เปิดพิพิธภัณฑ์ในกล่องจิ๋ว - Museum in a Box

เปิดพิพิธภัณฑ์ในกล่องจิ๋ว - Museum in a Box

17-12-2021
เปิดพิพิธภัณฑ์ในกล่องจิ๋ว - Museum in a Box

          เมื่อพูดถึงศูนย์การเรียนรู้หรือพิพิธภัณฑ์ หลายคนมักคิดถึงทริปสั้นๆ เพื่อไปชมคอลเลคชั่นหรือของสะสมโบราณ ในบรรยากาศเก่าแก่และเข้มขลังจนอาจถึงขั้นน่าเบื่อ ไม่ว่าจะกลับไปกี่ครั้งหรือผ่านไปกี่ปีก็มีแต่ของชิ้นเดิมๆ ไม่ชวนให้สนใจหรืออยากเรียนรู้ แต่หากมองจากมุมตรงกันข้าม ภัณฑารักษ์ของพิพิธภัณฑ์หลายแห่งก็จำเป็นต้องคัดเลือกของสะสมเพียงหยิบมือจากจำนวนมหาศาล เพื่อมาจัดแสดงให้ผู้เข้าชมได้รับชมในสถานที่อันจำกัด และมีโอกาสบอกเล่าเรื่องราวของสิ่งของเพิ่มเติมแต่ละชิ้นผ่านตัวอักษรเพียงไม่กี่บรรทัดเท่านั้น ถึงแม้ว่าทั้งสองฝั่งจะพยายามปรับตัวเข้าหากัน แต่ความผิดหวังในการเรียนรู้ของผู้เข้าชมและสถานการณ์ยากลำบากที่เหล่าภัณฑารักษ์ต้องเผชิญอยู่นั้นเหมือนเป็นช่องว่างที่กว้างใหญ่ที่ยากจะเติมเต็ม เป็นปัญหาเรื้อรังจนไม่สามารถแก้ไขได้ แต่พัฒนาการของเทคโนโลยีบางชนิดก็อาจเข้ามาเป็นกาวประสานช่องว่างนั้นให้หดเล็กลง และสมานแผลการศึกษานี้ได้บ้าง

     Museum in a Box หรือ พิพิธภัณฑ์ในกล่องจิ๋ว เป็นโครงการของทีมงานนักพัฒนาจากกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ที่ต้องการลดปัญหาการเสียโอกาสของนักเรียนที่อยู่ห่างไกลจากแหล่งเรียนรู้นอกห้องเรียน โดยเฉพาะบรรดาพิพิธภัณฑ์ ศูนย์การเรียนรู้ และพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ โดยแนวคิดในการพัฒนาโครงการทั้งหมดนั้นเกิดจากผลของการศึกษาวิจัยหลายด้าน จนพบว่าการเรียนรู้ที่มีคุณภาพของคนยุคใหม่มักเกิดขึ้นจากการได้สัมผัสกับวัตถุจริงๆ พร้อมการรับสาส์นจากผู้เชี่ยวชาญโดยตรง มากกว่าการเรียนรู้ผ่านจอภาพ หรือผ่านคนกลางอีกทอดหนึ่ง

          จากผลการศึกษาดังกล่าวนี้เอง ทีมงานของ Museum in a Box จึงได้ริเริ่มใช้เทคโนโลยี 3D Printing เพื่อพิมพ์แบบจำลองของสะสมล้ำค่าจำนวนมหาศาลที่ถูกเก็บอยู่ในคลังของพิพิธภัณฑ์ ซึ่งผ่านกรรมวิธี 3D Digitization หรือการสร้างแบบจำลองโมเดลสามมิติในคอมพิวเตอร์ จนของสะสมเหล่านั้นถูกก๊อปปี้และผลิตซ้ำขึ้นเป็นวัตถุที่สามารถจับต้องได้โดยไม่ต้องกลัวว่าต้นฉบับจะถูกสัมผัสจนเสียหาย กลายเป็นตัวแทนในการบอกเล่าข้อมูลเชิงลึกที่น่าสนใจ ผ่านเสียงบรรยายของภัณฑารักษ์ผู้เชี่ยวชาญที่ไม่ถูกจำกัดความยาวเหมือนคอลเลคชั่นที่จัดแสดงในพิพิธภัณฑ์

Mar 1 1

          ด้วยหลักการทางเทคนิคง่ายๆ โดยอาศัยอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า Raspberry PI ในกล่องขนาดจิ๋วซึ่งไม่มีจอจอภาพ แต่มีอุปกรณ์ NFC Reader (Near Field Communication Reader) ที่สามารถตรวจได้ว่าขณะนั้นมีโมเดลจำลองหรือวัตถุชนิดใดถูกนำมาวางไว้บนตัวเครื่อง อุปกรณ์ Museum in a Box แต่ละชุดนั้นสามารถทำหน้าที่เป็นผู้ส่งสาร ถ่ายทอดเรื่องราวในพิพิธภัณฑ์ให้กับนักเรียน หรือคนทั่วไปที่ไม่สามารถเดินทางมาเยี่ยมชมพิพิธภัณฑ์ได้ด้วยตัวเอง หรือแม้แต่ผู้มีความบกพร่องทางการมองเห็น และถึงแม้ว่าตัวอุปกรณ์นั้นจะถ่ายทอดเรื่องราวแต่ละเรื่องจบลงแล้ว แต่ทีมงาน Museum in a Box ยังหวังในข้อมูลที่น่าสนใจเหล่านั้นจุดประกายให้เกิดการเรียนรู้ที่ต่อเนื่อง ผ่านการพูดคุยหรือซักถามข้อสงสัยระหว่างกลุ่มนักเรียนผู้ใช้งานอุปกรณ์กับคุณครู หรือกับผู้รู้ในท้องถิ่นของตนเอง รวมถึงเปิดรับเสียงสะท้อนที่อาจกลับมายังตัวทีมงานและพิพิธภัณฑ์ซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูล ซึ่งนับเป็นกุศโลบายที่น่าสนใจอีกประการหนึ่งที่จะช่วยเสริมสร้างการปฏิสัมพันธ์ระหว่างผู้คนในโลกแห่งความเป็นจริงอีกด้วย

          หลังจากเริ่มต้นขึ้นในปี ค.ศ. 2015 โครงการ Museum in a Box ได้รับความร่วมมือจากพิพิธภัณฑ์ชื่อดังหลายแห่งทั่วโลก เช่น British Museum ประเทศอังกฤษ Smithsonian Institution สหรัฐอเมริกา RIJks Museum ประเทศเนเธอร์แลนด์ และ Science Museum ประเทศอังกฤษ ในการอนุเคราะห์คอลเลคชั่นวัตถุจัดแสดงและข้อมูลเชิงลึกเพื่อสร้างชุดอุปกรณ์เพิ่มเติม และนำไปใช้กับกิจกรรมในโอกาสต่างๆ เรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน

          ถึงแม้ว่าอุปกรณ์ Museum in a Box นั้นยังคงอยู่ระหว่างการพัฒนา และมีแนวโน้มที่จะเป็นโครงการทดลองเพื่อการศึกษาไปอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากทีมผู้พัฒนายังไม่มีนโยบายหารายได้เชิงพาณิชย์ รวมถึงไม่มีการเปิดรับผู้สนับสนุนด้านการเงินอย่างเป็นทางการ ซึ่งส่งผลให้โอกาสที่จะมีผู้นำมาจัดจำหน่ายในประเทศไทยยังมีค่อนข้างน้อยมาก แต่โครงการ Museum in a Box ก็ถือเป็นตัวอย่างที่ชัดเจนของการนำความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่อาจแก้ปัญหาซึ่งเคยขัดขวางการเรียนรู้ในพื้นที่พิพิธภัณฑ์ลงไปได้ด้วยเทคโนโลยีอย่างแท้จริง

 

แหล่งข้อมูลค้นคว้าและภาพจาก:

[1] http://www.museuminabox.org/how-does-it-work/

[2] http://www.museuminabox.org/new-commission-british-museum-national-museum-of-iraq-partnership-a-box-goes-to-baghdad/

[3] http://www.museuminabox.org/

ผู้เขียนและเรียบเรียง: นายวชิรพันธ์ เจริญเวช นักวิชาการ5 กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ

ข่าวสารที่่คล้ายกัน