กลุ่มเปราะบางกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

กลุ่มเปราะบางกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

15-06-2023
บทที่ 4 กลุ่มเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

สภาพภูมิอากาศของโลกกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน ส่งผลกระทบอย่างกว้างขวางทั้งต่อระบบนิเวศและมนุษย์ สำหรับผลกระทบที่มีต่อสังคมมนุษย์นั้น มนุษย์ทุกกลุ่มอาจไม่ได้รับผลกระทบแบบเดียวกันหรืออย่างเท่าเทียมกัน หมายความว่าชุมชนบางแห่งอาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากกว่าที่อื่นๆ เพราะต้องเผชิญกับผลกระทบที่รุนแรงซึ่งสร้างความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินบ่อยครั้ง แต่คนกลุ่มเดียวกันนี้กลับมีความสามารถในการปรับตัวเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศน้อยที่สุด ในบทความนี้ เราจะสำรวจกลุ่มคนต่างๆ ที่มีความเสี่ยงในการได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมทั้งสาเหตุที่ทำให้กลุ่มคนเหล่านี้จัดอยู่ในกลุ่มเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

          คณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (ICCP) ได้ให้นิยามคำว่า “ความเปราะบางจากสภาพอากาศ” (Climate Vulnerability) ว่าหมายถึง ระดับความเสี่ยงที่ระบบต่างๆ ที่มีอยู่ตามธรรมชาติหรือระบบของมนุษย์ อาจได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ชุมชนที่เปราะบางอาจมีความเสี่ยงและความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากขึ้นกว่าในอดีตที่ผ่านมา ในขณะที่มีความสามารถและทรัพยากรในการรับมือ ปรับตัว หรือฟื้นตัวจากผลกระทบเหล่านั้นน้อยลง  ซึ่งผลกระทบจะเกิดขึ้นมากน้อยขึ้นอยู่กับปัจจัยทางกายภาพ (ที่มนุษย์สร้างขึ้นและสิ่งแวดล้อม) สังคม การเมือง หรือเศรษฐกิจ และอาจรวมถึงปัจจัยด้านเชื้อชาติ ชนชั้น รสนิยมทางเพศและเพศกำเนิด สัญชาติ และความเหลื่อมล้ำของรายได้ ปัจจัยเหล่านี้อาจจำกัดความสามารถในการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เช่น คนหรือชุมชนที่ขาดทรัพยากรทางการเงินอาจไม่สามารถย้ายที่อยู่อาศัยไปยังพื้นที่ที่ปลอดภัยกว่าเดิมหรือลงทุนในสร้างโครงสร้างพื้นฐานที่ช่วยให้รับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวนได้ หรือการเลือกปฏิบัติและการทำให้คนบางกลุ่มเป็นคนชายขอบอาจส่งผลให้คนกลุ่มนี้ไม่อาจเข้าถึงข้อมูลและทรัพยากรที่ต้องใช้ในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดความเสี่ยงจากภัยพิบัติได้

ผู้คนในประเทศหมู่เกาะ และพื้นที่ชายฝั่งทะเลซึ่งมีพื้นที่ต่ำ

          เมื่อน้ำแข็งละลายและมหาสมุทรมีอุณหภูมิสูงขึ้น ระดับน้ำทะเลจึงเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งอาจเป็นภัยคุกคามต่อประเทศหมู่เกาะและภูมิภาคชายฝั่งทะเลซึ่งมีพื้นที่ต่ำ ผู้คนที่อยู่อาศัยในพื้นที่เหล่านี้ต้องเผชิญกับความเสี่ยงต่อการสูญเสียที่อยู่อาศัย ที่ดิน และวิถีชีวิต เนื่องจากน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นอาจไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ชายฝั่งและทำให้เกิดน้ำท่วมชายฝั่งบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ตัวอย่างประเทศที่มีความเสี่ยงอย่างมาก เช่น  มัลดีฟส์  ตูวาลู และหมู่เกาะมาร์แชลล์ เป็นต้น เช่นเดียวกับเมืองชายฝั่งที่มีประชากรหนาแน่น นอกจากนี้ ประเทศที่เป็นเกาะซึ่งมีพื้นที่ต่ำยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์สภาพอากาศที่รุนแรง เช่น พายุเฮอริเคน พายุไซโคลน และไต้ฝุ่น ซึ่งอาจสร้างความเสียหายเป็นวงกว้างต่อชีวิต โครงสร้างพื้นฐาน ที่อยู่อาศัย และกิจการ

ชนพื้นเมืองเมนตาวาย
ภาพชาวเกาะมัวรา ซิเบรุต ประเทศอินโดนีเซีย

ชนพื้นเมือง

          ชนพื้นเมืองโดยเฉพาะชุมชนที่มีความเชื่อมโยงทางวัฒนธรรมและจิตวิญญาณอย่างลึกซึ้งกับสภาพแวดล้อมได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิ ปริมาณน้ำฝนและฤดูกาล ส่งผลกระทบในเชิงลบต่อระบบนิเวศที่ชนพื้นเมืองเหล่านี้พึ่งพาเพื่อการยังชีพ ตลอดจนวิถีวัฒนธรรม และจิตวิญญาณ ตัวอย่างเช่น ชาวซามี (Saami) ซึ่งเป็นชนพื้นเมืองที่อาศัยอยู่ในภูมิภาคอาร์กติก รวมถึงบางส่วนของนอร์เวย์ สวีเดน ฟินแลนด์ และรัสเซีย รากฐานของวัฒนธรรมและการดำรงชีวิตของชาวซามีที่สำคัญคือการเลี้ยงกวางเรนเดียร์ เมื่ออุณหภูมิสูงขึ้น วงจรการละลายและการแข็งตัวของน้ำแข็งบริเวณอาร์กติกจึงผิดปกติ กวางเรนเดียร์ไม่สามารถเข้าถึงไลเคนใต้แผ่นน้ำแข็งซึ่งเป็นแหล่งอาหารได้ตามฤดูกาลปกติ จึงล้มตายจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อการทำมาหาเลี้ยงชีพของชาวซามีซึ่งเลี้ยงกวางเรนเดียร์เป็นหลัก ชาวซามีจึงต้องหันไปพึ่งพาเทคโนโลยีและใช้อาหารชนิดอื่นในการเลี้ยงกวาง นำไปสู่การติดต่อสื่อสารกับชุมชนภายนอกมากขึ้น ชุมชนจึงค่อยๆ สูญเสียอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและใช้ภาษาซามีน้อยลง

ชาวซามี
ภาพชาวซามีกับกวางเรนเดียร์

เกษตรกรและแรงงานภาคการเกษตร

          เมื่อสภาพอากาศร้อนขึ้น เกษตรกรทั่วโลกต้องเผชิญกับรูปแบบสภาพอากาศที่คาดเดาไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นภัยแล้ง น้ำท่วม ศัตรูพืชและโรคใหม่ๆ ซึ่งเป็นภัยธรรมชาติที่พบได้บ่อยขึ้นและรุนแรงมากขึ้น การเปลี่ยนแปลงเหล่านี้อาจทำให้ผลผลิตทางการเกษตรลดลง ซึ่งส่งผลกระทบในทางลบทั้งต่อคุณภาพชีวิตของเกษตรกรและความมั่นคงทางอาหารสำหรับพวกเราทุกคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในบางพื้นที่ เช่น ในทวีปแอฟริกาและภูมิภาคเอเชียใต้ ซึ่งเกษตรกรรมเป็นแหล่งรายได้และการจ้างงานที่สำคัญ ตัวอย่างเหตุการณ์ที่ส่งผลอย่างมากต่อผลผลิตทางเกษตรของเกษตรกร เช่น  เหตุการณ์ฝูงตั๊กแตนถล่มแอฟริกาตะวันออก โดยไม่กี่ปีที่ผ่านมาประเทศเคนยา เอธิโอเปีย และโซมาเลีย ได้รับความเดือดร้อนจากตั๊กแตนที่ระบาดหนักที่สุดในรอบหลายทศวรรษ เนื่องจากฝูงตั๊กแตนทะเลทรายเข้ามาทำลายพืชผลและทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์ การบุกรุกของตั๊กแตนเกิดขึ้นหลังจากที่สภาพอากาศแปรปรวนมานานหลายปี ส่งผลให้เกิดวิกฤตอาหารรุนแรง ทั้งนี้ ตั๊กแตนเหล่านี้จะรวมฝูงเมื่อเกิดฝนตกหนัก เพื่อบินข้ามทวีปและข้ามน้ำข้ามทะเลเพื่อหาอาหาร

ตั๊กแตนบุกแอฟริกา
ภาพเหตุการณ์ฝูงตั๊กแตนถล่มแอฟริกาตะวันออก

คนยากจนและผู้ด้อยโอกาส

          ธนาคารโลก (World Bank) เปิดเผยว่า การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะผลักให้คนอีก 130 ล้านคน กลายเป็นคนยากจนในอีก 10 ปีข้างหน้า เนื่องจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำที่มีอยู่แต่เดิมรุนแรงขึ้น ผู้ที่มีฐานะยากจนมักอาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงด้านสิ่งแวดล้อมสูงและมีทรัพยากรไม่มากในการปรับตัวเพื่อรับมือกับผลกระทบจากสภาพอากาศแปรปรวน  คนยากจน โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่อาศัยอยู่ในประเทศที่มีรายได้น้อย ต้องรับความเสี่ยงจากผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างมาก  เนื่องจาก 75% ของคนยากจนในพื้นที่ชนบทต้องพึ่งพาทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ ทะเลสาบ และมหาสมุทร ในการดำรงชีวิต ด้วยเหตุนี้ กลุ่มคนเหล่านี้จึงเป็นคนกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและมหันภัยต่างๆ ที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ภาพคนยากจน
ภาพผู้ด้อยโอกาสในประเทศอินโดนีเซีย

บทสรุป

          แม้ว่าคนบางกลุ่มโดยเฉพาะคนยากจนหรือชนพื้นเมือง จะไม่ใช่ตัวการสำคัญที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพราะคนเหล่านี้สร้างมลพิษน้อยมาก แต่กลุ่มเปราะบางเหล่านี้กลับต้องรับผลกระทบที่รุนแรงจากการกระทำของมนุษย์ในประเทศที่ร่ำรวยกว่า ดังนั้น จึงจำเป็นที่จะต้องทำให้กลุ่มคนที่มีความเปราะบางต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศเหล่านี้สามารถเข้าถึงทรัพยากรและโอกาสที่จำเป็นในการปรับตัวให้เข้ากับสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงได้

 

 

รายการอ้างอิง

 

Bhalla, N. (2020.)  “Climate change linked to African locust invasion.”  Online. Retrieve from

          https://www.reuters.com/article/us-kenya-climate-locusts-idUSKBN1ZS2HX

Demogenes, B. (2023). “Climate Change is a Threat to the Saami People’s Culture and Traditional           Knowledge Base in the EU.” Published online at Climate Scorecard. Retrieve from

          https://www.climatescorecard.org/2023/04/climate-change-is-a-threat-to-the-saami-peoples-          culture-and-traditional-knowledge-base-in-the-eu 

IPCC. (2014). In: Climate Change 2014: Impacts, Adaptation, and Vulnerability. Annexes: Glossary.           https://www.ipcc.ch/pdf/assessment-report/ar5/ wg2/WGIIAR5-AnnexII_FINAL.pdf

Visit Natives. “Reindeer herding experience with Sami in Norway.” Online. Retrieve from           https://www.visitnatives.com/feel-the-arctic

World Vision. (2022). “10 Facts about Climate Change and Poverty.” Online. Retrieve from           https://www.wvi.org/stories/child-sponsorship/10-facts-about-climate-change-and-poverty

WWF. “Is Climate Change Threatening the Saami Way of Life?” Online. Retrieve from           https://www.arcticwwf.org/the-circle/stories/is-climate-change-threatening-the-saami-way-of-      life/         

ข่าวสารที่่คล้ายกัน