สวัสดีครับทุกท่าน สำหรับสาระประโยชน์ที่นำมาฝากกันในครั้งนี้ก็จะเกี่ยวกับสิ่งที่เรานำมารับประทานกันอยู่ในชีวิตประจำวัน แต่อย่าพึ่งคิดว่าผมจะมาแนะนำวิธีการประกอบอาหารหรือมาว่ากันด้วยคุณค่าทางโภชนาการแต่อย่างใด สำหรับบทความนี้ผมจะมาแนะนำวิธีการผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์โดยใช้ของที่เรารับประทานมาทดลองทำกัน และจะมาบอกด้วยว่าเจ้าสิ่งนี้จะเอาไปใช้ทำอะไรกันได้บ้างรับรองเลยครับว่าคุ้มค่าแน่นอนอีกทั้ง มั่นใจได้เลยครับมีงานวิจัยรับรองและมีการนำไปใช้ได้จริงในชีวิตประจำวันกันอย่างแพร่หลายทั้งในครัวเรือนและแวดวงเกษตรกรรม ก่อนอื่นเลยผมว่าเรามาทำความรู้จักกับเจ้าหัวเชื้อจุลินทรีย์กันก่อนดีกว่าว่ามันคืออะไร แล้วเราจะนำไปใช้ทำอะไรกันได้บ้าง
อันดับแรกคงต้องถามว่าทุกๆท่านรู้จัก EM (อี.เอ็ม.) ไหมครับ?
หรือหลายๆคนคงอาจนึกถึงปุ๋ยน้ำสกัด น้ำหมักชีวภาพต่างๆ อะไรทำนองนั้น ถูกต้องเลยครับ แต่ถ้าจะให้ถูกต้องครบถ้วนผมว่าที่เราเข้าใจกันนั้นเป็นเพียงสิ่งที่ได้จาก EM (อี.เอ็ม.) อันที่จริง EM (อี.เอ็ม.) Effective Microorganisms หมายถึง กลุ่มจุลินทรีย์ที่มีประสิทธิภาพ ถูกค้นพบโดย ชาวญี่ปุ่น ศาสตราจารย์ ดร.เทรุโอะ อิหงะ ผู้เชี่ยวชาญสาขาพืชสวนในปี พ.ศ. 2526 หรือประมาณ 50 กว่าปีมาแล้วครับ อี.เอ็ม.จะมีบทบาทในการรวบรวบจุลินทรีย์ในกลุ่มที่มีประโยชน์ต่อสิ่งมีชีวิตให้มารวมตัวกัน โดยการสร้าง อี.เอ็ม.จะต้องมีการอาศัยแหล่งพลังงาน และแหล่งพลังงานที่ว่านั้นก็คือน้ำตาล ซึ่งได้มาจากผลไม้สุกและวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร พืชสดหรือแม้กระทั่งเศษอาหาร โดยน้ำตาลที่ได้จากสิ่งเหล่านี้ จะทำให้
เกิดการเพิ่มจำนวนของจุลินทรีย์จำนวนมาก และจุลินทรีย์ที่ได้เหล่านี้ก็จะถูกนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ อาทิเช่น การนำมาปรับสภาพดิน ปรับค่าPH การไล่แมลง กำจัดกลิ่นและสิ่งปฏิกูล เป็นต้น เป็นอย่างไรบ้างครับคุณประโยชน์ของหัวเชื้อจุลินทรีย์มากเลยทีเดียว ชักเริ่มสนใจกันบ้างหรือยัง ถ้าอย่างนั้น ผมจะขอแนะนำวิธีการทำหัวเชื้อจุลินทรีย์ให้ทุกคนได้ทดลองทำ เผื่อว่าทุกท่านจะไปใช้ประโยชน์กันต่อไป มาดูอุปกรณ์และขั้นตอนการทำเลยครับ
วัสดุและอุปกรณ์
1. มะพร้าวห้าว (ไม่ถึงกับแก่มากเอาเฉพาะน้ำ) 2 ลูก
2. ยาคูลท์ 1 ขวด
3. น้ำข้าวหมาก (ที่ใช้รับประทาน) 1 ช้อนโต๊ะ
4. น้ำตาลทรายแดงหรือซีอิ๊วดำก็ได้ 1 ช้อนโต๊ะ
5. ขวดน้ำเปล่าขนาด 1.5 ลิตรล้างสะอาด 1 ขวด
ขั้นตอนการทำ
1. เทส่วนผสมและคนให้เข้ากัน
2. กรอกส่วนผสมลงในขวดที่เตรียมไว้
3. ปิดฝาให้สนิท (ห้ามเทส่วนผสมจนเต็มขวดเหลือพื้นที่ว่างให้ก๊าซที่ได้จากการหมักขยายตัว)
4. เก็บไว้ในที่ร่มจนครบ 7 วัน เพียงเท่านี้ก็สามารถนำมาใช้ได้แล้วครับผม
อัตราส่วนการใช้งาน
สำหรับการฉีดพ่นต้นไม้ รดน้ำต้นไม้ อัตราส่วน หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ช้อนโต๊ะ/น้ำ 5 ลิตร ใช้กำจัดกลิ่นเหม็นในห้องน้ำและบ่อปฏิกูล อัตราส่วน หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ขวด (เทลงในชักโครกแล้วราดน้ำตาม)ใช้บำบัดน้ำเสีย อัตราส่วน หัวเชื้อจุลินทรีย์ 1 ขวดต่อพื้นที่ 100 ตร.ม. (เทลงไปโดยไม่ต้องผสมน้ำ) ไม่มีอะไรยุ่งยากเลยใช่ไหมครับ เพียงเท่านี้เราก็ได้หัวเชื้อจุลินทรีย์มาใช้กันแล้ว หรือเราจะนำหัวเชื้อที่ได้ ไปทำฮอร์โมนพืช จะใช้หมักเศษอาหาร ปุ๋ยน้ำชีวภาพก็ได้ครับ เป็นการลดต้นทุนการผลิตในทางเกษตร ลดการใช้สารเคมี แถมยังเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมช่วยโลกของเราด้วยอีกทาง แต่หลายท่านคงเกิดคำถาม ในคุณสมบัติของวัตถุดิบแต่ละตัวที่นำมาผลิตหัวเชื้อจุลินทรีย์ เอาไว้โอกาสต่อไปเราจะมาว่ากันด้วยเรื่องนี้ อดใจรอหน่อยนะครับ สุดท้ายนี้ก็ขอให้ทุกท่านสนุกกับการทดลองทำหัวเชื้อจุลินทรีย์และนำไปทดลองใช้ประโยชน์กันดูนะครับ สำหรับครั้งนี้คงต้องลากันไปก่อนจนกว่าจะพบกันใหม่ คุณพระรักษาสวัสดีครับ
ขอขอบคุณข้อมูลบางส่วนจาก
- เพื่อฟ้าดิน วิทยากรชมรมเพื่อนช่วยเพื่อน, ศูนย์การเกษตรทฤษฎีใหม่ บ้านตระกูล ซ. จ.ลำพูน
เรียบเรียงโดย สันติ ทองพูน