ฟิล์มถ่ายภาพ

ฟิล์มถ่ายภาพ

14-12-2021
ฟิล์มถ่ายภาพ

        “ทุกคนมีความทรงจำดีๆที่ไม่อยากจะลืมเลือน แต่ทว่าคนเรานั้นจะจดจำช่วงเวลาเหล่านั้นได้นานสักเท่าไหร่ มนุษย์จึงคิดค้นสิ่งประดิษฐ์ที่ช่วยในการบันทึกความทรงจำ เรียกว่า ฟิล์ม โดยทำการบันทึกความทรงจำในรูปแบบที่เรียกว่า “ภาพถ่าย” 
           ฟิล์มถ่ายภาพ เป็นวัสดุไวแสงทำมาจากพลาสติกประเภท โพลีเอสเตอร์ (Polyester), เซลลูลอยด์(Celluloid) หรือเซลลูโลสอะซิเตด (Cellulose Acetate) เคลือบด้วยสารเคมีที่มีส่วนผสมของเกลือเงินไวแสง เมื่อเราถ่ายภาพแสงจะตกกระทบกับสารเคมีที่เคลือบไว้บนฟิล์มหรือเยื่อไวแสง ทำให้เกิดการบันทึกภาพบนแผ่นฟิล์ม เรียกว่าภาพแฝง (latent image) แต่เรายังไม่สามารถเห็นภาพเหล่านั้นได้ วิธีการที่จะทำให้เราเห็นภาพปรากฏบนฟิล์มได้จะต้องนำฟิล์มมาผ่านกระบวนการล้างฟิล์มก่อน ก็จะได้ฟิล์มที่มีรูปภาพปรากฏอยู่ลักษณะเนกาทีฟหรือสไลด์ หลังจากนั้นนำไปผ่านกระบวนการอัด-ขยายภาพลงในกระดาษที่ถูกเคลือบไว้ด้วยน้ำยาไวแสง โดยกระบวนการอัดภาพนั้น ต้องทำในห้องมืด เมื่อเสร็จสิ้นกระบวนการอัด-ขยายจึงจะได้รูปถ่ายสวยๆให้เราได้เก็บไว้ดู 
ประเภทของฟิล์มถ่ายภาพนั้น สามารถแบ่งได้ 2 ประเภท คือ 1.ฟิล์ม ขาว-ดำ 2.ฟิล์มสี 
ฟิล์มขาว-ดำและฟิล์มสี สามารถแบ่งออกเป็น 2 ชนิด ตามการใช้งาน คือ
               1. ฟิล์มเนกาทิฟ (Negative film) มีทั้งประเภทฟิล์มขาว – ดำและฟิล์มสีที่ใช้ถ่ายภาพโดยทั่วไป มีเยื่อไวแสงซึ่งให้สีตรงกันข้ามกับสีของวัตถุ หลังจากถ่ายภาพแล้ว เมื่อนำฟิล์มไปผ่านกระบวนการล้างฟิล์มลักษณะของภาพที่ปรากฏ จะกลับขาวเป็นดำ และดำเป็นขาว แต่เมื่อนำฟิล์มไปอัดขยายลงบนกระดาษอัดภาพ จึงจะได้ภาพที่มีสีตรงตามความเป็นจริงของวัตถุ
               2. ฟิล์มพอซิทิฟ (Positive film) หรือฟิล์มริเวอร์ซัล (Reversal film) มีทั้งประเภทฟิล์มขาว – ดำ หรือฟิล์มสี เป็นฟิล์มโปร่งใส เมื่อถ่ายภาพแล้วนำไปผ่านกระบวนการล้างฟิล์มจะได้ภาพจริงสีตรงตามวัตถุสามารถนำมาฉายกับสไลด์ได้เลย
           ในการเลือกใช้ฟิล์มนั้น ควรเลือกให้เหมาะสมกับสภาพแสงและกล้องถ่ายภาพที่ใช้งาน ซึ่งขนาดฟิล์มทั่วไปที่นิยมใช้ คือ ฟิล์มขนาด 35 มม. คิดค้นขึ้นโดย บริษัท Kodak เป็นครั้งแรก เมื่อปี ค.ศ.1934 ฟิล์มชนิดนี้มีลักษณะเป็นม้วนฟิล์มบรรจุอยู่ในกลักเพื่อกันแสง ขนาดรูป 36x24 มม. ในเทคนิคการถ่ายภาพ Full Frame ส่วนการถ่ายภาพแบบ Half Frame มีขนาดรูป18x24 มม. ความยาวมาตรฐาน คือ 36 รูป สามารถใช้ได้กับกล้องหลายประเภททั้ง กล้องถ่ายภาพ SLR, กล้องถ่ายภาพ Rangefinder, กล้องถ่ายภาพ Viewfinder และ กล้องถ่ายภาพ Compact นอกจากฟิล์มขนาด 35 มม. ยังมีฟิล์มขนาดอื่นๆ เช่น ฟิล์มขนาด 127 มม. ขนาด 620 มม. และ ขนาด 828 มม. ปัจจุบันยังคงมีการผลิตขายทั้งฟิล์มขาว-ดำ และฟิล์มสี แม้ว่าความนิยมลดลงมากเนื่องจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีได้พัฒนากล้องดิจิทัลขึ้นมาทดแทน    ซึ่งกระบวนการบันทึกและสร้างภาพของกล้องดิจิทัลนั้นจะใช้อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ที่เรียกว่า CCD หรือ CMOS แทนการใช้ฟิล์ม
สำหรับท่านใดมีข้อแนะนำ สงสัย สามารถแลกเปลี่ยนข้อมูลหรือสอบถามเพิ่มเติมได้ที่ พิพิธภัณฑ์เทคโนโลยีสารสนเทศ องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เทคโนธานี ต.คลองห้า อ.คลองหลวง จ.ปทุมธานี 12120 โทร. 0 2577 9999

ภาพจาก กองวัสดุอุเทศ 
ที่มา คำค้น “ฟิล์มถ่ายภาพ” วิธีสืบค้นวัสดุสารสนเทศ. [ออนไลน์].  เข้าถึงได้จากhttps://th.wikipedia.org/wiki/%E0%B8%9F%E0%B8%B4%E0%B8%A5%E0%B9%8C%E0%B8%A1%E0%B8%96%E0%B9%88%E0%B8%B2%E0%B8%A2%E0%B8%A0%E0%B8%B2%E0%B8%9E
(วันที่ค้นข้อมูล: 31 กรกฎาคม 2560)

ข่าวสารที่่คล้ายกัน