ในช่วง 5 – 6 ปีที่ผ่านมา วงการการศึกษาตื่นตัวและให้ความสำคัญกับคำว่า สะเต็มศึกษา หรือ STEM Education เป็นอย่างมาก โดยสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้ให้ความหมายไว้ว่า สะเต็มศึกษา คือ แนวทางการจัดการศึกษาที่บูรณาการความรู้ใน 4 สหวิทยาการ ได้แก่ วิทยาศาสตร์ วิศวกรรม เทคโนโลยี และ คณิตศาสตร์โดยเน้นการนำความรู้ไปใช้แก้ปัญหาในชีวิตจริง รวมทั้งการพัฒนากระบวนการหรือผลผลิตใหม่ ที่เป็นประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต ซึ่งมีการนำสะเต็มศึกษาเข้าไปรวมกับหลักสูตรขั้นพื้นฐานในการเรียนการสอนในปัจจุบัน โดยบางองค์กรได้มีการต่อยอดแนวการจัดการเรียนรู้โดยเพิ่มศิลปะ (Art) เข้ามาจึงกลายเป็น STEAM Education เพื่อความคาดหวังในการพัฒนาผู้เรียนอย่างรอบด้าน แต่แนวทางจัดการเรียนรู้เหล่านี้ถูกนำมาใช้ในการเรียนหลักสูตรขั้นพื้นฐานหรือจากปฐมวัยถึงมัธยมศึกษาเท่านั้น แล้วในระดับอุดมศึกษามีคณะวิชาที่มีรูปแบบการจัดการเรียนการสอนแบบนี้หรือไม่
มีตัวอย่างหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาที่มีการเรียนการสอนใกล้เคียงกับแนวทางการจัดการศึกษาในรูปแบบ STEAM Education เรียกกันว่า หลักสูตรเทคโนโลยีการศึกษาแพทย์ศาสตร์ หรือเวชนิทัศน์ แรกเริ่มเดิมทีมาจากคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล ก่อตั้งในปี 2509 ใช้ชื่อว่า โรงเรียนช่างภาพการแพทย์ หลังจากนั้นได้มีการปรับปรุงหลักสูตรเรื่อยมาจนมีชื่อเรียกอย่างปัจจุบัน มีวิชาเรียนคร่าวๆเช่น ด้านศิลปกรรมศาสตร์ เรียนวาดเขียน ปั้นรูป ลงสี ด้านนิเทศศาสตร์ เทคนิคถ่ายภาพ วีดิทัศน์ มัลติมีเดีย การออกแบบและผลิตสื่อ ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์พื้นฐาน เคมี ชีววิทยา กายวิภาค สรีรวิทยา ด้านมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์รวมถึงวิชาศึกษาทั่วไป ภาษาอังกฤษ การพัฒนามนุษย์สุขศึกษาพละศึกษา เป็นต้น
วิชาที่เรียนดังที่กล่าวมาจะอ้างอิงกับการแพทย์ทั้งหมด เน้นผลิตสื่อด้านการแพทย์ สื่อเสมือนจริงที่ไม่สามารถนำออกมาศึกษาได้ (อวัยวะภายในและส่วนต่างๆในร่างกายของมนุษย์)ผลิตออกมาในรูปแบบภาพถ่าย ภาพพิมพ์ โปสเตอร์ ตำราเรียน มัลติมีเดีย สื่อออนไลน์ หรือหุ่นจำลอง สื่อเหล่านี้จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการช่วยให้นักเรียนแพทย์เรียนได้อย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น เป็นประโยชน์อย่างกว้างขวางในการพัฒนาและวิจัยอีกทั้งทำให้ประเทศประหยัดงบประมาณในการนำเข้าสื่อการเรียนเหล่านี้ได้มาก เมื่อจบมามีงานรองรับทั้งสายการศึกษาทางสาธารณสุข หรือแม้แต่งานเอกชน ในปัจจุบันเปิดทำการเรียนการสอนในระดับปริญญาตรีทั้งหมด 3 มหาวิทยาลัย มีชื่อเรียกต่างกันออกไปคือ สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล สาขาเวชนิทัศน์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีสิ่งที่กล่าวมานี้เป็นเพียงการยกตัวอย่างหนึ่งหลักสูตรในระดับอุดมศึกษาจากอีกหลายๆ หลักสูตรเพื่อให้เห็นถึงการเรียน และการทำงานที่ดูแล้วน่าจะเข้ากับความนิยมในการจัดการศึกษาแบบ STEAM Education เป็นอย่างมาก ถือว่าเป็นการบูรณาการรอบด้านทั้งด้านวิทยาศาสตร์ ด้านมนุษย์และสังคมศาสตร์ รวมถึงการด้านการสื่อสาร ทำให้พัฒนาทั้งอารมณ์และเหตุผลไปด้วยกันอย่างมีประสิทธิภาพ ถ้าหากเราปลูกฝังและสนับสนุนให้เยาวชนตั้งแต่ยังเด็กได้มีการเรียนรู้แบบบูรณาการ เสริมสร้างสร้างความคิดอย่างสร้างสรรค์ มีความฉลาดทางอารมณ์ สามารถประยุกต์ใช้ความรู้จากหลายสาขาได้อย่างมีประสิทธิภาพเชื่อว่าจะเป็นการวางรากฐานในการพัฒนาบุคคลของชาติให้กลายผู้สร้างเทคโนโลยีและนวัตกรรมในอนาคตต่อไป
เขียนโดย นายทศวรรษ คุณาวัฒน์
ที่มาของแหล่งข้อมูล
ณัฐดนัย เนียมทอง. จาก STEM สู่ STEAM [ออนไลน์]. 2561, แหล่งที่มา: https://www.scimath.org/article-stem/item/7812-stem-steam
สะเต็มศึกษา ประเทศไทย. รู้จักสะเต็ม [ออนไลน์]. 2557, แหล่งที่มา:http://www.stemedthailand.org/?page_id=23
สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล
มหาวิทยาลัยมหิดล [ออนไลน์]. แหล่งที่มา:https://www.si.mahidol.ac.th/metc/met/th/b_program2560.html [5 กุมภาพันธ์ 2564]
สาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการออกแบบ มหาวิทยาลัย
เทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [ออนไลน์]. แหล่งที่มา:https://www.media.kmutt.ac.th/programs/medical-and-science-media/ [5 กุมภาพันธ์ 2564]
สาขาเวชนิทัศน์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น [ออนไลน์]. แหล่งที่มา: https://mdi.kku.ac.th/index.html [5 กุมภาพันธ์ 2564]
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชาเทคโนโลยีการศึกษาแพทยศาสตร์ โรงเรียนเวชนิทัศน์พัฒนา คณะ
แพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล [ออนไลน์]. 2560, แหล่งที่มา:
https://www.si.mahidol.ac.th/metc/met/th/doc/TQF2_MET_60_Public.pdf
หลักสูตรเทคโนโลยีบัณฑิต สาขาวิชามีเดียทางการแพทย์และวิทยาศาสตร์ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการ
ออกแบบ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา:
https://drive.google.com/file/d/1EBzsy5CeZdHcY0nNFstNF37-f1l54oKy/view