ภาพจาก : https://www.shutterstock.com/th/image-photo/asian-woman-wearing-face-mask-shopping-1770286799
สถานการณ์การแพร่ระบาดระลอกใหม่ของไวรัสโคโรนา 2019 ที่ทำให้เกิดโรคโควิด 19 (COVID -19) นับวันยิ่งทวีความรุนแรงทำให้พฤติกรรมการใช้ชีวิตของเราทุกคนเปลี่ยนไป เช่น การงดทำกิจกรรมในที่สาธารณะ การทำงานจากที่บ้าน (Work From Home) การใช้บริการจัดส่งอาหารถึงที่ (Food Delivery) รวมถึงการทำอาหารเพื่อรับประทานเองที่บ้านมากขึ้น
เมื่อมีการใช้บริการจัดส่งอาหารถึงบ้าน หรือซื้ออาหารสำเร็จรูปจากซุปเปอร์มาร์เกต หลายคนกังวลกับการสัมผัสเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ที่อาจติดอยู่บนบรรจุภัณฑ์อาหารที่วางขาย แม้ว่าจะยังไม่มีหลักฐานยืนยันว่าพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอาหารหรือบนบรรจุภัณฑ์อาหารตามรายงานของคณะกรรมาธิการยุโรปและหน่วยงานความปลอดภัยอาหารของยุโรป (Food Authority of Ireland, European Food Safety Authority หรือ EFSA) และ องค์การอาหารและยาสหรัฐ (United Sate Food and Drug Administration หรือ USFDA) เนื่องจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 มีเยื่อหุ้มเซลล์ที่ถูกทำลายได้ง่ายจากความร้อนหรือ สารเคมีที่ใช้ในการฆ่าเชื้อ เช่น คลอรีน ดังนั้นโอกาสที่จะพบเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ในอาหารหรือบนบรรจุภัณฑ์อาหารจึงค่อนข้างน้อย แต่ไวรัสโคโรนา 2019 ก็สามารถอยู่รอดได้เป็นเวลาหลายชั่วโมงบนวัสดุบรรจุภัณฑ์บางชนิดซึ่งส่วนใหญ่เป็นกระดาษแข็งและพลาสติก ทำให้มีโอกาสติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 จากสารคัดหลั่งของผู้ติดเชื้อบนพื้นผิวของบรรจุภัณฑ์ที่วางจำหน่าย และอาจแพร่กระจายเชื้อต่อไปได้ ดังนั้น การพัฒนาบรรจุภัณฑ์ที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัส หรือสามารถทำความสะอาดตัวเองได้ (Self-Cleaning Surface) จึงเป็นเทคโนโลยีที่ท้าทายทั้งในปัจจุบันและอนาคต
นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเตอร์ (McMaster University) ประเทศแคนาดา ได้พัฒนาฟิล์มพลาสติกใสสำหรับห่อหุ้มซึ่งสามารถทำความสะอาดตัวเองได้และผ่านการทดสอบว่าช่วยป้องกันแบคทีเรียอันตราย เช่น Methicillin-resistant Staphylococcus aureus (MRSA) ซึ่งเป็นเชื้อ Staphylococcus aureus สายพันธุ์ที่ดื้อต่อยาปฏิชีวนะกลุ่มบีตา-แลคทาเมส (β-lactamase antibacterials) ที่มักติดเชื้อในกลุ่มคนที่เข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลหรืออาศัยในบ้านพักผู้ป่วย และเชื้อ Clostridium difficile ซึ่งก่อให้เกิดอาการอุจจาระร่วง นอกจากนั้นยังสามารถป้องกันไวรัสที่มีโครงสร้างคล้ายกับไวรัสตระกูลโคโรนา (Coronavirus) ได้อีกด้วย พลาสติกที่พัฒนาขึ้นนี้สามารถใช้ในการห่อหุ้มพื้นผิวได้ทุกชนิดตั้งแต่ลูกบิดประตูไปจนถึงบรรจุภัณฑ์อาหาร เนื่องจากมีความคงทน ยืดหยุ่นและราคาไม่แพง ผลิตขึ้นโดยใช้การผสานระหว่างวิศวกรรมพื้นผิวร่วมกับวิทยาศาสตร์ทางเคมี แผ่นพลาสติกถูกออกแบบให้มี 'รอยย่น' ขนาดเล็กๆ เมื่อโมเลกุลของน้ำ หรือเลือดสัมผัสกับพื้นผิวจะกระเด็นออกและภายนอกเคลือบสารเคมีเพื่อป้องกันแบคทีเรียและเชื้อไวรัสไม่ให้ซึมผ่านพื้นผิวพลาสติกเข้าไป
แม้ว่าข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) จะระบุว่ามีหลักฐานบ่งชี้ว่าเชื้อไวรัสตระกูลโคโรนา สามารถแพร่กระจายผ่านละอองฝอยและการสูดดมมากกว่าการสัมผัสพื้นผิวต่าง ๆ แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่คน ๆ หนึ่งอาจติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ผ่านการสัมผัสพื้นผิวที่มีไวรัสอยู่แล้วนำมาสัมผัสปากจมูกหรือตาของตนเอง ดังนั้นการพัฒนาบรรจุภัณฑ์จากพลาสติกที่สามารถทำความสะอาดตัวเองจากเชื้อแบคทีเรีย เชื้อไวรัส และสิ่งสกปรก จึงนับเป็นทางเลือกให้กับผู้บริโภคในช่วงที่โลกกำลังเผชิญกับการระบาดของโรคโควิด 19 อย่างไรก็ตาม เราไม่ควรละเลยการป้องกันตนเองโดยการสวมหน้ากากอนามัยตลอดเวลา ล้างมือให้สะอาดด้วยเจลแอลกอฮอล์อย่างสม่ำเสมอ รวมถึงการเว้นระยะห่างเมื่อใช้บริการร้านค้าหรือห้างสรรพสินค้า นอกบ้าน
ภาพจาก : https://im.indiatimes.in/content/2019/Dec/Article-Body_5df73862e9c12.jpg
เรียบเรียงโดย : นางสาวรวิภา ขำสวัสดิ์ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
1.Embracing packaging which cleans itself. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มาhttps://www.raconteur.net/packaging/self-cleaning-plastic/ [14 มกราคม 2564]
2. Novel Coronavirus (COVID-19) advice for the public: Myth busters. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มาhttps://www.who.int/thailand/emergencies/novel-coronavirus-2019/advice-for-public/myth-busters [15 มกราคม 2564]
3.This Non-Stick Wrap Repels Deadly Viruses And Bacteria. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มาhttps://www.intelligentliving.co/non-stick-wrap-repels-viruses-and-bacteria/ [18 มกราคม 2564]
4.ข้อแนะนำ ในการจัดการความปลอดภัยอาหารในสถานการณ์การระบาดใหญ่ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มาhttps://www.fda.moph.go.th/sites/food/SitePages/ View.aspx?T=FoodNews&TF=1&IDdata=138 [18 มกราคม 2564]