อ๊บ! อ๊บ! อ๊บ! เสียงร้องจากข้างบ้าน

อ๊บ! อ๊บ! อ๊บ! เสียงร้องจากข้างบ้าน

19-12-2021

          อ๊บ! อ๊บ! อ๊บ! เสียงนี้ดังลอดเข้ามาเมื่อคราฝนตก หากข้างบ้านใครมีแอ่งน้ำขัง อาจเป็นแหล่งนัดพบยามราตรีอันแสนวิเศษของเหล่าขบวนการอ๊บอ๊บ! นั่นคือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกพวกมันมีความสัมพันธ์กับคนไทยมาเนิ่นนาน แต่เมื่อเอ่ยถึงสัตว์กลุ่มนี้ผู้คนมักจะนึกถึงเพียงแค่กบ-เขียด เท่านั้น ความจริงแล้วยังมีคางคก เขียดงู และกระท่าง รวมอยู่ด้วย แต่อาจพบได้ไม่บ่อยนักอีกทั้งไม่มีใครนำมาทำเป็นอาหาร จึงไม่ค่อยเป็นที่รู้จักและเป็นที่สนใจ และในคราใดที่ฝนตก ช่างเป็นเวลาอันเหมาะของสัตว์กลุ่มนี้ที่จะออกมาพบปะทำกิจกรรมร่วมกันตามแหล่งน้ำขังตลอดทั้งคืนเช่น หาอาหาร และผสมพันธุ์

          สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก (Amphibian) จัดเป็นสัตว์มีกระดูกสันหลังที่อยู่ในชั้น Amphibia ประกอบด้วย 3 อันดับ ได้แก่ อันดับกบ Anura (กบและคางคก) อันดับกระท่าง Caudata (ซาลาเมนเดอร์และกะท่างน้ำ) และอันดับเขียดงู Gymnophiona (ซีซิเลียน) มีช่วงชีวิตที่อาศัยอยู่ทั้งในน้ำและบนบก โดยในช่วงวัยอ่อนอาศัยอยู่ในน้ำ แล้วขึ้นมาอยู่บนบกเมื่อถึงวัยเจริญพันธุ์ผิวหนังมีต่อมเมือกทำให้ผิวหนังชุ่มชื้นตลอดเวลา ผิวหนังเปียกลื่นอยู่เสมอ หายใจด้วยเหงือก ปอด ผิวหนัง โดยชั้นผิวหนังนั้นมีลักษณะพิเศษสามารถแลกเปลี่ยนออกซิเจนได้เนื่องจากมีโครงข่ายหลอดเลือดฝอยจำนวนมาก เพื่อใช้ในการหายใจ สืบพันธุ์โดยการผสมพันธุ์ภายนอกลำตัว ตัวอ่อนที่ฟักออกมาจากไข่ สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้โดยไม่ต้องมีพ่อแม่มาเลี้ยงดู มีการเจริญเติบโตแบบMetamorphosis คือตัวอ่อนมีการเปลี่ยนแปลงรูปร่างจนกระทั่งโตเต็มวัยที่มีลักษณะเหมือนพ่อแม่

           ปัจจุบันมีสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกทั่วโลกมากกว่า 8,227 ชนิด ในประเทศไทยสามารถพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกได้ทั่วทุกภูมิภาค และในระบบนิเวศที่หลากหลายไม่ว่าจะเป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่แหล่งน้ำขนาดเล็ก ลำธาร น้ำตก ทุ่งนา หรือแม้กระทั่งตามข้างบ้านของเรา ปัจจุบันประเทศไทยมีการรายงานการค้นพบสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกกว่า 170 สปีชีส์ ได้แก่ อันดับกบ จำนวน 7 วงศ์ 160 สปีชีส์ อันดับกระท่าง จำนวน 1 วงศ์ 4 สปีชีส์ และอันดับเขียดงู จำนวน 1 วงศ์ 6 สปีชีส์ การค้นพบสัตว์ชนิดใหม่เพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ในแต่ละปี เนื่องด้วยประเทศไทยตั้งอยู่ในเขตร้อน มีภูมิอากาศแบบร้อนชื้นอีกทั้งยังมีความแตกต่างของสภาพภูมิอากาศและสภาพภูมิประเทศ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เองที่ทำให้ประเทศไทยมีทรัพยากรทางชีวภาพที่มีความหลากหลายที่สุดแห่งหนึ่งของโลก

           สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกไม่ได้มีประโยชน์เพียงแค่เป็นอาหารของมนุษย์เท่านั้น หน้าที่ของมันเมื่ออยู่ท่ามกลางธรรมชาติสำคัญไม่น้อยไปกว่าสัตว์กลุ่มใด ไม่ว่าจะเป็นการกำจัดแมลงนานาชนิดไม่ให้แพร่ระบาดมากเกินไป นั่นเพราะแมลงจัดเป็นอาหารหลักของสัตว์กลุ่มนี้ ในระยะตัวอ่อนหรือลูกอ๊อดที่อาศัยอยู่ในน้ำ พวกมันกินสัตว์น้ำขนาดเล็กเป็นอาหาร อีกทั้งตัวมันเองยังเป็นอาหารให้สัตว์ตัวอื่นๆอีกด้วย นอกจากนี้สภาพความสมบูรณ์ของตัวเต็มวัยมีความอ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสิ่งแวดล้อมและยังสามารถเป็นดัชนีบ่งบอกถึงสภาพสิ่งแวดล้อมได้เป็นอย่างดี อย่างไรก็ตามสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกต้องเผชิญกับภัยคุกคามอย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน เนื่องจากการสูญเสียถิ่นอาศัยจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินของมนุษย์ โดยเฉพาะการเกษตรกรรม การพัฒนาเมือง และการผลิตพลังงาน ซึ่งเป็นภัยคุกคามหลักร่วมกับภัยคุกคามจากการล่า รวมถึงการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศโลก ซึ่งส่งผลให้จำนวนและความหลากหลายของประชากรสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกลดลง

shutterstock 1524802931

รูปที่ 1 สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อันดับกบ Anura (กบและคางคก)

shutterstock 1925206028

รูปที่ 2 สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อันดับกะท่าง Caudata (ซาลาเมนเดอร์และกะท่างน้ำ)

shutterstock 1713468016

รูปที่ 3สัตว์สะเทินน้ำสะเทินบก อันดับเขียดงู Gymnophiona (ซีซิเลียน)

 

ผู้เขียน ธีระพล อุตะมะชะ

แหล่งที่มาของข้อมูล

1. ธัญญา จั่นอาจ. (2546). คู่มือสัตว์สะเทินน้ำสะเทินบกในเมืองไทย. กรุงเทพฯ: ด่านสุทธาการพิมพ์

2. Sunchai Manachai, Yodchaiy Chuaynkern, Mongkol Safoowong, Chatchai Chuachat, Michael Cota. (2020). Amphibians in Northern Thailand. Bangkok: T.K. Printing

3. The Zoological Society of London is incorporated by Royal Charter. (2021) [Website] (https://www.edgeofexistence.org/amphibians/)

4. Thai National Parks. (2021). [Website] https://www.thainationalparks.com/list-of-amphibians-in-thailand

5. https://www.wwf.or.th/news_and_information/living_planet_report_2014/living_planet_index/

ข่าวสารที่่คล้ายกัน