3%E0%B8%AD%E0%B8%94%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%81%E0%B9%84%E0%B8%9F%E0%B9%84%E0%B8%AB%E0%B8%A1%E0%B9%89-%E0%B8%84/
คำค้น : เพลิงไหม้, หนีไฟ,
ผู้เขียน : นายชนินทร์ สาริกภูติ
บรรณาธิการ (วิชาการ) : นางสาวอุมาภรณ์ เครือคำวัง
บรรณาธิการ (ภาษา) : นายอานุภาพ สกุลงาม

ข่าวสารที่่คล้ายกัน