เช้าวันพุธที่ 9 มีนาคม 2559 จะเกิดสุริยุปราคาเต็มดวง (Total Solar Eclipse) ซึ่งแนวคลาสเต็มดวงพาดผ่านตะวันตกของมหาสมุทรอินเดีย ประเทศอินโดนีเซีย และตอนกลางของมหาสมุทรแปซิฟิก บริเวณที่เห็นสุริยุปราคาบางส่วน (Partial Solar Eclipse) ได้แก่ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เอเชียตะวันออก ส่วนใหญ่ของออสเตเลีย ส่วนใหญ่ของมห่สมุทรแปซิฟิก รวมทั้งบางส่วนของรัฐอลาสก้า ประเทศอเมริกา
สำหรับประเทศไทย สามารถเห็นสุริยุปราคาบางส่วนได้ทั้งประเทศ โดยภาคใต้จะเห็นดวงอาทิตย์แหว่งเว้ามากที่สุด ซึ่งถือว่าเป็นอุปราคา(สุริยุปราคาและจันทรุปราคา) ที่ประเทศไทยจะได้เห็นเพียงครั้งเดียวในปี 2559 การสังเกตดวงอาทิตย์ต้องใช้แผ่นกรองแสง ซึ่งควรเป็นชนิดที่ใช้สำหรับดูดวงอาทิตย์โดยเฉพาะ ห้ามมองดูด้วยตาเปล่าเพราะเป็นอันตรายต่อดวงตา
วิธีสังเกตสุริยุปราคาบางส่วนที่ปลอดภัยที่สุดคือการสังเกตทางอ้อม โดยให้แสงอาทิตย์ผ่านกล้องโทรทรรศน์หรือกล้องสองตาลงไปปรากฏบนฉากรับภาพ อีกวิธีซึ่งทำได้ง่ายคือใช้หลักการของกล้องรูเข็ม นำกระดาษมาเจาะรูขนาดประมาณ 1 เซนติเมตร ไปปิดที่กระจกเงา แล้วนำกระจกเงาบานนั้นไปรับแสงอาทิตย์ ให้แสงสะท้อนลงบนผนังสีอ่อนหรือฉากรับภาพสีขาวที่อยู่ไกลจากกระจกตั้งแต่ 3 เมตรขึ้นไป และอยู่ในที่ซึ่งแสงอาทิตย์ส่องไม่ถึง ภาพดวงอาทิตย์บนฉากจะแหว่งตามลักษณะดวงอาทิตย์ขณะเกิดสุริยุปราคาบนท้องฟ้า หากมีต้นไม้อยู่ใกล้ ๆ อาจสังเกตเห็นว่าแสงอาทิตย์ที่ส่องผ่านช่องระหว่างใบไม้แล้วไปตกบนพื้นหรือผนัง ก็มีลักษณะแหว่งเว้าตามดวงอาทิตย์
เชิญร่วมกิจกรรม ดูสุริยุปราคาบางส่วน ณ อพวช.