ในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ ของทุกปีถือว่าเป็นวัน มะเร็งโลก เพื่อให้ทุกคนตระหนักถึงความสำคัญของการดูแลสุขภาพ และการป้องกันการเกิดมะเร็ง เนื่องจากว่ามะเร็งถือเป็นภัยใกล้ตัวที่เกิดขึ้นมาก และคร่าชีวิตผู้คนเป็นอันดับต้นๆ ทั่วโลก วันนี้ผมเลยจะพาทุกคนไปทำความรู้จักกับสาเหตุสำคัญของการเกิดมะเร็งที่พบมากในไทย นั่นคือ มะเร็งปากมดลูก ซึ่งในไทยถือว่าเป็นมะเร็งที่คุกคามชีวิตของหญิงไทยเป็นอันดับต้นๆ เลยก็ว่าได้ และยังมีหลายคนเข้าใจผิดว่ามะเร็งปากมดลูก เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม แต่หลังจากการศึกษาในช่วงหลังมานี้ งานวิจัยทั้งใน และต่างประเทศได้แสดงให้เห็นว่า การเกิดมะเร็งปากมดลูกในสตรีนั้นสัมพันธ์กับการติดเชื้อไวรัส เอชพีวี (HPV) และจากรายงานของ WHO/ICO Information Centre on HPV and Cervical Cancer (HPV Information Centre), Human Papillomavirus and Related Cancers in Thailand ในปี 2551 ประเทศไทยมีประชากรสตรีที่เสี่ยงต่อมะเร็งปากมดลูก 26.09 ล้านคน มีอายุตั้งแต่ 15 ปี ขึ้นไป มีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกรายใหม่ปีละ 9,999 ราย เสียชีวิต 5,216 ราย หรือประมาณร้อยละ 53 ถ้าคิดเป็นวันแล้วจะมีสตรีไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกเฉลี่ยวันละ 14 คน และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี
(HPV)หรือ Human Papilloma Virus เป็นไวรัสที่ติดต่อได้เฉพาะมนุษย์เท่านั้น และเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบบ่อยมากๆ โดยเฉพาะวัยเจริญพันธุ์อายุประมาณ 20-30 ปี ในช่วงระยะก่อนที่จะเริ่มป่วยเป็นมะเร็งปากมดลูก หรือในระยะเริ่มแรกนั้น ผู้ป่วยอาจไม่มีอาการที่แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนได้เลยแต่สามารถทราบได้จากการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก โดยเมื่อเริ่มเป็นมากจะมีอาการที่พบบ่อย ได้แก่ การมีเลือดออกผิดปกติจากช่องคลอด ซึ่งอาจจะเป็นเลือดที่ออกกะปริบกะปรอยในช่วงระหว่างรอบเดือน
โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดการติดเชื้อ เช่น การเปลี่ยนคู่นอนบ่อย, การติดเชื้อจากเพศสัมพันธ์ที่ไม่มีการป้องกัน, การสวนล้างช่องคลอดก็มีโอกาสติดเชื้อได้เหมือนกัน, การมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุน้อยๆ หรือถ้าจะพูดให้เข้าใจง่ายๆ คือ ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์ทุกคน มีความเสี่ยงสูงต่อการติดเชื้อ HPV แม้ว่าจะมีคู่นอนคนเดียวก็ตาม เพราะเชื้อ HPV นั้นสามารถอาศัยอยู่ในเซลล์เยื่อบุผิวหนัง และในเยื่อบุที่ปกคลุมหลายที่ของร่างกาย เช่น ในจมูก, ด้านในผิวหนังขององคชาติ,ช่องคลอด และทวารหนัก
ปัจจุบันพบเชื้อ HPV มากกว่า 100 สายพันธุ์ทั่วโลก (genotypes) โดยมีเชื้อ HPV ที่ก่อโรคประมาณ 40 สายพันธุ์ แบ่งได้เป็น 2 กลุ่มได้แก่ สายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงต่ำ (low risk type) ไม่ทำให้เกิดมะเร็ง เช่น สายพันธุ์ 6 และ 11 สาเหตุของการเกิดหูดหงอนไก่ที่อวัยวะเพศ และสายพันธุ์ที่มีความเสี่ยงสูง (high risk type)เช่น สายพันธุ์ 16, 18, 31, 33, 35, 39, 45, 51, 52, 56, 58, 59, 68, 69, 73, 82
ส่วนเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ก่อโรคมะเร็งปากมดลูกในไทยนั้นที่พบบ่อยมี ประมาณ 15 สายพันธุ์ ส่วนสายพันธุ์ที่มักจะระบาด และก่อความรุนแรงพบเป็นสายพันธุ์ 16 และ 18 สำหรับการป้องกันการติดเชื้อ HPV ในแง่พฤติกรรมเราสามารถป้องกันได้โดยการใช้ถุงยางอนามัย หรือในบางงานวิจัยยังบอกอีกว่า การขลิปหนังหุ้มปลายของเพศชายสามารถช่วยป้องกันการติดเชื้อ HPV ของคู่นอนได้ถึง 50เปอร์เซ็นต์ แต่ในปัจจุบันถือว่าโชคดีมากๆ ที่ตอนนี้เรามีวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อไวรัส HPV และมีประสิทธิภาพที่สูง ซึ่งผมว่าเหมาะสมที่ผู้หญิงไทยทุกคนควรได้รับการฉีดเพียงแต่ว่า ประสิทธิภาพของวัคซีนจะได้ผลดีที่สุดถ้าฉีดตั้งแต่อายุน้อยๆ และยังไม่เคยมีเพศสัมพันธ์มาก่อน ซึ่งตอนนี้ถือว่าเป็นข่าวดีของเด็กๆ ยุคใหม่เป็นอย่างมากเพราะว่า กระทรวงสาธารณสุขจัดให้วัคซีนของเชื้อ HPV เป็นโปรแกรมวัคซีนพื้นฐานของประเทศสำหรับเด็กอายุ 10-12 ปี โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายอีกด้วย
ข้อมูลอ้างอิง
1. https://www.cdc.gov/std/hpv/stdfact-hpv.html
2.https://www.cancer.gov/about-cancer/causes-prevention/risk/infectious-agents/hpv-fact-sheet
ที่มาภาพ: http://siangtai.com/2018/02/22/ /มะเร็งปากมดลูก/
เรียบเรียงโดย
นายตามพงศ์ เหลืองบริบรูณ์
นักวิชาการกองพัฒนากิจกรรม