B-Bitcoin ต้นแบบ Cryptocurrency

B-Bitcoin ต้นแบบ Cryptocurrency

17-12-2021
B-Bitcoin ต้นแบบ Cryptocurrency

     หลังจากที่ผู้อ่านได้ทราบความหมายของคำว่า Cryptocurrency จากตอนที่ผ่านมาแล้ว บทความตอนนี้จะกล่าวถึงประวัติของ Cryptocurrency สกุลแรกของโลก อย่าง Bitcoin ที่สามารถสั่นสะเทือนทั้งวงการการเงินและวงการเทคโนโลยีอย่างที่ไม่เคยมีใครทำได้มาก่อน ย้อนกลับไปในช่วง ปี ค.ศ. 2008 – ค.ศ.2009 บทความวิชาการที่มีความยาวเพียง 9 หน้ากระดาษ ชื่อว่า “Bitcoin: A Peer-to-Peer Electronic Cash System” (Bitcoin: ระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์แบบเพียร์ทูเพียร์) ได้ถูกออกเผยแพร่สู่สาธารณะ โดยผู้เขียน ซาโตชิ นากาโมโตะ (Satoshi Nakamoto)เพื่อแนะนำเทคโนโลยีทางการเงินชนิดใหม่ที่ชื่อว่า Bitcoin

     ก่อนที่จะกล่าวไปถึงเนื้อหาบทความของคุณซาโตชิ สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจมากกว่านั้นก็คือการที่ไม่มีผู้ใดทราบว่าแท้จริงแล้วบุคคลปริศนาผู้นี้เป็นใคร... หลังจากที่บทความและโปรแกรมต้นแบบของ Bitcoin ถูกปล่อยสู่สาธารณะ ซาโตชิ นากาโมโตะก็หายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย ทิ้งปริศนาไว้ให้ผู้คนคาดเดามากมาย มีผู้ที่ตั้งข้อสันนิษฐานว่าคุณชาโตชินั้นเป็นนักพัฒนาซอฟต์แวร์อัจฉริยะที่ทำงานเพียงคนเดียว และผู้ที่คิดว่าซาโตชิอาจเป็นนามแฝงของกลุ่มบุคคลที่ร่วมมือกันสร้างระบบอันน่ามหัศจรรย์นี้ขึ้น ถึงแม้ว่าจะไม่มีใครทราบตัวตนและเจตนารมณ์ที่แท้จริงของบิดาแห่ง Bitcoin แต่ลองมาพิจารณาเนื้อหาในบทความของคุณซาโตชิกัน...

Cryptocurrency Bitcoin 2 1

https://bitcoin.org/bitcoin.pdf

     บทความของคุณซาโตชิแบ่งออกเป็น 10 ส่วน เริ่มจากการอธิบายปัญหาของระบบการเงินในปัจจุบันแล้วจึงค่อยๆ ชี้แจงรายละเอียดขององค์ประกอบแต่ละส่วนที่จะรวมกันขึ้นเป็นระบบ Bitcoin ที่สมบูรณ์ รวมไปถึงกลไกการทำงานร่วมกันขององค์ประกอบดังกล่าว และกระบวนการรักษาข้อมูลส่วนตัวของผู้ใช้ จากนั้นจึงปิดท้ายด้วยการแสดงวิธีคำนวณความน่าจะเป็น เพื่อพิจารณาโอกาสที่ระบบนี้จะถูกโจมตีจากผู้ไม่ประสงค์ดีได้สำเร็จ เป็นการพิสูจน์ให้เห็นว่าแนวคิดในการสร้างระบบนี้มีความแข็งแกร่งเพียงพอที่จะถูกนำไปใช้งานจริง

ขอหยิบยกประเด็นที่ถือเป็นหัวใจของ Bitcoin จากบทความของคุณซาโตชิมาอธิบายเพิ่มเติม เพื่อให้ผู้อ่านได้เห็นภาพเบื้องหลังของ Bitcoin ชัดเจนยิ่งขึ้น

     จุดแรกที่ต้องกล่าวถึงคือปัญหาของระบบธนาคารในปัจจุบัน ที่ Bitcoin จะเข้ามาแก้ไข คุณซาโตชิระบุว่าสถาบันการเงินในปัจจุบันนั้นเพียงพอสำหรับ “การทำธุรกรรมอย่างง่าย” แต่ไม่เพียงพอสำหรับ “ธุรกรรมบนอินเทอร์เน็ต” ที่ต้องการความคล่องตัวแต่มั่นคง เนื่องจากสถาบันการเงินซึ่งเป็นบุคคลที่สามนั้นได้รับความ “เชื่อมั่น” (Trust) จากผู้ใช้บริการ ให้สามารถแทรกแซงธุรกรรมที่สำเร็จแล้ว เช่น การยกเลิก หรือเปลี่ยนข้อมูลทางการเงิน ซึ่งอาจไม่เป็นธรรมต่อผู้ใช้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ยิ่งไปกว่านั้นการให้สิทธิ์แทรกแซงนี้ทำให้ “ราคา” หรือค่าธรรมเนียมของธุรกรรมสูงกว่าที่จำเป็น การมีระบบเงินอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้การเข้ารหัสเพื่อพิสูจน์ตัวตนของเจ้าของเงิน (Cryptographic Proof) ในการทำธุกรรม แทนการเชื่อใจบุคคลที่สาม และไม่อนุญาตให้มีการแทรกแซงธุกรรมไม่ว่าจากบุคคลใดหรือในกรณีใด จึงเป็นตัวเลือกที่อาจแก้ปัญหาดังกล่าวได้

     ในทางกายภาพแล้ว Bitcoin ไม่ใช่วัตถุที่ใช้แทนเงินแบบที่เราคุ้นเคยกัน แม้ว่าจะมีลักษณะนามเป็น “เหรียญ” (Coin) ก็ตาม เหรียญ Bitcoin แต่ละเหรียญคือข้อมูลของรายการธุรกรรมทั้งหมดที่ถูกทำบนเหรียญนั้นๆ ตามลำดับจริงที่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างเช่น หากผู้ใช้คนที่หนึ่งส่งเงิน 1 เหรียญให้ผู้ใช้คนที่สอง ระบบจะบันทึกลงในเหรียญนั้นว่า มีการส่งเงินจากผู้ใช้หนึ่ง ไปยังผู้ใช้สอง โดยมีข้อมูลสำคัญ คือ “เวลา” (Timestamp) ที่เกิดธุรกรรมขึ้น เพื่อป้องกันปัญหา Double Spend หรือการใช้เงินซ้ำในช่วงเวลาที่ธุรกรรมแรกกำลังถูกประมวลผล (เพราะเหรียญแต่ละเหรียญเป็นรายการข้อมูล ไม่ใช่เหรียญจริงที่ส่งมอบให้กันทางกายภาพ) สิ่งที่น่าสนใจคือ ข้อมูลทั้งหมดนี้เป็นข้อมูลสาธารณะ (Public Ledger) ผู้ใช้ทุกคนมีสิทธิ์ตรวจสอบว่าธุรกรรมแต่ละครั้งมีจำนวนเงินเท่าไหร่ เกิดขึ้น ณ เวลาใด แต่จะไม่มีใครสามารถทราบตัวตนของผู้ที่ส่งและรับเงินได้ เนื่องจากชื่อแทนบัญชีนั้นเป็นรหัสที่สร้างขึ้นมาเพื่อแทนผู้ใช้แต่ละคน เป็นการรักษาความเป็นส่วนตัว (Privacy) ของผู้ใช้

     ระบบการประมวลผลเพื่ออนุมัติหรือปฏิเสธธุรกรรมใหม่นั้นต่างจากระบบธนาคารเพราะไม่มีศูนย์กลางในการทำงาน รายการธุรกรรมแต่ละรายการจะได้รับการอนุมัติเมื่อมีผู้ใช้ระบบจำนวนหนึ่ง “ลงคะแนน” (Vote) ว่าธุรกรรมนั้นถูกต้องตามเงื่อนไข ซึ่งประกอบด้วย ผู้ส่งเงินมีเงินอยู่จริงในเวลานั้น (เคยมีผู้ส่งเงินให้ผู้ใช้คนนี้มากเพียงพอ) และผู้รับเงินสามารถรับเงินได้ โดยผู้ใช้จะสามารถร่วมลงคะแนนได้ยืนยันผลการทำธุรกรรมได้เมื่อมีการทำ “งาน” เพื่อพิสูจน์ว่าตนเองมีสิทธิ์เพียงพอในการลงคะแนน (Proof-of-work) ซึ่งโดยปกติแล้ว การทำงานดังกล่าวจะเป็นการแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ที่ต้องใช้เวลาและทรัพยากรของคอมพิวเตอร์จำนวนหนึ่ง

     การที่ผู้ใช้ระบบ “ทำงาน” เพื่ออนุมัติหรือปฏิเสธธุรกรรม ถูกเรียกอีกชื่อหนึ่งว่า “การทำเหมือง” เนื่องจากผู้ใช้แต่ละคนต้องแข่งขันกันใช้ทรัพยากรมาแก้ปัญหาทางคณิตศาสตร์ให้เร็วที่สุด แลกกับผลตอบแทน (Miners’ Reward) เป็น “เหรียญ” ที่ระบบจะมอบให้ แต่หากผู้ใช้มีกำลังประมวลผลไม่พอ หรือแก้ปัญหาได้ช้ากว่าผู้อื่นก็จะไม่ได้รับผลตอบแทน เช่นเดียวกับการทำเหมืองเพื่อขุดหาแร่ธาตุที่มีค่า โดยผู้ออกแบบระบบ Bitcoin ได้กำหนดจำนวนเหรียญไว้สูงสุดที่ 21 ล้านเหรียญเพื่อป้องกันปัญหาเงินเฟ้อตามกลไกของทรัพยากรที่มีจำกัด (Controlled Supply – คล้ายกันกับทองคำที่มีอยู่จำกัดตามธรรมชาติ) ในปัจจุบันมีการมอบเหรียญเป็นรางวัลให้ผู้ที่ทำงานแล้วทั้งสิ้นเกือบ 17 ล้านเหรียญ (ณ เดือน มกราคม ค.ศ. 2018) มีการคำนวณว่าเหรียญทั้งหมดที่ยังเหลืออยู่จะถูกมอบเป็นรางวัลจนหมดภายในปีค.ศ. 2040 (คาดการณ์กันว่าหลังจากนั้นการใช้งาน Bitcoin จะเป็นการหมุนเวียนในรูปแบบเดียวกับสกุลเงินในปัจจุบัน)

Cryptocurrency 2 2

     ผู้อ่านบางคนอาจเริ่มตั้งคำถามว่า ในเมื่อ Bitcoin นั้นไม่มีศูนย์กลาง แล้วจะสามารถรักษาความปลอดภัยของระบบจากการแก้ไขดัดแปลงข้อมูลที่อยู่ในมือผู้ใช้ได้อย่างไร? คำตอบของคำถามนี้คือกลไกของ Blockchain ที่เป็นเหมือนกระดูกสันหลังของ Bitcoin และ Cryptocurrency ส่วนใหญ่ หากกล่าวโดยสรุปก็คือ เมื่อธุรกรรมใหม่เกิดขึ้นจำนวนหนึ่งก็จะถูกบรรจุกล่อง (Block) ใหม่ที่ถูกต่อเข้าไปในสายโซ่ (Chain) แต่ในทุกๆ กล่องนั้นจะมีข้อมูลของกล่องก่อนหน้าทั้งหมดในสายโซ่รวมอยู่ด้วย ความพยายามในการแก้ไขข้อมูลในกล่องใด จึงหมายถึงการแก้ไขข้อมูลของสายโซ่ทั้งเส้น ซึ่งต้องใช้เวลานาน เมื่อเทียบกับความเร็วที่ผู้ใช้คนอื่นๆ ร่วมกันอนุมัติธุรกรรมและต่อกล่องใหม่ลงในสายโซ่แล้วจึงแทบไม่มีโอกาสแก้ไขได้สำเร็จเลยทีเดียว

     ด้วยแนวคิดและหลักทางเทคนิคที่กล่าวไป ปัจจุบัน Bitcoin มีสถานะเป็นผู้นำในตลาด Cryptocurrency ของโลก ด้วยป็นส่วนแบ่งกว่า 40% (ณ เดือนธันวาคม ค.ศ. 2017) นำหน้าคู่แข่งอย่าง Ethereum และ Bitcoin Cash ไปหลายช่วงตัว เป็นการแสดงตัวอย่างที่ชัดเจนของความพยายามในการเอาชนะระบบขนาดใหญ่ ที่ถูกใช้เป็นมาตรฐานสากลของทั้งโลกจากแนวคิดนอกกรอบที่ไม่น่าเป็นไปได้

บทความตอนต่อไปจะกล่าวถึงรูปร่างหน้าตาและการทำงานของ Blockchain ตามที่ได้เกริ่นไว้แล้วเล็กน้อย โปรดติดตามชม...

ข้อมูลอ้างอิง

[1]https://coinmarketcap.com/charts/

ข่าวสารที่่คล้ายกัน