วิทยาศาสตร์กับความรัก

วิทยาศาสตร์กับความรัก

17-12-2021
 วิทยาศาสตร์กับความรัก

วันวาเลนไทน์เป็นช่วงเวลาที่ใครๆ มักจะนึกถึงความรัก ความรักคือสิ่งที่สวยงาม คือ พลังที่ขับเคลื่อนความปรารถนาของมนุษย์ แต่ขณะเดียวกันความรักช่างมืดมิดและสร้างความทุกข์ให้กับหลาย ๆ คน เคยสงสัยกันบ้างหรือไม่ว่า ความรักเกิดขึ้นได้อย่างไรและเมื่อเกิดความรักขึ้นแล้ว ร่างกายของเราจะเกิดปฏิกิริยาอะไรบ้าง วันนี้เรามีคำตอบเกี่ยวกับเรื่องนี้มาเล่าให้ทุกคนฟังกัน

    ก่อนที่จะเริ่มเกิดความรู้สึกรักนั้น จะมีสารเคมีชนิดหนึ่งที่เป็นตัวนำพาให้เราเกิดความรัก เรียกว่า ฟีโรโมน (Pheromones)
ซึ่งเป็นสารเคมีที่สัตว์หลายชนิดสร้างขึ้นมาเพื่อดึงดูดเพศตรงข้าม ในมนุษย์ก็มีเช่นเดียวกัน ฟีโรโมนนี้ไม่สามารถสัมผัสได้
จากการสูดดมทางจมูก แต่สามารถรับรู้ได้จากสมอง ซึ่งคนที่จะได้รับกลิ่นนี้ได้ต้องมีฟีโรโมนตรงกับเราเท่านั้น เฮเลน ฟิเชอร์
นักมานุษยวิทยา จากมหาวิทยาลัยรัตเกอร์ รัฐนิวเจอร์ซีย์ ได้แบ่งความรักออกเป็น 3 ระดับ คือ ความใคร่ (Lust) ความเสน่หา
(Attraction) และความผูกพัน (Attachment)

1) ความใคร่ เป็นช่วงเวลาที่ทำให้เกิดความหลงใหล ความใคร่ และเกิดแรงขับทางเพศ ซึ่งความรู้สึกของ คนสองคนในช่วงนี้
ร่างกายจะถูกกระตุ้นด้วยฮอร์โมนที่สำคัญอยู่ 2 ชนิด ได้แก่ ฮอร์โมนเพศหญิง คือ เอสโตรเจน (Estrogen) และฮอร์โมนเพศชาย
คือ เทสโทสเตอโรน (Testosterone) ทำให้รู้สึกเขินเวลา มองตากัน หรือได้เจอกันแล้วเกิดอาการตื่นเต้น หัวใจเต้นแรง

2) ความเสน่หา เป็นช่วงเวลาแห่งการตกหลุมรัก ซึ่งเป็นอีกช่วงที่การใช้ชีวิตของเราจะเปลี่ยนแปลงไป เพราะความรักที่เข้าสู่ช่วงนี้
แล้วทำให้หลายคนเริ่มมีอาการเพ้อและคิดถึงคนรักตลอดเวลา อาการที่เกิดขึ้นในช่วงนี้จะถูกควบคุมโดยสารสื่อประสาทกลุ่มที่เรียกว่า
โมโนอะมิเนส (Monoamines) 3 ชนิด คือ โดพามีน (Dopamine) สารแห่งความสุขและความพึงพอใจที่หลั่งออกมา เมื่อร่างกายเรา
ได้รับสิ่งที่เราปรารถนา ฮอร์โมนเอพิเนฟรีน (Norepinephrine) หรือ อะดรีนาลิน (Adrenalin) ฮอร์โมนที่ทำให้ร่างกายตื่นตัว หัวใจเต้นแรง
เมื่อได้พบกับใครสักคนที่เรารัก และสุดท้ายคือ เซโรโทนิน (Serotonin) เป็นสารชีวเคมีที่สำคัญต่อกลไลการตกหลุมรัก ส่งผลต่ออารมณ์
และการแสดงออกของเรา ในขณะที่สมองหลั่งเซโรโทนิน เราอาจแสดงพฤติกรรมบางอย่างออกมาแบบไม่รู้ตัว ในขณะที่เรารู้สึกรักใครสักคน
ดังนั้น ความรักที่มีทั้งรัก ทั้งซึ้ง ทั้งเหงารวมอยู่ด้วยกันก็เกิดจากสารเซโรโทนิน

3) ความผูกพัน ในช่วงเวลานี้ร่างกายจะถูกควบคุมโดยฮอร์โมนสำคัญ 2 ชนิด คือ ออกซีโทซิน (Oxytocin) เป็นฮอร์โมนที่ทำให้จิตใจสงบ
ปลอดภัย คลายเครียด โดยออกซิโทซินจะหลั่งออกมาเมื่อเรามี การกอด การสัมผัส หรือใกล้ชิดกัน ให้เกิดความรัก ความผูกพัน
และความเชื่อใจซึ่งกันและกันขึ้น นอกจากนี้ ยังมีฮอร์โมนวาโซเพรสซิน (Vasopressin) เป็นฮอร์โมนที่ช่วยให้คู่รักนั้นมีความรู้สึกผูกพันกัน
ยาวนานมากขึ้น โดยสมองจะหลั่งสารวาโซเพรสซินออกมาหลังจากมีความสัมพันธ์กันของคู่รัก เป็น ฮอร์โมนที่ทำให้มีความรู้สึกผูกพันหวงแหน
อยากดูแลและปกป้องคนรักของตน

ถึงแม้ว่าความรักจะเป็นปฏิกิริยาทางเคมีที่เกิดขึ้นภายในร่างกายเพื่อตอบสนองความต้องการกับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อม แต่เราควรเข้าใจอยู่เสมอ
ว่าความรักนั้นยังขึ้นอยู่กับสิ่งต่างๆ อีกมากมาย ไม่ใช่แค่เพียงสารเคมีในร่างกายเท่านั้น แต่ยังรวมถึงปัจจัยทางสังคม วัฒนธรรม รวมถึงการเรียนรู้อีกด้วย
ดังนั้น ก็ไม่ได้หมายความว่าต่อจากนี้ไปเราจะต้องรักกันด้วยวิทยาศาสตร์ แต่เราควรให้ความรักที่เกิดขึ้นดำเนินไปตามธรรมชาติและคำนึงถึงความถูกต้องเหมาะสมเป็นสำคัญ

ที่มาข้อมูล :
https://ngthai.com/science/7690/scienceoflove/
http://www.trueplookpanya.com/knowledge/content/65431/-blo-scibio-sci-

ที่มารูปภาพ :
https://www.shutterstock.com/th/image-photo/closeup-blue-cap-sample-vial-on-625625933?src=f-Y4EnJN9-8X_66yYsoi3g-3-99

เรียบเรียงโดย : นายชนินทร์ สาริกภูติ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน