COVID-19 แพร่กระจายได้อย่างไร

COVID-19 แพร่กระจายได้อย่างไร

18-12-2021
COVID-19 แพร่กระจายได้อย่างไร

ดร.ชนินทร์ สาริกภูติ กองวิชาการวิทยาศาสตร์ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)

สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด 19 (COVID-19) ยังคงเป็นปัญหาที่คุกคามทางด้านสุขภาพ เศรษฐกิจและสังคมไปทั่วโลก ปัจจุบันมีจำนวนผู้ติดเชื้อ 75,479,471 คน เสียชีวิต 1,686,267 คน (ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลก (WHO) ณ วันที่ 21 ธันวาคม 2563) ขณะนี้ (วันที่เขียนบทความ 22 ธันวาคม 2563) กำลังเกิดการระบาดระลอกใหม่ในประเทศไทยทำให้มีจำนวนผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น จนนำไปสู่การประกาศมาตรการต่าง ๆ ในพื้นที่เสี่ยงที่พบผู้ติดเชื้อ สงสัยกันหรือไม่ว่าโรคโควิด 19 ติดต่อกันได้อย่างไร และแพร่กระจายผ่านทางไหนบ้าง เพื่อเฝ้าระวังและป้องกันการระบาดของโรคโควิด 19

 ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ 2019 หรือ SARS-CoV-2 (Severe Acute Respiratory Syndrome Coronavirus 2) มีวิธีการแพร่กระจายของของเชื้อเหมือนกับไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคในระบบทางเดินหายใจทั่วไป โดยช่องทางการแพร่กระจายหลักของเชื้อไวรัสชนิดนี้ มีดังนี้

1. การแพร่กระจายทางการสัมผัสและละอองฝอย (Contact and droplet transmission)

การแพร่กระจายของไวรัส SARS-CoV-2 สามารถเกิดขึ้นได้จากการสัมผัสโดยตรง (Direct contact) การสัมผัสทางอ้อม (Indirect contact) หรือการสัมผัสใกล้ชิด (Close contact) กับผู้ติดเชื้อ ผ่านทางสารคัดหลั่งในระบบทางเดินหายใจ เช่น น้ำมูก น้ำลาย เสมหะ หรือละอองฝอยขนาดใหญ่ (Droplets) ซึ่งมีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางมากกว่า 5 ไมครอน ที่เกิดจากการไอจามและการพูดคุย โดยการแพร่กระจายของละอองฝอยในระบบทางเดินหายใจนี้สามารถเกิดขึ้นได้เมื่อบุคคลมีการสัมผัสกันอย่างใกล้ชิดในระยะ 1-2 เมตร (3 - 6 ฟุต) กับผู้ติดเชื้อที่มีไอการไอหรือจาม โดยละอองฝอยในระบบทางเดินหายใจที่มีเชื้อไวรัสจะเข้าสู่ร่างกายทางปาก จมูกหรือตา และทำให้เกิดการติดเชื้อขึ้น การแพร่เชื้อแบบนี้เป็นช่องทางการติดต่อหลักของโรคโควิด-19 เพราะผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมีอาการไอ ซึ่งจะมีละอองน้ำมูก น้ำลาย หรือเสมหะออกมาด้วยทุกครั้ง กรณีของการสัมผัสทางอ้อมนั้นจะเกิดจากการสัมผัสกับวัตถุสิ่งของหรือพื้นผิวที่ปนเปื้อนเชื้อไวรัส แล้วมาสัมผัสกับตา จมูก หรือปาก โดยเชื้อจะเข้าสู่ร่างกายทางเยื่อเมือก ได้แก่ เยื่อบุดวงตา เยื่อบุจมูก เยื่อบุช่องปาก เป็นต้น

2. การแพร่กระจายเชื้อทางอากาศ (Airborne transmission)

การแพร่กระจายทางอากาศ เกิดจากการแพร่กระจายของละอองฝอยขนาดเล็ก (Droplet nuclei) ที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางน้อยกว่าหรือเท่ากับ 5 ไมครอน หรือที่เรียกว่า ละอองลอย (Aerosols) ด้วยขนาดที่เล็ก จึงทำให้ละอองฝอยที่มีเชื้อนั้นกระจายไปได้ไกลในอากาศและลอยอยู่ในอากาศได้เป็นเวลานาน และสามารถแพร่กระจายไปยังบุคคลอื่นได้ในระยะทางที่ไกลมากกว่า 1 - 2 เมตร (3 – 6 ฟุต) โดยการแพร่กระจายของไวรัส SARS-CoV-2 ทางอากาศนั้น สามารถเกิดขึ้นได้จากการทำหัตถการทางการแพทย์ในโรงพยาบาลบางขั้นตอนที่อาจทำให้เกิดละอองลอย (Aerosol-generating procedure) เช่น การพ่นยา การดูดเสมหะ การใส่ท่อช่วยหายใจ เป็นต้น ดังนั้น บุคลากรทางการแพทย์จึงควรป้องกันตนเองให้มากขึ้นโดยการใช้อุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (Personal Protective Equipment, PPE) ร่วมกับการใช้หน้ากากชนิด N95 ในขณะปฏิบัติงานทุกครั้ง

แม้ว่าขณะนี้โรคโควิด 19 จะยังคงแพร่ระบาดไปทั่วโลกและหลายพื้นที่ในประเทศไทย และยังไม่สามารถคาดการณ์ได้ว่าจะสิ้นสุดลงเมื่อใด แต่เราสามารถรับมือกับโรคนี้ได้ด้วยการรักษาระยะห่างทางสังคม โดยอยู่ห่างกันอย่างน้อย 1-2 เมตร หลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่แออัด หรือคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ที่มีอาการโรคระบบทางเดินหายใจ สวมใส่หน้ากากอนามัยอย่างถูกวิธี หมั่นล้างมือด้วยน้ำและสบู่หรือแอลกอฮอล์ที่มีความเข้มข้น 70% และพยายามไม่นำมือมาสัมผัสบนใบหน้าของเรา รวมถึงทำความสะอาดพื้นผิว วัสดุอุปกรณ์ที่ใช้ประจำวัน เช่น โต๊ะ ลูกบิดประตู แป้นพิมพ์ โทรศัพท์มือถือ เป็นประจำ เพียงเท่านี้ก็จะช่วยลดการแพร่กระจายของเชื้อและปกป้องตัวเราและประเทศชาติให้ห่างไกลจากโรคโควิด 19 ได้

ที่มาข้อมูล :
Transmission of SARS-CoV-2: implications for infection prevention precautions. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.who.int/news-room/commentaries/detail/transmission-of-sars-cov-2-implications-for-infection-prevention-precautions [9 ธันวาคม 2563]
โรคโคโรนาไวรัส 2019 (COVID-19). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.chp.gov.hk/files/pdf/prevent_pneumonia_thai.pdf [27 ธันวาคม 2563]
โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19). [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://ddc.moph.go.th/viralpneumonia/faq_more.php [27 ธันวาคม 2563]
ลดการแพร่กระจายของ “Covid-19” ด้วยสิ่งนี้. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.sikarin.com/content/detail/465/%E0%B8%A5%E0%B8%94%E0%B8%81%E0%B8%B2%E0%B8%A3%E0%B9%81%E0%B8%9E%E0%B8%A3%E0%B9%88%E0%B8%81%E0%B8%A3%E0%B8%B0%E0%B8%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%82%E0%B8%AD%E0%B8%87-%E2%80%9Ccovid-19%E2%80%9D-%E0%B8%94%E0%B9%89%E0%B8%A7%E0%B8%A2%E0%B8%AA%E0%B8%B4%E0%B9%88%E0%B8%87%E0%B8%99%E0%B8%B5%E0%B9%89 [27 ธันวาคม 2563]
เรื่องที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ COVID-19 เพื่อปกป้องตัวคุณเองและผู้อื่น. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.cdc.gov/coronavirus/2019-ncov/downloads/2019-ncov-factsheet-Thai.pdf [4 ธันวาคม 2563]
CORONA VIRUS. [ออนไลน์]. 2563, แหล่งที่มา https://www.rama.mahidol.ac.th/atrama/issue037/vocab-rama [4 ธันวาคม 2563]
คำค้น : ไวรัสโคโรนา (Coronavirus), SARS-CoV-2, โรคโควิด 19 (COVID-19)

ผู้เขียน : ดร. ชนินทร์ สาริกภูติ นักวิชาการ กองวิชาการ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ อพวช.

ข่าวสารที่่คล้ายกัน