ธรณีกาล (Geologic Time) ตามความหมายทางธรณีวิทยา เป็นชื่อเรียกของระยะช่วงเวลา ซึ่งได้แบ่งลงมาเป็น บรมยุค (Eon) มหายุค (Era) ยุค (Period) และสมัย (Epoch) ตามลำดับ โดยในแต่ละยุคสมัยทางธรณีวิทยานั้นจะแตกต่างกัน เช่นสิ่งมีชีวิต หรือสภาพภูมิอากาศ นักธรณีวิทยาจะทำการวิเคราะห์ชั้นหิน จึงสามารถระบุระยะช่วงเวลาได้
นักธรณีวิทยา ถือว่ายุคนี้เป็นสมัยโฮโลซีน (Holocence) ของยุคควอเทอร์นารี (Quaternary) ซึ่งเป็นช่วง 12,000 ปีหลังยุคน้ำแข็ง อารยะธรรมมนุษย์ได้เติบโตพัฒนาในช่วงเวลานี้ แต่ปัจจุบันมนุษย์ได้สร้างผลกระทบกับโลกอย่างเห็นได้ชัด จึงมีกลุ่มผู้เชี่ยวชาญนำเสนอว่าสมัยโฮโลซีนได้สิ้นสุดลง และควรประกาศให้เป็นสมัยแอนโทรโปซีน (Anthropocene)
สมัยแอนโทรโปซีน ถือเป็นคำศัพท์ใหม่ที่ยังไม่ได้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการ โดยคำว่า anthropo- แปลว่ามนุษย์ และ –cence แปลว่าใหม่ นักวิชาการบางกลุ่มได้นำคำนี้มาระบุช่วงเวลาทางธรณีที่มนุษย์สร้างผลกระทบกับโลก โดยยึดหลักฐานจากการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ที่เกิดจากการกระทำมนุษย์เช่น การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ของพืชและสัตว์ การเกิดมลพิษทางทะเลจากอนุภาคพลาสติก การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ปริมาณมากในชั้นบรรยากาศและการรบกวนวัฏจักรไนโตรเจนด้วยปุ๋ย เวลาที่แน่ชัดของการเริ่มต้นของสมัยแอนโทรโปซีนนั้นยังไม่มีการตกลงอย่างชัดเจน โดยส่วนมากสรุปว่าเป็นช่วงปีค.ศ. 1800 เป็นต้นไป ซึ่งเป็นช่วงเริ่มต้นการปฏิวัติอุตสาหกรรมของทวีปยุโรป และมีบางกลุ่มเสนอว่าเราเข้าสู่สมัยแอนโทรโปซีนในช่วงเวลาอื่น เช่น ช่วงต้นของการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ ช่วงปฏิวัติสีเขียว นอกจากนี้ ยังมีนักเคมีด้านชั้นบรรยากาศรางวัลโนเบล พอล ครุตเซน (Paul Crutzen) ได้กล่าวถึงช่วงปลายปี ค.ศ. 1950 ว่าที่เรียกว่าช่วง “การเร่งครั้งใหญ่” อัตราการเติบโตในหลายด้านเกิดขึ้น เช่นประชากรมนุษย์ การใช้ปุ๋ยไนโตรเจน โดยเขานำหลักฐานสภาวะชั้นบรรยากาศมาเปรียบเทียบและได้กล่าวว่ามีการเปลี่ยนแปลงส่วนประกอบทางเคมีของชั้นบรรยากาศรุนแรงจนสามารถถือได้ว่าเข้าสู่สมัยแอนโทรโปซีน ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2000 การนำคำแอนโทรโปซีนมาใช้ของ พอล ครุตเซน (Paul Crutzen) ทำให้มีความนิยมมากขึ้นในหมู่นักวิทยาศาสตร์จนกระทั้งปี ค.ศ. 2009 มีการตั้งกลุ่ม Anthropocene Working Group เพื่อวิจัยค้นหาหลักฐานที่เป็นตัวชี้วัดการเกิดสมัยใหม่ และมีการนำเสนอแนวคิดดังกล่าวให้กับคณะกรรมการลำดับชั้นหิน (Commission on Stratigraphy) พิจารณาเพื่อประกาศให้ปัจจุบันเป็นสมัยแอนโทรโปซีนอย่างเป็นทางการเพื่อให้เป็นที่ยอมรับอย่างเป็นทางการนั้น ยังคงต้องมีการพิสูจน์ทางวิทยาศาสตร์เพิ่มเติม เช่นมีหลักฐานชัดเจนทางธรณีวิทยา (ชั้นดิน) และแอนโทรโปซีนยังต้องถือเป็นคำที่เป็นประโยชน์ต่อชุมชนวิทยาศาสตร์ ซึ่งประโยชน์นั้นเริ่มเห็นได้มากขึ้นในกลุ่มนักวิจัยด้านการเปลี่ยนแปลงของโลก แต่ เนื่องจากมนุษย์ไม่ได้อยู่บนโลกนานพอกับไดโนเสาร์ หลักฐานผลกระทบต่างๆยังไม่ปรากฏในชั้นหิน พบได้แต่เพียงหลักฐานที่เกิดขึ้นในระยะเวลาสั้นเช่นชั้นดินหรือชั้นตะกอนใต้ทะเล จึงมีบางกลุ่มที่ยังไม่เห็นด้วยกับการเข้าสู่สมัยใหม่นี้
เรียบเรียงโดย : นุชจริม เย็นทรวง
รูปภาพจาก :
http://quaternary.stratigraphy.org/workinggroups/anthropocene/
ที่มา
http://quaternary.stratigraphy.org/workinggroups/anthropocene/
http://www.livescience.com/55942-has-planet-earth-entered-new-anthropocene-epoch.html
http://www.anthropocene.info/
https://www.theguardian.com/environment/2016/aug/29/declare-anthropocene-epoch-experts-urge-geological-congress-human-impact-earth