เทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19)

เทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19)

18-12-2021

เทอร์โมมิเตอร์ที่ใช้วัดอุณหภูมิร่างกาย เพื่อคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 (COVID-19)
ดร.สุเมธ อาวสกุลสุทธิ

ในช่วงภาวะวิกฤติจากโรคติดเชื้อโควิด-19 ระบาดไปทั่วโลกตั้งแต่ต้นปี 2563 นี้ การวัดอุณหภูมิร่างกายถือเป็นเกณฑ์เบื้องต้น ที่ช่วยในการประเมินร่างกายของประชาชนทั่วไปว่า มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 หรือไม่ (หรือในบางประเทศนิยมเรียกชื่อว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019) โดยทั่วไป อุณหภูมิเฉลี่ยของร่างกายมนุษย์ปกติแล้ว อยู่ระหว่าง 36.5 - 37.5 องศาเซลเซียส หรือ 97.7 - 99.5 องศาฟาเรนไฮต์ ทั้งนี้อาจจะมีอุณหภูมิในร่างกายเปลี่ยนแปลงไปขึ้นอยู่ปัจจัยอื่น ๆ เช่น วัย โรคประจำตัว และการดื่มของมึนเมา เป็นต้น ถ้าหากคนเรามีอุณหภูมิสูงเกินกว่า 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป (หรือสูงกว่า 99.5 องศาฟาเรนไฮต์) แสดงว่า มีไข้ ไม่สบาย หรือมีอาการป่วย รวมถึงหากเป็นผู้ที่เดินทางกลับมาจากต่างประเทศที่โรคติดเชื้อโควิด-19 กำลังระบาด, สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 มีโอกาสสูงที่คน ๆ นั้นจะเสี่ยงเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 สำหรับตำแหน่งที่นิยมใช้วัดอุณหภูมิของร่างกายมนุษย์นั้น มี 5 ตำแหน่ง ได้แก่ รักแร้ (ใต้โคนแขน), รูทวารหนัก (รูก้น), ใต้ลิ้น, รูหู และหน้าผาก นอกจากนี้ ผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 ไม่จำเป็นจะ ต้องมีไข้สูงกันทุกคน แต่ก็ถือว่า การวัดอุณหภูมิสามารถช่วยคัดกรองผู้เสี่ยงเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 ได้ในเบื้องต้น

6306Thermometers 2020 Dr Sumath

สำหรับอุปกรณ์ในการวัดไข้ที่นิยมใช้ในปัจจุบัน มีอยู่ทั้งหมด 6 ประเภท ได้แก่
1. แถบวัดอุณหภูมิ (Forehead Thermometer Strip) บางทีก็เรียกว่า แถบวัดไข้, แถบเทปวัดไข้, แผ่นแปะวัดไข้ ใช้แตะหน้าผาก นิยมใช้สำหรับวัดไข้เด็กเล็ก จะมีแถบสีแสดงอุณหภูมิ ตั้งแต่ 35 – 40 องศาเซลเซียส

2. ปรอทวัดไข้ (Medical Thermometer หรือ Glass Thermometer) หรือมักจะเรียกทับศัพท์สั้น ๆ จากคำเดิมในภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยว่า เทอร์โมมิเตอร์ (Thermometer) มีของเหลวภายในไหลขึ้นหรือไหลลงไปหยุดตรงที่เส้นขีดใด ๆ ใกล้ตัวเลขแสดงค่าอุณหภูมิที่วัดได้ ส่วนใหญ่มีช่วงวัดอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 35 - 42 องศาเซลเซียส แต่เนื่องจากโครงสร้างภายนอกผลิตด้วยวัสดุที่ทำมาจากแก้ว จึงมีโอกาสร่วงหล่นแตกหักง่าย และในปัจจุบันนี้ของเหลวที่บรรจุข้างในแท่งแก้ว นิยมใช้แอลกอฮอล์ใช้แทนปรอท แต่คนส่วนใหญ่ยังคงเคยชินกับการเรียกชื่อ ‘ปรอทวัดไข้’ เหมือนเดิม

3. เทอร์โมมิเตอร์แบบดิจิทัล (Digital Thermometer หรือ Digital Medical Thermometer) ผลิตด้วยโครงสร้างวัสดุพลาสติกมีจอแสดงผลบอกค่าอุณหภูมิเป็นตัวเลข ส่วนหัววัดอุณหภูมิทำจากโลหะอยู่ที่ปลายด้านหนึ่ง มักผลิตให้มีช่วงวัดอุณหภูมิระหว่าง 32 – 42.9 องศาเซลเซียส ซึ่งมีความสะดวกกว่าปรอทวัดไข้ และเนื่องจากในปัจจุบันมีราคาถูกลง จึงเป็นที่นิยมมากกว่าแบบปรอทวัดไข้

4. เทอร์โมมิเตอร์แบบวัดทางรูหู (Ear Thermometer) มีอุปกรณ์ตรวจรังสีความร้อน (Infrared Sensor) เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตรวจวัดไข้ สำหรับช่วงวัดอุณหภูมิควรดูจากคู่มือการใช้งานของแต่ละบริษัทผู้ผลิต โดยแสดงผลอุณหภูมิขึ้นมาบนจอภาพเป็นแบบตัวเลข เนื่องจากมีความแม่นยำ หรือมีความถูกต้องของการตรวจวัดค่าอุณหภูมิใกล้เคียงกับเทอร์โมมิเตอร์แบบปรอทวัดไข้และอุปกรณ์วัดอุณหภูมิแบบดิจิทัล ดังนั้น เทอร์โมมิเตอร์แบบวัดทางรูหูจึงเป็นที่นิยมใช้งานในสถานพยาบาล และโรงพยาบาลทั่วไป มีความสะดวกกว่า เพราะการวัดอุณหภูมิผ่านรูหู ไม่ต้องวัดอุณหภูมิผ่านรักแร้ หรือรูทวารหนัก ซึ่งคนไข้จำเป็นต้องถอดเสื้อผ้าบางชิ้นออก

5. เทอร์โมมิเตอร์แบบวัดอุณหภูมิหน้าผาก (Forehead Thermometer) มีอุปกรณ์ตรวจรังสีความร้อน (Infrared Sensor) เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตรวจวัดไข้ หรือ บางคนตั้งชื่อเรียกใหม่ว่า ‘ปืนวัดไข้ (Thermometer Gun)’ เนื่องจากลักษณะการใช้งานจับอุปกรณ์นี้จะคล้ายกับการจับอาวุธปืน มีจุดเด่นคือ จัดเป็นประเภทเครื่องวัดอุณหภูมิแบบไม่สัมผัส (No-Touch Thermometer) ทำให้ผู้ตรวจวัดอุณหภูมิซึ่งเป็นบุคลากรทางการแพทย์ หรือเจ้าหน้าที่คนใดในหน่วยงาน หากได้รับมอบหมายให้วัดอุณหภูมิกลุ่มผู้เสี่ยงเป็นผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 จะไม่จำเป็นต้องสัมผัสกับร่างกายของผู้เข้ารับการตรวจวัดไข้ และไม่ต้องเสียเวลาเช็ดทำความสะอาดอุปกรณ์วัดไข้ชนิดนี้ทุกครั้ง เพียงแค่ใช้อุปกรณ์นี้ส่องไปที่หน้าผากของคนที่ต้องการตรวจวัดไข้ ก็จะแสดงผลอุณหภูมิที่หน้าจออัตโนมัติ โดยควรใช้งานให้อุปกรณ์นี้มีระยะห่างในการวัดจากหน้าผาก ประมาณ 5 - 15 เซนติเมตร และควรทำการวัดซ้ำเพื่อป้องกันผลตรวจอุณหภูมิที่ผิดพลาด นอกจากนี้ หากผู้อยู่ในกลุ่มเสี่ยงที่จะป่วย มีการตากแดดก่อนเข้ามารับการตรวจวัดไข้ ควรพักในบริเวณที่มีอุณหภูมิปกติ ประมาณ 5 นาที แล้วจึงตรวจซ้ำใหม่ มิฉะนั้นอาจจะทำให้ผลการวัดอุณหภูมิสูงกว่าความเป็นจริง

6. เทอร์โมมิเตอร์แบบสแกนร่างกาย (Thermoscan หรือ Thermo scanner) เป็นการใช้อุปกรณ์กล้องตรวจจับรังสีความร้อน (Infrared Camera) ซึ่งมีอุปกรณ์ตรวจรังสีความร้อน (Infrared Sensor) เป็นส่วนประกอบสำคัญในการตรวจวัดไข้ สำหรับช่วงวัดอุณหภูมิควรดูจากคู่มือการใช้งานของแต่ละบริษัทผู้ผลิต เทอร์โมมิเตอร์ประเภทนี้มักนำมาใช้กับสถานที่ที่มีคนเดินผ่านพร้อมกันเป็นจำนวนมาก เช่น สนามบิน ห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่ เป็นต้น ทั้งนี้เครื่องมือชนิดนี้มีราคาสูง และประกอบด้วยอุปกรณ์หลายชิ้น เช่น กล้องตรวจจับรังสีความร้อน, ขาตั้งกล้อง, และจอภาพจะแสดงผลเป็นภาพรังสีความร้อนและค่าวัดอุณหภูมิของร่างกายคนที่เดินผ่านกล้องตัวนี้ ทำให้เจ้าหน้าที่สามารถอ่านค่าอุณหภูมิของแต่ละคนได้สะดวก เนื่องจากค่าวัดอุณหภูมิบนจอภาพแสดงผลเป็นตัวเลขที่มีขนาดใหญ่

การระบาดของโรคติดเชื้อโควิด-19 ทำให้หน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน มีมาตรการในการตรวจวัดไข้ เพื่อตรวจสอบบุคลากรให้มีความปลอดภัยจากการติดเชื้อโรคดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ถึงแม้เทอร์โมมิเตอร์แบบวัดอุณหภูมิหน้าผาก จะเป็นที่นิยมใช้กันมากที่สุดในขณะนี้ แต่พบว่า มีรายงานข่าวแจ้งเตือนให้ทราบว่าอุปกรณ์ดังกล่าวจากผู้ผลิตบางรายเป็นของปลอม ไม่ได้มาตรฐาน เป็นการสร้างวงจรอิเล็กทรอนิกส์แสดงผลแบบหลอก ๆ สุ่มมาแสดงค่าวัดอุณหภูมิเป็นตัวเลขที่ไม่ตรงกับความเป็นจริง ดังนั้น ในการซื้ออุปกรณ์วัดอุณหภูมิ ควรหาซื้อจากแหล่งขายที่น่าเชื่อถือได้ เพราะหากนำมาวัดแล้วใช้งานไม่ได้ผล อาจจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อบุคลากรที่เข้ารับการตรวจวัดไข้ด้วย รวมถึงโอกาสในการประเมินความเสี่ยงผิดพลาดทำให้ตรวจไม่พบผู้ป่วยเป็นโรคติดเชื้อโควิด-19 ทั้ง ๆ ที่ความจริงมีไข้สูง

 

ที่มาของภาพ
ภาพประกอบวัตถุ 3 มิติ เกี่ยวกับประเภทของเทอร์โมมิเตอร์ วาดโดย ดร.สุเมธ อาวสกุลสุทธิ

ที่มาของแหล่งข้อมูล (Reference)

กรุงเทพธุรกิจ (2563ก). ทำไมเพิ่งบอก? ผู้เชี่ยวชาญเตือน "ปืนวัดไข้" เชื่อถือไม่ได้
[ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/866503 (เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563).

กรุงเทพธุรกิจ (2563ข). ‘อุณหภูมิร่างกายปกติ’ ควรอยู่ที่เท่าไหร่ รู้ทัน ‘โควิด’ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.bangkokbiznews.com/news/detail/872964 (เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563).

สํานักข่าวไทย - TNAMCOT (2563). ชัวร์ก่อนแชร์ FACTSHEET : การใช้เครื่องวัดอุณหภูมิหน้าผากตรวจวัดไข้ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก

(เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563).

ออมรอน เฮลธแคร์ เอเชีย (2563). การวัดอุณหภูมิ - เทอร์โมมิเตอร์วัดทางหู [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.omronhealthcare-ap.com/th/category/10-temperature-measurement/2 (เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563).

MGR Online (2020). เจ้าของ รง.ในกวางตุ้งยุกลุ่มผู้ผลิต ทำปืนวัดไข้ปลอมส่งให้อเมริกา [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://mgronline.com/china/detail/9630000034425 (เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563).

NBC News.com (2020). How thermal-imaging cameras spot flu fevers [online] Available from http://www.nbcnews.com/id/30523865/ns/technology_and_science-tech_and_gadgets/t/how-thermal-imaging-cameras-spot-flu-fevers/ (16 April 2020).

ThaiChildcare (2020). ปรอทวัดไข้มีกี่แบบ และแบบไหนเหมาะสำหรับลูกคุณ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.thaichildcare.com/4-ปรอทวัดไข้-สำหรับเด็กท/ (เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563).

Youtube (2020). ที่วัดไข้แบบอินฟาเรดปลอมระบาด (Fake infrared thermometer) [ออนไลน์]. สืบค้นจาก

 (เมื่อวันที่ 16 เมษายน 2563).

Webmd (2019). What Is Normal Body Temperature? [Online] Available from https://www.webmd.com/first-aid/normal-body-temperature#1 (15 April 2020).

ค้นคว้าเพิ่มเติม (แนะนำแหล่งข้อมูลเพิ่มเติม)

POBPAD (2020a). ความหมาย ภาวะตัวเย็นเกิน (Hypothermia) [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.pobpad.com/hypothermia-ภาวะตัวเย็นเกิน (เมื่อวันที่ 15 เมษายน 2563).

POBPAD (2020b). อุณหภูมิร่างกายปกติ เรื่องใกล้ตัวที่หลายคนอาจยังไม่รู้ [ออนไลน์]. สืบค้นจาก https://www.pobpad.com/อุณหภูมิร่างกายปกติ-เรื (เมื่อวันที่ 17 เมษายน 2563).

ข่าวสารที่่คล้ายกัน